“กันกุล” ลุยโซลาร์รูฟท็อปรับอานิสงส์ PDP

“GUNKUL” เผยพีดีพีใหม่ดันปีทองโซลาร์รูฟท็อป จับมือ “ยูนิคอร์ด” ลุยป้อน solar PV rooftop โรงงาน-องค์กร จ่อร่วมประมูลโซลาร์ลอยน้ำ กฟผ. คาด 3 ปีกำลังผลิตแตะ 1,000 เมกะวัตต์

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมแผนการลงทุนช่วง 3 ปี (2562-2565) บริษัทคาดว่าจะเป็นปีที่รัฐบาลให้การสนับสนุนด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยช่วงต้นปี 2562 รัฐจะเริ่มเปิดโซลาร์เสรีตามแผน PDP 2018 ระยะสั้น คาดว่าปีนี้จะเติบโต 25% มูลค่า 7,500 ล้านบาท จากกำลังการผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 700 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิต 580 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) 360 เมกะวัตต์ และมีแผน COD เพิ่มในต่างประเทศ 100 เมกะวัตต์ อาทิ โซลาร์ฟาร์มทั้งประเทศญี่ปุ่น 40 เมกะวัตต์ และมาเลเซีย 30 เมกะวัตต์ และขยายโซลาร์รูฟท็อปที่กัมพูชา 30 เมกะวัตต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ติดตั้งให้กับ CPF

ขณะที่ปัจจัยบวก เนื่องจากต้นทุนค่าไฟที่ไม่สูงมากแข่งขันได้ ประกอบกับลูกค้ากลุ่มโรงงานสัตว์ องค์กร สนใจมากขึ้น เพราะอนาคตสามารถขายไฟได้ ส่งผลให้ภายใน 3 ปีจะมีกำลังผลิตรวมมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ทำให้สัดส่วนกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่มจาก 70% เป็น 90% ในปีนี้ ทั้งนี้ บริษัทยังคงสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 16 โครงการ 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP 2018 คาดว่าจะนำร่องเฟสแรก 45 เมกะวัตต์ เร็ว ๆ นี้

“บริษัทมองว่าช่วง 3 ปีนี้ ดูจากแผนพีดีพีแล้ว เราเชื่อมั่นว่าโซลาร์รูฟท็อปมาแน่ มั่นใจว่าจะมีกำลังการผลิตกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ได้เร็วขึ้นใน 3 ปี จากแผนเดิมปี”65 ขยับขึ้นมาเป็นช่วงปลายปี”63-64 ซึ่งกลุ่มลูกค้ามีทั้งโรงงานอาหารสัตว์ โรงงานอาหาร องค์กร จะช่วยลดต้นทุนพลังงานได้ปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ฉะนั้นปีนี้จะเป็นปีที่มีรายได้จากพลังงานทดแทน 90% ทั้งในและต่างประเทศ”

ทั้งนี้ ล่าสุด บริษัทได้ลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (solar PV rooftop) กับบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1.92 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เฟส แบ่งเป็น เฟส 1 ประมาณ 1.24 เมกะวัตต์ และเฟส 2 ประมาณ 680 กิโลวัตต์ จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานให้กับบริษัท ยูนิคอร์ด โดยคาดว่าจะทยอยก่อสร้างได้ช่วงเดือนเมษายน และจะดำเนินการศึกษาความสามารถในการติดตั้งโซลาร์แบบทุ่นลอยน้ำให้กับพื้นที่ผิวน้ำที่มีศักยภาพของบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ร่วมกันในเฟส 2


ด้านนายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มั่นใจว่าการร่วมมือโครงการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา ขนาดกำลังการผลิต 1.92 เมกะวัตต์ แต่จะทำให้ต้นทุนทางด้านพลังงานไฟฟ้าของธุรกิจลดลงราว 7% ประหยัดค่าไฟมูลค่า 20 ล้านบาทต่อปี โดยจะนำไฟฟ้าไปใช้ทั้งในส่วนของห้องเย็นและกระบวนการผลิต และจะขยายกำลังผลิตเพิ่มและจะขยายโซลาร์แบบทุ่นลอยน้ำเฟส 2 โดยใช้เงินลงทุน 36 ล้านบาท เริ่มปลายปีหน้า