“หม่อมเต่า”เปิดช่องเจรจาGSP เสนอให้ที่นั่งต่างด้าวในสหภาพแรงงาน

ไทยเริ่มกระบวนการเจรจา USTR เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานก่อนถูกระงับสิทธิพิเศษ GSP ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ด้าน “หม่อมเต่า” รัฐมนตรีแรงงานส่งสัญญาณให้เท่าที่ให้ได้ ด้วยการเพิ่มบทบาทให้แรงงานต่างด้าวมีสิทธิมีเสียงในคณะกรรมการสหภาพแรงงาน แต่ให้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวไม่ได้

คณะเจรจาฝ่ายไทยได้เริ่มเปิดการหารือกับสำนักงานผู้แทนทางการค้าสหรัฐ (USTR) กรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกแถลงการณ์ “ระงับ” สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences หรือ GSP) จำนวน 573 รายการเป็นการชั่วคราว โดยการระงับสิทธิ GSP ครั้งนี้จะมีผลในวันที่ 25 เมษายน 2563 หรือสหรัฐได้ให้เวลาฝ่ายไทยในการเจรจาอีก 6 เดือนข้างหน้าก่อนที่คำสั่งทรัมป์จะบังคับใช้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานคณะรัฐมนตรีมีมติให้ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์-กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานตั้งทีมเจรจาเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐ (America Federation Labor & Congress of Industrial Organization หรือ AFL-CIO) ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิพิเศษ GSP ไทย โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยยังมีการละเมิดสิทธิแรงงานใน 3 ประเด็น คือ

1) เสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง

2) การนัดหยุดงานและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

3) การปฏิบัติต่อคนต่างด้าวและแรงงานบังคับ

ทั้งนี้ 1 ในเงื่อนไข 4 ข้อสำหรับประเทศที่จะได้รับสิทธิพิเศษ GSP ที่เป็นการลดภาษีนำเข้าสินค้าให้ฝ่ายเดียวก็คือ ประเทศนั้น ๆ จะต้องมีการคุ้มครองสิทธิแรงงาน (worker right) ในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ หรืออีกนัยหนึ่ง AFL-CIO เห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีการคุ้มครองสิทธิแรงงานไม่เพียงพอใน 3 ประเด็นที่เป็นข้อกล่าวหาข้างต้น โดยได้ยื่นข้อเสนอให้ USTR ตัดสิทธิพิเศษ GSP ไทยมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ USTR ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการตัดสิทธิพิเศษ GSP ไทยตลอด 6 ปี

ADVERTISMENT

ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปในการ “ทบทวน” สิทธิพิเศษ GSP ในปีนี้ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจหยิบยกเรื่องของสิทธิแรงงาน ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง แต่ก็ไม่ได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษ GSP ทันที เพียงแต่ให้ใช้คำว่า “ระงับการให้สิทธิพิเศษเป็นการชั่วคราว” และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า เพื่อบังคับให้ประเทศไทยเข้ามาเจรจากับ USTR ซึ่งอาจจะมีข้อเรียกร้องในการเปิดตลาดสินค้าและบริการอื่น ๆ เพิ่มเติมจากเรื่องของสิทธิแรงงานก็ได้

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ตั้งข้อสังเกตกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการระงับสิทธิพิเศษ GSP สินค้าไทย จำนวน 573 รายการ ที่ส่งเข้าไปยังตลาดสหรัฐว่า ในปี 2563 สหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดย AFL-CIO ถือเป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานที่ใหญ่มาก นั่นย่อมหมายถึงคะแนนเสียงจากผู้ใช้แรงงานจะมาจากองค์กรนี้ จึงมีประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอในการตัดสิทธิพิเศษขึ้นมาพิจารณาในการทบทวนการให้สิทธิพิเศษ GSP จากปัจจุบันรัฐบาลไทยได้อนุญาตให้แรงงานไทยสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้อยู่แล้ว

ADVERTISMENT

“แล้วอยู่ดี ๆ สหรัฐมาขอว่า แรงงานต่างด้าวในไทยจะต้องได้รับการปฏิบัติเท่ากับมาตรฐานสากล ก็เท่ากับแรงงานต่างด้าวจะได้รับสิทธิมากกว่าแรงงานไทย ข้อเรียกร้องแบบนี้มันน่ากลัว ปัจจุบันสิทธิแรงงานของไทยในประเทศก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ผมบอกสหรัฐไปว่า ให้เท่าคนไทย มันไม่สากล เขาก็บอกว่า ก็ทำให้แรงงานไทยเท่ากับสากลซิ แต่การทำให้เท่ากับสากลมันไม่ใช่วันเดียวทำสำเร็จเลย การแก้กฎหมายต่าง ๆ ในทางปฏิบัติมันใช้เวลาเป็น 10 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย ความจริงประเด็นการถูกระงับสิทธิ GSP ทางกระทรวงแรงงานไม่ใช่ตัวการหลักนะ มันขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองกันมาด้วย” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยถูกระงับสิทธิ GSP เป็นการชั่วคราวในสินค้า 573 รายการ จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราเฉลี่ย 4.5% ในประเด็นนี้ไม่ได้หมายถึง การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐจะเสียหายทั้งหมด แต่แน่นอนจะมีผู้ส่งออกที่เดือดร้อนบ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าการได้รับสิทธิพิเศษ GSP นั้นเป็นการให้ฝ่ายเดียวจากสหรัฐ สหรัฐสามารถทบทวนการให้สิทธินี้ได้ตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่ความยั่งยืน สุดท้ายสิทธิพิเศษ GSP ที่ประเทศไทยได้รับอยู่ในปัจจุบันก็จะหมดไปในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า

“การเจรจากับสหรัฐในประเด็นสิทธิแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวนั้น เท่าที่ฝ่ายไทยจะให้กับสหรัฐได้ก็คือ การให้แรงงานต่างด้าวมีบทบาทมากขึ้น แต่บทบาทที่ให้มากขึ้นนั้นจะต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหาย บทบาทมากขึ้น หมายความว่า การเอาต่างชาติเข้ามาให้มีสิทธิมีเสียง จากเดิมที่แรงงานต่างด้าวไม่มีสิทธิมีเสียงในสหภาพแรงงานก็สามารถเข้ามาเจรจาต่อรองในสหภาพได้ แต่ไม่ใช่การให้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว ทั้งหมดนี้ทางฝ่ายกระทรวงพาณิชย์จะต้องไปเป็นผู้เจรจาต่อรองกับสหรัฐ ในขณะที่ทางเลือกของสหรัฐก็น่าจะมี 2 ทาง คือ รับได้ ดีกว่าไม่ได้เลย กับไม่รับข้อเสนอของฝ่ายไทย” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว

มีรายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานเข้ามาว่า ที่ผ่านมาในการเจรจาสิทธิแรงงานกับสหรัฐ ฝ่ายสหรัฐพยายามให้ไทยรับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว โดยฉบับนี้เป็นเรื่องของการรวมตัวเพื่อตั้งเป็น สหภาพแรงงาน ซึ่งแรงงานไทยได้รับอนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงานได้แล้ว กับอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการต่อรองร่วม โดยอนุสัญญาฉบับนี้ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 กับ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

“ไทยน่าจะให้การรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 98 ก่อน ขณะนี้มีระยะเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นไปตามกระบวนการของรัฐสภา โดยในส่วนของการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ผ่านที่ประชุม ครม.ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ส่วนประเด็นที่จะให้แรงงานต่างด้าวสามารถตั้งสหภาพได้นั้น ในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างกว่า 92% ไม่เห็นด้วย แต่ได้มีการรับรองให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าเป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงานได้ 1 ใน 5” แหล่งข่าวกล่าว