หลังจากรักษาการมา 13 เดือน นายจักรพงศ์ คำจันทร์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการคาดหวังของผู้ใช้บริการน้ำประปาทั่วประเทศจากนโยบายของรัฐบาลที่ว่า จะต้องเพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้น้ำ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาดในราคาถูก นับเป็นโจทย์ใหญ่ของ กปภ. ทำอย่างไรจะบรรลุเป้าหมายเพิ่มการให้บริการโดยที่ไม่สามารถปรับขึ้นค่าน้ำประปากับประชาชนได้
สิ่งที่ท่านผู้ว่าการ กปภ.จะทำ
นโยบายของผมก็คือ ขับเคลื่อน กปภ.ในสิ่งที่ทำอยู่แล้ว แต่จะต้องลงมากำกับการปฏิบัติงานให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารงานท่ามกลางข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ กปภ.จะมาพึ่งงบประมาณอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นไม่ได้ เพราะจะมีผลต่อการขยายตัวและการให้บริการน้ำประปาสะอาดกับประชาชน ดังนั้น กปภ.จะต้องหันมาลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่ายในองค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของประชาชน
ภายใต้นโยบาย PWA FIRST หรือ F ก็คือ Financial ด้านการเงินและแหล่งเงินที่เหมาะสม I : Instant Water Loss Control ต้องควบคุมและลดการสูญเสียน้ำในระบบ R ก็คือ Resource การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด S : Sustainable การสร้างความเข้มแข็งให้กับ กปภ.อย่างยั่งยืน และ T ก็คือ Technology and Innovation การใช้เทคโนโลยีที่จะต้องตามทันโลก ตามทันการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมาก
อย่างผมยกตัวอย่าง การลดความสูญเสีย ซึ่งเป็นต้นทุนจากการดำเนินการผลิตน้ำประปา เราจะลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างไร การบริหารเครื่องสูบน้ำเก่า-ใหม่ ต้องจัดลำดับความสำคัญ อย่างไหนต้องซ่อม ซ่อมอะไรก่อนหลัง สาขาประปาภูมิภาคต้องเข้าไปดู เพราะมันเกี่ยวกับการลดค่าไฟฟ้าในการสูบผลิตน้ำประปาด้วย เงินงบประมาณที่ลงมาเพื่อเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำใหม่ทดแทนเครื่องเก่าที่หมดอายุการใช้งานเป็นทางเดียวหรือไม่
เราจะใช้วิธีบริหารจัดการด้วยการเช่าเครื่องสูบน้ำได้หรือไม่ OK การเช่าเครื่องสูบน้ำเป็นเรื่องใหม่ ต้องดูว่า ในวงเงินงบประมาณเท่านี้ระหว่างเช่าแล้วได้หลายเครื่อง กับซื้อเครื่องใหม่เครื่องเดียว อย่างไหนจะดีกว่ากัน เรื่องสารเคมีที่จะต้องใส่เติมน้ำประปาก็เช่นกัน ต้องเติมให้เหมาะสมกับคุณภาพน้ำ ใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ใส่เกินไว้ก่อน การเช่าที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ ตรงนี้กำลังทำ MOU กัน จ่ายค่าเช่ามาตรฐานเดียวกันทุกแห่งปีละ 2 ครั้ง เหล่านี้เป็นต้นทุนทั้งสิ้น กปภ.จะต้องดำเนินการรัดเข็มขัด
เรื่องของตัว T คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ อย่างการจ่ายเงินค่าน้ำประปา ขณะนี้ กปภ.ได้นำตู้ Kiosk เข้ามาทดลองใช้ในสาขาแล้ว เรานำร่องไป 101 ตู้ เพื่อเพิ่มช่องทางการชำระค่าน้ำประปา ไม่ต้องมาแออัดที่สาขาในช่วงต้นเดือน ในอนาคตอาจเชื่อมการชำระเงินค่าบริการสาธารณูปโภคกับหน่วยงานอื่น ๆ เป็นจ่ายในจุดเดียวกันก็ได้ ยิ่งเราต้องเพิ่มสาขาการให้บริการ แต่ต้องไม่เพิ่มคน ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 9,000 คน เป็นการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยที่จะไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายตรงนี้
แผนการลงทุนของ กปภ.
ตอนนี้เราให้บริการลูกค้ามากกว่า 5.4 ล้านราย ใน 74 จังหวัดทั่วประเทศ การลงทุนในอนาคตระยะ 5 ปี (2568-2572) จะมีทั้งสิ้น 27 โครงการที่จะต้องทำ วงเงินรวม 24,000 ล้านบาท โดยในปี 2568 จะมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม ระยะที่ 1 ส่วนที่ 1-2, โครงการก่อสรางปรับปรุง กปภ.สาขาเกาะสมุย
ระยะที่ 2 (สุราษฎร์ธานี), โครงการก่อสร้างปรับปรุง กปภ.สาขาเชียงคาน จ.เลย ซึ่งเรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้น้ำ 235,000 ครัวเรือน ปริมาณน้ำจำหน่ายเพิ่ม 49 ล้านลูกบาศก์เมตร และต้องควบคุมอัตราการสูญเสียน้ำให้ได้ร้อยละ 28.20 จากปัจจุบันที่เรามีสาขา 234 สาขา 560 หน่วยบริการ โดยโครงการก่อสร้างที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2568 จะมีจำนวน 26 โครงการ งบประมาณ 16,000 ล้านบาท
ส่งผลให้ประชาชนได้ใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้น 458,000 ครัวเรือน เพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาได้มากกว่า 879,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
นอกจากนี้ เรายังทำโครงการน้ำดื่มสะอาด Mini Station เปิดจุดให้บริการน้ำดื่มสะอาดเพิ่มอีก 30 แห่ง โครงการประปาดื่มได้ ร่วมกับกรมอนามัย รับรองพื้นที่น้ำประปาดื่มได้ ซึ่งประกาศไปแล้ว 264 แห่ง โครงการตู้กดน้ำดื่มสะอาด ติดตั้งตู้กดน้ำดื่ม ฟรี ณ ที่ทำการสาขา 234 แห่งทั่วประเทศ และในปี 2568 ยังมีการผลิตน้ำดื่มจากน้ำประปาผ่านระบบ RO (Reverse Osmosis) ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิต 2,000 ลิตร/ชม. ราคาลิตรละ 50 สตางค์ เริ่มต้นจะเปิดทดลองใช้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายไปก่อน
รับโอนประปาชุมชน/หมู่บ้าน
ในปีงบประมาณ 2568 กปภ.จะได้รับงบประมาณ ซึ่งเป็น “เงินอุดหนุน” จากรัฐบาลเพิ่มขึ้นเป็น 4,500 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับอุดหนุนเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 3,000 ล้านบาท เงินอุดหนุนจำนวนนี้ส่วนหนึ่งก็จะถูกใช้ไปในการขยายเขตการให้บริการน้ำประปาให้เข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด ให้ประชาชนได้รับบริการน้ำประปาสะอาด สามารถดื่มได้ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำประปาตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับโครงการวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของ กปภ. ในปี 2568 เราได้รับการจัดสรรงบฯวงเงิน 1,200 ล้านบาท จำนวน 621 โครงการ แบ่งออกเป็น โครงการเชิงศักยภาพจำนวน 387 โครงการ กับโครงการเชิงสังคมอีก 234 โครงการ
ผมอยากจะอธิบายว่า โครงการเชิงสังคม ก็คือ โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการได้รับบริการน้ำประปาสะอาดได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะต้องได้รับเงินอุดหนุนเป็นหลัก เพราะทำแล้วเราขาดทุน หาก กปภ.จะลงทุนด้วยเงินรายได้เองเพื่อคาดหวังผลกำไร มันไม่ได้ ยกตัวอย่าง เรากำลังทำ MOU กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณ ซึ่งตรงนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเขามีงบประมาณเกี่ยวกับประปาส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาก็มีการทำประปาหมู่บ้าน ประปาชุมชน ประปา อบต. แต่ระบบประปาท้องถิ่นเหล่านี้ทำได้สัก 3-4 ปีก็หมดสภาพ เพราะไม่มีงบประมาณการซ่อมบำรุงรักษา เราก็จะขอตัดงบฯของกรมส่งเสริมการปกครองท้อนถิ่น เข้ามาดูแลระบบประปาชุมชน ประปาหมู่บ้าน ที่หมดสภาพให้ บางแห่งก็โอนระบบประปามาให้ กปภ.เข้าไปดำเนินการเลย ซึ่งมีกว่า 400 แห่ง
ตรงนี้ กปภ.ก็จะพิจารณาว่า สมควรจะวางท่อเข้าไปหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการขยายบริการเข้าไปในชุมชน หากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีจำนวนผู้ใช้บริการน้ำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เราก็อาจจะเข้าไปรับโอนและตั้งสาขา ก็เป็นการขยายพื้นที่การให้บริการน้ำประปาสะอาดไปในตัว
การหารายได้ใหม่
นโยบายของรัฐบาลตอนนี้ก็คือ เราขึ้นค่าน้ำประปาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขึ้นค่าน้ำกับภาคครัวเรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 ของผู้ใช้น้ำทั่วประเทศทั้งหมด ในขณะที่เรามีโครงการประปาเชิงสังคม ซึ่งขาดทุน หากใช้เงินรายได้ของเราเอง
ในอนาคตจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.การประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งใช้มาแล้วถึง 45 ปี เพื่อให้เราสามารถดำเนินธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้ ตอนนี้ก็มีการจัดทำแผนการตลาดเชิงรุกเพื่อรองรับธุรกิจใหม่ ทั้งธุรกิจที่ทำได้เลย โดยไม่ต้องแก้ พ.ร.บ.การประปา กับธุรกิจที่ต้องทำหลังจากแก้ พ.ร.บ.แล้ว
ระยะสั้นปี 2568 ซึ่งอยู่ในช่วงแก้ พ.ร.บ. เราตั้งเป้ารายได้ใหม่ 10 ล้านบาท จากธุรกิจการให้บริการหลังมาตร หรือการสำรวจหาท่อแตก ล้างถังพักน้ำ วางท่อประปาใหม่ การขายน้ำประปาให้ภาคอุตสาหกรรม และการให้บริการกับประปาท้องถิ่น
ส่วนระยะกลาง (2569-2570) ตั้งเป้ารายได้ไว้ 130 ล้านบาท เป็นธุรกิจใหม่หลังจากที่แก้ไข พ.ร.บ.การประปาสำเร็จแล้ว ธุรกิจเหล่านี้จะได้แก่ การขายอุปกรณ์ท่อประปา การทำน้ำดื่มบรรจุขวดขาย ตู้น้ำดื่ม การให้เช่าสินทรัพย์พื้นที่ของ กปภ.เชิงพาณิชย์ และการต่อยอดงานวิจัยนวัตกรรมของ กปภ.ที่เป็นการค้า
ส่วนระยะยาวปี 2571-2572 ตั้งเป้ารายได้ใหม่ 160 ล้านบาท จะมีการตั้งบริษัทลูก/บริษัทร่วมทุน ขยายพื้นที่การให้บริการธุรกิจหลัก ไปจนถึงการตั้งโรงเรียนประปาวิวัตน์ ให้บริการทางด้านวิชาการแก่ผู้สนใจแบบครบวงจร