บอร์ดอีอีซีเพิ่ม 2 อุตสาหกรรมพิเศษS-curve

บอร์ด EEC เพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ S-curve “ป้องกันประเทศ กับพัฒนาบุคลากรการศึกษา” เร่ง BOI กำหนดสิทธิประโยชน์ พร้อม TOR ท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 “TIPS-ยูนิค-อิโตชู” โผล่เข้าซื้อซอง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ครั้งที่ 5/2561 ว่า ที่ประชุมได้เพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (S-curve) อีก 2 อุตสาหกรรมคือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กับอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา โดยอุตสาหกรรมแรกคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ประกาศสิทธิประโยชน์ไว้แล้ว ส่วนอุตสาหกรรมหลังให้ BOI เร่งจัดทำสิทธิประโยชน์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยตั้งเป้าให้มีการลงทุนใน EEC 100,000 ล้านบาท/ปี หรือ 500,000 ล้านบาทใน 5 ปี (2562-2566)

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้น ได้เปิดขายซอง TOR ไปเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ซื้อซองไปแล้ว 3 ราย ได้แก่ บริษัท ทีไอพีเอส จำกัด (นักลงทุนไทย), บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) (นักลงทุนไทย) และบริษัท ITOCHU Corporation (Japan) (นักลงทุนญี่ปุ่น) แต่ยังมีนักลงทุนที่แสดงความสนใจอีกกว่า 10 ราย ซึ่งจะให้เวลานักลงทุนตัดสินใจและยื่นเสนอซองอีก 2 เดือนนับจากวันที่ประกาศเชิญชวน

ส่วนโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 รับผิดชอบโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เปิดขายซองไปแล้วระหว่างวันที่ 9-21 พฤศจิกายน 2561 คาดว่าจะมีนักลงทุนรายใหญ่ที่ชำนาญการก่อสร้างท่าเรืออย่างญี่ปุ่น-จีน และไทย เข้ามาซื้อซอง

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังรายงานความคืบหน้าแผนการดำเนินงาน EEC ที่ได้ผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด EEC แบ่งเป็น การดำเนินการระยะที่ 1 แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การดำเนินการระยะที่ 2 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ ต่อไปนี้จะเริ่มเข้าสู่แผนงานระยะที่ 3


การชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เริ่มจัดทำแผนการดำเนินการเชิงรุก โดยมีคณะกรรมการประสานการลงทุนที่มีคณะทำงาน ประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 กลุ่มรับผิดชอบ