นิคมอุต EEC แห่ขายที่ทะลุเป้า รัฐผนึกเอกชนดันยอด 120,000 ไร่

กนอ.เผยทั้งรัฐ-เอกชนขายพื้นที่นิคม EEC ใกล้ทะลุเป้า 4 ปี 150,000 ไร่ ขาดอีกแค่ 30,000 ไร่เท่านั้นที่ยังติดปัญหาผังเมือง พร้อมรองรับอุตสาหกรรมใหม่ new S-curve 

นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา กล่าวถึงการกำหนดเป้าหมายเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระหว่างปี 2560-2564 เพื่อรองรับการลงทุน 150,000 ไร่ว่า ล่าสุด กนอ.เตรียมพื้นที่รองรับโครงการลงทุนจำนวน 33 นิคมอุตสาหกรรมแล้ว แต่ยังไม่รวมการพัฒนาพื้นที่เขตอุตสาหกรรม-สวนอุตสาหกรรม ที่อยู่ในการดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม จากการประเมินล่าสุดพบในนิคมทั้งหมดมีการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุน “เร็วกว่า” เป้าหมายที่กำหนดไว้ แบ่งเป็น

1) นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ EEC มี 33 นิคม ล่าสุดมียอดการใช้พื้นที่นิคมแล้ว 120,000 ไร่ 2) นิคมอุตสาหกรรมที่ขายพื้นที่หมดแล้วจำนวน 7 นิคม ประมาณ 19,885 ไร่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง-แหลมฉบัง, นิคมอุตสาหกรรมผาแดง, นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย, นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่พร้อมลงทุน 8,260 ไร่ กับพื้นที่ที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีก 11,518 ไร่

และ 3) พื้นที่ที่อยู่ระหว่างจัดหารองรับการลงทุน EEC อีกประมาณ 31,324 ไร่ ในจังหวัดฉะเชิงเทราประมาณ 24,718 ไร่, ชลบุรีประมาณ 6,606 ไร่ และระยอง 4,458 ไร่ โดยพื้นที่เหล่านี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง 20 โครงการประมาณ 30,000 กว่าไร่ เนื่องจากที่ดินที่นำมาจัดตั้งนิคมจะต้องเป็นพื้นที่สีม่วงเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น

สำหรับปีงบประมาณ 2560-2561 ในระหว่างเดือนตุลาคม 2560 ถึงปัจจุบันมีพื้นที่ที่จำหน่ายไปแล้วในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกทั้งของภาครัฐและเอกชนรวม 997 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในนิคม 736 ไร่ กับพื้นที่นอกนิคม 261 ไร่ มูลค่า 23,600 ล้านบาท ส่วนแผนในครึ่งปีหลังจะมีนิคมอุตสาหกรรมที่พร้อมดำเนินการ ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จ.ชลบุรี กับนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 จ.ปราจีนบุรี ส่วนที่เหลือเป็นนิคมอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ EEC ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จ.อ่างทอง, นิคมอุตสาหกรรมซีพีซีจี 5 แพรกษา จ.สมุทรปราการ รวมมูลค่า 16,661 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย new S-curve ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, เกษตรแปรรูป, เครื่องมือแพทย์, อาหารเครื่องดื่ม, บรรจุภัณฑ์, การแพทย์, ดิจิทัล และพลาสติก

“นิคมที่อยู่ในพื้นที่ EEC มีจำนวน 33 นิคมอุตสาหกรรม มียอดการใช้พื้นที่ไปแล้ว 120,000 ไร่ ยอดนี้หมายความว่า ตอนนี้ใกล้จะทะลุเป้าแล้ว เพราะเหลือพื้นที่ที่จะต้องขายอีกแค่ 30,000 ไร่ที่ยังติดปัญหาผังเมือง ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ใหม่อยู่ระหว่างมานำเสนอ 9,059 ไร่ และอยู่ระหว่างพัฒนา 11,884 ไร่ รวมทั้งนิคมโรจนะ กับนิคม ซี.พี.ด้วย แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาครอบคลุมทั้งส่วนของคลังสินค้า อุตสาหกรรมยาง พลาสติก ยานยนต์ เครื่องจักร เหล็ก และผลิตภัณฑ์โรงงาน ที่น่าสนใจมากก็คือ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค หรือ RCEP จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดนักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น” นางสุวัฒนากล่าว

ทางด้านนายสราวุธ สกลไชย ผู้จัดการทั่วไปนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 กล่าวว่า นิคมบ่อทอง 33 มีทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่โครงการครอบคลุมพื้นที่ 1,746 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่พาณิชย์ 1,214 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 341 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 191 ไร่ จะมีการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วยระยะที่ 1 ประมาณ 649 ไร่ ระยะที่ 2 ประมาณ 534 ไร่ และระยะที่ 3 ประมาณ 565 ไร่ สามารถเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว กับพื้นที่ EEC

โดยพื้นที่นี้จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (new engine of growth) พร้อมเป็นฐานการผลิตและการดึงดูดการลงทุนและยังอยู่ใกล้ศูนย์กลางคมนาคมหลักของประเทศ พร้อมทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา (ด่านปอยเปต) คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยว่า 49,456 ล้านบาท พร้อมเป็นฐานการผลิตและดึงดูดนักลงทุน เนื่องจากโครงสร้างเอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม โดยล่าสุดมีนักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุนโรงงานยาง ล้อยางและผลิตภัณฑ์ยางแล้ว