ขยายโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ชาวไร่อ้อย รัฐอุ้ม 3% ซื้อเครื่องจักร แก้ PM 2.5

อ้อย

“พิมพ์ภัทรา” เตรียมขยายโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ชาวไร่อ้อย จัดการแหล่งน้ำ ซื้อเครื่องจักรกล แก้ PM 2.5 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งช่วยเหลือชาวไร่อ้อยภายใต้กรอบปี 2568-2570 รวม 3 ปี 6,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย MRR 6.975% ชง ครม. ชดเชยดอกเบี้ย 3% ชาวไร่อ้อยจ่าย 2% เท่าเดิม

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพเกษตรชาวไร่อ้อยให้มีผลผลิตอ้อยที่ดี ได้น้ำตาลทรายที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศมีคุณภาพที่ดีขึ้น

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

ล่าสุดได้รับรายงานจาก นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565-2567 และเตรียมขยายโครงการอีกเป็นปี 2568-2570 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวม 6,000 ล้านบาท

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565-2567 ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ได้มีการหารือถึงการขยายอายุโครงการ เนื่องจากกำลังจะหมดอายุในเดือนกันยายน 2567 นี้

และที่สำคัญเป็นโครงการที่ช่วยชาวไร่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย เพิ่มสภาพคล่องทางด้านการเงิน ทั้งด้านการการผลิตอ้อย ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และ PM 2.5 การมีแหล่งน้ำสำรองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดภัยแล้ง ส่งเสริมการนำเครื่องจักรกลมาใช้ในไร่อ้อยแบบครบวงจร ทดแทนการขาดแคลนแรงงานคน รวมไปถึงการรองรับนโยบาย BCG Economy

ADVERTISMENT

โดยที่ประชุมได้มีการเสนอขอขยายโครงการอีกเป็นปี 2568-2570 มีกรอบวงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 6,000 ล้านบาท กรณีที่ใช้วงเงินในแต่ละปีไม่หมด สามารถนำไปทบใช้ในปีถัดไปได้ อัตราดอกเบี้ย MRR 6.975% ส่วนที่รัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% ยังต้องหารือในที่ประชุมต่อไป อย่างไรก็ตามจะพยายามให้ชาวไร่รับภาระ 2% เท่าเดิม

สำหรับโครงการ ปี 2565-2567 มีวงเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีละ 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR 6.975% ชาวไร่จ่ายดอกเบี้ย 2% รัฐบาลชดเชย 3% และ ธ.ก.ส. รับภาระส่วนที่เหลือ 1.975% ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 706 ราย วงเงิน 2,335.53 ล้านบาท

ADVERTISMENT

“ประชุมในครั้งนี้เป็นการพิจารณาสืบเนื่องจากประชุมครั้งก่อนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 คือ การอนุมัติสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่จะนำไปซื้อรถตัดอ้อย หรือรถบรรทุก หรือเอาไปใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำและปรับสภาพแปลงปลูกอ้อย ซึ่งคณะทำงาน จะพิจารณาโครงการนี้อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2567 หากโครงการได้รับการอนุมัติแล้ว สอน. จะชงเรื่องเข้า ครม. ต่อไป เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องจากที่จะหมดในเดือนกันยายน 2567 นี้