พาณิชย์ยันไม่ได้ตัดสิทธิผู้สมัครขายน้ำมันปาล์มให้ กฟผ.

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน(แฟ้มภาพ)
กรมการค้าภายในชี้แจงการสมัครผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มให้ กฟผ. โปร่งใสทุกขั้นตอน ไม่มีการตัดสิทธิปริมาณจำหน่ายตามกระแสข่าว ยันสต๊อกในประเทศมีเพียง 350,000 ตัน

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ มอบให้กระทรวงพลังงานโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ในราคากิโลกรัมละ 18 บาท เพื่อดึงราคาผลปาล์มของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้น และให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในจัดหาผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. กรมการค้าภายในจึงได้ออกประกาศรับสมัครผู้ประสงค์จำหน่าย น้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. โดยให้ยื่นใบสมัครตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม – 11 มกราคม 2562 และเพื่อให้มีการรับสมัครกระจายอย่างทั่วถึง กรมฯ ได้ขยายเวลารับสมัครไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2562 ซึ่งปรากฏว่า มีผู้เสนอจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบรวมทั้งสิ้นจำนวน 40 ราย ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่เสนอขายรวม 130,000 ตัน

ผลจากการพิจารณาใบสมัคร 2 ครั้ง มีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและยื่นเอกสารครบถ้วน ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้ กฟผ. ครั้งที่ 1 จำนวน 21 ราย ปริมาณ 63,000 ตัน ครั้งที่ 2 จำนวน 11 ราย ปริมาณ 51,000 ตัน รวมทั้งสิ้น 32 ราย ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่เสนอขาย 114,000 ตัน จากเป้าหมาย 160,000 ตัน โดยผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจะได้รับจัดสรรตามปริมาณที่ยื่นเสนอในใบสมัคร ซึ่งยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

รายชื่อผู้มีสิทธิจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. เรียงตามปริมาณที่เสนอขาย ได้แก่ 1) บจ. ปาโก้เทรดดิ้ง ปริมาณ 11,000 ตัน 2) บจ. ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ ปริมาณ 8,000 ตัน 3) บจ. เจริญน้ำมันปาล์ม ปริมาณ 8,000 ตัน 4) บจ. พี. ซี. ปาล์ม (2550) ปริมาณ 6,000 ตัน 5) บจ. ป. พานิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ 2 ปริมาณ 6,000 ตัน 6) บจ. ป. พานิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ ปริมาณ 5,000 ตัน และปริมาณ 4,000 ตัน จำนวน 8 ราย ได้แก่ 1) บจ. จิรัสย์ปาล์ม 2) บจ. ศรีเจริญปาล์มออยล์ 3) บจ. ทักษิณปาล์ม (2521) 4) บจ. ทักษิณอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (1993) 5) บจ. พิทักษ์ปาล์มออยล์ 6) บจ. กรีน กลอรี่ 7) บจ. ท่าทองปิโตรเลียม 8) บจ. พี. ซี. สยามปิโตรเลียม, และปริมาณ 3,000 ตัน จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1) บจ. กลุ่มสมอทอง (สาขาท่าชนะ) 2) บจ. กลุ่มสมอทอง (สาขาพนม) และ 3) บมจ. ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม,

นอกจากนี้ ยังมีผู้จำหน่าย 2,000 ตัน จำนวน 14 ราย และปริมาณ 1,000 ตัน จำนวน 1 ราย คือ สหกรณ์นิคมท่าแซะ จำกัด และเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ได้เปิดรับสมัครผู้ประสงค์จำหน่ายน้ำมันปาล์มให้แก่ กฟผ. เพิ่มเพื่อให้ครบตามเป้าหมาย 160,000 ตัน ไปจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 และคาดว่าจะครบจำนวนตามเป้าหมาย

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. ทุกราย ได้มีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะอนุกรรมการบริหารและกำกับดูแลมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ กำหนด สำหรับปริมาณที่ผู้สมัครทุกรายยื่นเสนอไว้ เป็นความประสงค์ของผู้สมัครแต่ละราย ไม่มีการปรับลดปริมาณ การพิจารณาก็ให้ตามที่เสนอไม่มีการตัดสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นผู้สมัครรายที่ไม่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้นกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีผู้สมัครบางรายถูกตัดสิทธิ โดยไม่เป็นธรรมนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และกรณีที่มีการให้ข่าวว่า ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือในประเทศ มีจำนวน 700,000 ตัน ก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศมีอยู่ประมาณ 350,000 ตัน หากถูกนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 160,000 ตัน ครบถ้วนจะเหลือ CPO ในสต๊อกเพียง 190,000 ตัน ต่ำกว่าสต๊อกปกติที่มีคือ 250,000 ตัน

นายวิชัยกล่าวว่า การบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าว จะสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ กรมฯ ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้ กฟผ. ยื่นความจำนงจำหน่ายน้ำมันปาล์มตามโครงการได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่แหล่งผลิตทั่วประเทศ และสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th