ส่งออกอ่วมต้นทุนขนส่งพุ่ง จี้คุม “ค่าธรรมเนียม” สายเรือ

ส.ผู้ขนส่งทางเรือร้องรัฐจัดระเบียบสายเรือรีดค่าธรรมเนียมชดเชยราคาน้ำมันผันผวน “EBS” ชี้กฎหมายไทยไม่ครอบคลุมชัดเจน หวั่นกระทบต้นทุนผู้ประกอบการ จับตาทิศทางค่าระวางครึ่งหลังปี”61 ภาวะตู้คอนเทนเนอร์ล้น-สงครามการค้ากระทบส่งออก

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุด สรท.ได้เข้าหารือกรมการค้าภายในถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่มีความผันผวน และมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นจากที่ผ่านมา โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นไปถึง 77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อีกทั้งความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นในช่วงปลายปี

ส่งผลให้สายเรือเรียกเก็บค่าความผันผวนของราคาน้ำมัน (Emergency Bunker Surcharge : EBS) เพื่อชดเชยต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในประเทศไทยได้เริ่มเรียกเก็บตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในอัตรา 20-50 เหรียญสหรัฐต่อขนาด 20 ฟุต (20 FT) และ 50-100 เหรียญสหรัฐต่อตู้ขนาด 40 ฟุต (40 FT) โดยการจัดเก็บค่าอัตราพิเศษดังกล่าวไม่สามารถจำแนกขนาดเรือ ปริมาณได้ชัดเจน ทำให้ผู้ส่งออกต้องชดเชยในราคาเท่ากัน ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นอัตราสากลกำหนดระหว่างประเทศแต่ระเบียบกฎหมายไทยยังไม่ครอบคลุมในข้อนี้ ผู้ประกอบการจึงเสนอแนะให้ภาครัฐพิจารณา หากเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มแต่ไม่มีการจำแนกประเภทให้ชัดเจน จะส่งผลต่อต้นทุน

“สรท.ได้คุยกับกรมการค้าภายในเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นสายเรือจะเรียกเก็บ EBS ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่คำถามคือจำนวนนี้ควรจะเก็บอัตรา 50 เหรียญสหรัฐได้จริงหรือไม่ จริง ๆ แล้วควรจะพัฒนาตัวเรือหรือลดเอฟเฟ็กต์อื่นจะดีกว่า เพราะแต่ละสายอาจเก็บไม่เท่ากัน บริบทต่างกัน ตรงนี้อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดู”

อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้ทิศทางค่าระวางอาจจะสูงขึ้นแต่ก็ยังคงต่ำกว่าปีที่แล้วพอสมควร เนื่องจากปีนี้มีแรงกดดันรอบด้านทั้งราคาน้ำมัน จำนวนเรือขนาดใหญ่เข้ามาทำให้แออัดหนาแน่นที่ท่าเรือ หรือเรือเข้ามามากกว่าสินค้า ทำให้ค่าระวางภาพรวมต่ำกว่าปีที่แล้ว รวมถึงสินค้าบางตัวได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

“ค่าระวางเป็นเทรนด์ขาขึ้นหากเทียบต้นปี แต่เป็นเพียงช่วงพีกซีซั่นของการส่งสินค้าไปตลาดหลัก ส่งผลให้ทิศทางค่าระวางสูงขึ้นตาม หากขนส่งสินค้าได้มากก็สามารถรักษาค่าระวางได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่สินค้าน้อยจะเริ่มเร่งดัมพ์ราคาเพื่อนำสินค้าเข้ามา แต่ประเมินเบื้องต้นว่าภาพรวมน่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว เพราะช่วงกลางปีถึงปลายปีค่อนข้างสะวิงและไม่สามารถคาดเดาได้”

สำหรับสถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ เปรียบเทียบในช่วง 1 เดือนระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคมและ 29 มิถุนายน 2561 พบว่าอัตราค่าระวางเพิ่มสูงขึ้นในหลายเส้นทาง

ซึ่งจากข้อมูล Shanghai Containerized Freight Index (SCFI) พบว่าค่าระวางเรือในเส้นทางสำคัญปรับเพิ่มสูงขึ้นหลายเส้นทาง อาทิ ยุโรป อเมริกา แอฟริกาตะวันออก/ตะวันตก โดยในเส้นทางยุโรปมีอัตราค่าระวางอยู่ที่ 834 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู (ตู้คอนเทนเนอร์ความยาว20 ฟุต) ปรับเพิ่มขึ้น 9 USD เมื่อเทียบกับสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนค่าระวางอยู่ที่ 905 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู ปรับเพิ่ม 57 เหรียญสหรัฐ เส้นทางอ่าวเปอร์เซียและทะเลค่าระวางอยู่ที่ 508 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู ปรับเพิ่มขึ้น 24 เหรียญสหรัฐ เส้นทางแอฟริกาตะวันออก/ตะวันตก (ลากอส) ค่าระวางอยู่ที่ 2,165 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู ปรับเพิ่มขึ้น 211 เหรียญ และเส้นทางประเทศสิงคโปร์ค่าระวางอยู่ที่ 152 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู เพิ่มขึ้น 11 เหรียญ

ส่วนเส้นทางที่มีอัตราค่าระวางลดลง อาทิ เส้นทางชายฝั่งด้านตะวันตกของสหรัฐ และชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐ พบว่ามีค่าระวาง 1,194 เหรียญสหรัฐต่อเอฟอียู และ 2,181 เหรียญสหรัฐต่อเอฟอียู ลดลง 89 และ 90 เหรียญสหรัฐตามลำดับ, เส้นทางออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ค่าระวางอยู่ที่ 697 เหรียญสหรัฐต่อเอฟอียู ลดลง 113 เหรียญสหรัฐ เส้นทางแอฟริกาใต้ ค่าระวางอยู่ที่ 749 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู ลดลงกว่า 48 เหรียญสหรัฐ เส้นทางแอฟริกาใต้ มีอัตราค่าระวางอยู่ที่ 1,546 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู ลดลง 303 เหรียญสหรัฐ ในเส้นทางชายฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น และฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น อัตราค่าระวางใกล้เคียงกันคือ 226 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู และ 225 เหรียญสหรัฐต่อทีอียูตามลำดับ และในเส้นทางประเทศเกาหลี ท่าเรือปูซาน ค่าระวางลดลงมาอยู่ที่ 181 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู ปรับลดลง 17 เหรียญสหรัฐ