ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มคลี่คลายลง

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน มีแนวโน้มคลี่คลายลง ท่ามกลางความกังวลอุปทานน้ำมันดิบเวเนซุเอลา

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคามีดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสปรับลด หลังตลาดคาดการณ์ว่าการเจรจาหยุดยิงนำโดยสหรัฐ ระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่จะห้ามไม่ให้โจมตีในพื้นที่ทะเลดำ และโครงสร้างทางพลังงาน อาจทำให้มีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้อุปทานน้ำมันดิบรัสเซียปรับเพิ่มได้

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 25 มี.ค. 68 อยู่ที่ 69.00 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.11 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 73.02 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.02 เหรียญสหรัฐ

ตลาดยังคงคาดการณ์ว่ากลุ่ม OPEC+ จะยังคงปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเดือน พ.ค. 68 อยู่ที่ระดับ 0.135 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มเติมเป็นเดือนที่ 2 ในปีนี้ โดยกำหนดให้ประเทศที่ยังผลิตน้ำมันดิบเกินโควตาที่กำหนดให้ปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อชดเชยให้อุปทานน้ำมันดิบในภาพรวมของกลุ่มยังคงสอดคล้องกับเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากการขู่ขึ้นภาษีโดยประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระดับ 25% ต่อประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบ และก๊าซจากเวเนซุเอลา โดยการขึ้นภาษีดังกล่าวคาดส่งผลให้โรงกลั่นในจีนบางแห่งที่ใช้น้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาหันไปจัดหาน้ำมันดิบจากแหล่งอื่น

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอินเดียส่งออกน้ำมันเบนซินเดือน ก.พ. 68 เพิ่มขึ้น 23.82% เทียบกับเดือน ม.ค. 68 สู่ระดับ 1.69 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นไต้หวันเลื่อนแผนการส่งออกน้ำมันเบนซินราว 0.25 ล้านบาร์เรล หลังมีแผนปิดซ่อมบำรุงกะทันหัน

ADVERTISMENT

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในทะเลแดงอาจส่งผลให้ค่าระวางเรือสินค้าสูงขึ้น ทำให้ความน่าสนใจในการส่งออกน้ำมันดีเซลจากเอเชียไปยังยุโรปลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม อินเดียส่งออกน้ำมันดีเซลเดือน ก.พ. 68 ลดลง 16.48% เทียบกับเดือน ม.ค. 68 แตะระดับ 2.33 ล้านตัน

ADVERTISMENT