“สมคิด” ปลด 3 ชนวนระเบิดเศรษฐกิจ จี้รัฐ-เอกชนลงทุน สู้พิษบาทแข็ง

วันที่ 15 มกราคม 2563 ที่ รร.พูลแมน ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์มติชน จัดงานสัมมนาในหัวข้อ 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า เราพูดความจริง ไม่พูด fake news ประเทศไทยอยู่ในจุดที่หาคำพูดที่เหมาะสมไม่ได้ อยู่ในจุดที่สำคัญมากๆ ต้องบริหารจัดการให้ดี ไม่ได้ดีเสียทีเดียว ไม่ได้แย่ แต่จะดีหรือแย่อยู่ที่การบริหารจัดการของเราและต้องสามัคคีกันด้วย จริงๆ แล้วเศรษฐกิจไทยไปได้ดีในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา วางรากฐานไว้ค่อนข้างดี หวังอย่างเดียวว่าว่าพาประเทศสู่ความทันสมัย สามารถสร้างการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำได้ กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนมันก็ต้องเปลี่ยน มีการเลือกตั้งสมใจ มีรัฐบาลใหม่ แม้ใช้เวนลาถึง 7 เดือน หลังการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่แตกต่างจากรัฐบาลที่แล้ว เงื่อนไขหลายอย่างเปลี่ยนไป

เมื่อมีรัฐบาลใหม่ ก้าวสู่ไตรมาส 3-4 เศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมด้วยภาวะตึงเครียดเรื่องการค้า ในไตรมาส 4 เราเจอพายุพอสมควร เป็นระเบิดได้ 2 ลูกที่ผ่านมาไปแล้ว แต่ยังคาราคาซังอยู่ ลูกแรก เป็นระเบิดที่อยู่เหนือน้ำ เห็นชัด เรื่องการส่งออก ค่อยๆ ชะลอตัวลงกระทั่งติดลบ และลบถึง 7.7 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง พ.ย.ที่ผ่านมา การส่งออกลงลึก เพราะสินค้าส่งออกของเราอยู่ใน supply chain ที่สำคัญเชื่อมโยงกับจีนและตลาดโลก การที่สินค้าส่งออกไม่หลากหลาย และลงลึก supply chain เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อกระเทือนทั้งโลกโดยเฉพาะจีนก็กระทบทั้งสาย ตัวเลขเหล่านี้แทบคอนโทรลไม่ได้ เมื่อส่งออกลงลงมีมูลค่าถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี สะเทือนแน่นอน แม้เราจะเริ่มต้นด้วยข่าวดีว่าคู่ขัดแย้งจะลงนามตกลง ภาวนาขอให้คลี่คลายหวังว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะให้ความกรุณากับโลกเราบ้าง

ระเบิดใต้น้ำเป็นลูกที่สอง ถ้าไม่มอง มองเผินๆ ไป เป็นระเบิดเล็กๆ หลายลูก โครงการใหญ่ๆ เคลื่อนตัวช้าเกินไป งบประมาณแผ่นดิน การที่มีรัฐบาลช้า งบประมาณช้า พึ่งจะผ่านสภาล่างเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนหน้านั้นงบประมาณที่ลงไปตั้งแต่ ต.ค.62 ขึ้นมา คือไตรมาส 1 ของงบประมาณ หรือไตรมาส 4 ของปีปฏิทินแทบจะออกกระปิดกระปอย เพราะงบประจำให้จ่ายเกณฑ์ปีทีแล้วแต่ไม่ให้เกินกึ่งหนึ่ง งบลงทุนแทบจะลงไม่ได้ยกเว้นโครงการที่มีสัญญาแล้ว มีเพียง 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเครื่องจักรเครื่องใหญ่ไม่สามารถหมุนตามสิ่งที่ควรจะหมุนได้

“โชคดีที่งบประมาณ 2563 ผ่านสภาล่าง และผ่าน ครม. งบประจำที่เหลือจะเทไปเต็มแมกซ์ รวมถึงงบลงทุน ยกเว้นงบที่ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ ม.ค.-มี.ค. จะทำให้งบประจำและงบลงทุน จาก 23 ขึ้นไป 54 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าไตรมาส 2 ไตรมาสเดียว เม็ดเงินที่ลงในไตรมาสนี้ 1 ล้านล้าน พอไปไตรมาส 3 จาก 54 จะไป 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ และเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ก่อน ก.ย.2563 แต่มันก็เหมือนท่อ ถ้าไม่เตรียมการสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้พร้อมเงินก็ไหลไม่ทัน ถึงตอนปลาย เงินก็จะถูกพับไป ขณะที่ภาคการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เหลืองบที่ค้างอยู่ แสนกว่าล้านจะไปขอให้ลงทุนเพิ่ม นี่คือระเบิดลูกที่สองที่จะต้องแกะ” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า แต่ยอมรับว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นระเบิดลูกที่ 3 กระทบการส่งออก นักลทุนมองว่าเศรษฐกิจขณะนี้จำเป็นต้องเก็บเงินเอาไว้ก่อน จึงขอให้นักลงทุนเอกชนลงทุนในประเทศ เพื่อนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ เพราะการลงทุนในต่างประเทศ ได้เพิ่มความแข็งค่าเพิ่มขึ้นไปอีก จึงต้องเรียกร้องทุกฝ่ายร่วมกัน หลายฝ่ายกดดันแบงก์ชาติว่าทำไมปล่อยให้เงินบาทแข็งอย่างนี้

ดังนั้น โจทย์ที่ตั้งขึ้นมาว่าการลงทุนคือทางออกประเทศไทยที่แท้จริง ถ้ามีการลงทุนภาคเอกชน รัฐบาล และวิสาหกิจจะประคองเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ 2.ถ้าลงทุนเงินบาทจะอ่อนลง ต้องช่วยกันทุกคน ถ้าไม่ลงทุนเลย เก็บเงินทุกเม็ด แล้วกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจต้องหมุนให้เงินบาทอ่อน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องคิดใหม่ 3.ไม่ใช่สักแต่ว่าลงทุน โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ภูมิศาสตร์เปลี่ยน คุณจะเป็นอะไรขึ้นอยู่กับการลงทุน ถ้าสักแต่ว่าลงทุนไม่มีประโยชน์ ได้แต่เห็นจีดีพีบ้าๆ บอๆ โผล่ขึ้นมา แต่รู้ว่าอนาคตต้องไปสู่จุดนี้ถ้าเกียร์ให้ดี จะเกิดการลงทุนที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย จะเห็นบทบาทบีโอไอที่ต้องกล้าหาญ ต้องเฉียบแหลม เป็นหางเสือที่คัดท้ายประเทศ บีโอไอตั้งเป้าการลงทุน 7.5 แสนล้าน ซึ่งทำได้ตามเป้า

นายสมคิดกล่าวว่า การที่เขาบรรลุเป้าหมายยังไม่พอ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างจากเศรษฐกิจยุคเดิมไปยุคใหม่ ไปสู่อุตสาหกรรมที่เราแข่งขันได้ที่เวียดนามไปได้ดีมากๆ เพราะสิ่งทอ ที่เคยอยู่เราเมื่อ 20 ปีที่แล้วไปอยู่เวียดนาม เราอย่าไปอิจฉาเขา ต้องเอาอุตสาหกรรมใหม่เข้ามา ประคองมันเมื่อไปสู่ยุคนี้ไปสู่ยุคหน้า 5-6 ปีข้างหน้าอาจจะเปลี่ยน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องเป็นไปตามเป้า รถไฟเดินฟ้าเชื่อมสามสนามบิน มาบตาพุดเดิน อีกไม่กี่วันจะรู้ว่าอู่ตะเภาใครลงทุน รวมถึงเมืองการบิน s-curve ใหม่ที่วางไปต้องเดินไปตามนั้น ไม่เฉพาะอีอีซี แต่ต้องผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และภาคเหนือ

4 ปีข้างหน้า 5 จี ต้องมา ให้เกิดได้ในปีนี้ ถ้าเราทำได้ก่อน เชื่อว่าเอกชนจะมีทางเดิน เรื่องนี้บิดพลิ้วไม่ได้ ตัวถัดมาที่สำคัญภาคส่งออกและบริการ ใน 5 ปีข้างหน้า machine จะเข้ามาเยอะมาก มูลค่าสินค้าเกษตรจะตกลงเรื่อยๆ คนเหล่านี้ต้องมี sector ที่รองรับ คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ต้องช่วยกันเรื่องสตาร์ตอัพเรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคบริการ จะเป็นตัวรองรับกำลังแรงงานให้ไปสู่ภาคการท่องเที่ยวและการบริการ ซึ่งอุตสาหกรรมนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าใหญ่แล้วจะนำไปสู่ เกษตร อาหาร บริการ สุขภาพ อย่าไปมองแค่เป็นตัวเสริม อีกด้านที่สำคัญ คือการผลักดันเศรษฐกิจ Creative Economy ภาพยนตร์ แอนนิเมชั่น ดีไซด์ เพราะเป็นสาขาขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอีกด้าน แต่ยอมรับว่ายังไม่มีหน่วยงานดูแล

การดูแลสังคมคนชราในปีหน้า รายงานที่ประชุม ครม. มีสัดส่วนร้อยละ 20 นับว่าสูงมาก และต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้บีโอไอเป็นกรณีพิเศษ และพยายามดึงรัฐวิสาหกิจเข้ามาลงทุนตามนโยบายที่กำหนดไว้ นอกจาก กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต

“ขณะนี้ ต้องลงทุน ลงทุนเดี๋ยวนี้ด้วย อย่ารอช้า ไม่เช่นนั้นถ้าสายเกินไป การเปลี่ยนแปลงช้า เศรษฐกิจก็ซบเซา ทุกวันนี้มีแต่ข่าวตีกัน แม้กระทั่งนักการเมืองต้องช่วยกัน สร้างบรรยากาศให้มันดี เราก็รู้ว่าแข่งกับเวียดนาม แต่ตีกันทุกวัน จะให้ทำอย่างไร พูดแล้วก็กี่กระทรวง ไม่ได้ว่าเขา แต่ทุกกระทรวงต้องร่วมกัน ไม่อย่างนั้นคุณอย่าไปโทษใครเลย” นายสมคิดกล่าว

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุถึง 3 เรื่องหลักคือ 1) ความท้าทายในระยะเปลี่ยนผ่าน 2) เหลียวหลังแลหน้า :โมเดลขับเคลื่อนประเทศ และ 3) BCG Model โมเดลเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

โดยในช่วง 10 ปีนับจากนี้ การลงทุนหลักๆ จะไม่ใช่เฉพาะแค่อุตสาหกรรมเท่านั้น ต้องลงทุนในแง่ของ ”องค์ความรู้” เพื่อไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น และต้องลงทุนในเชิง ”คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” และ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้าม 3 กับดักของประเทศคือ 1) รายได้ 2) ความเหลื่อมล้ำ และ 3) ความสมดุล

ดร.สุวิทย์ยังกล่าวถึง New chapter investment นั้นจะต้องนำ BCG Model เข้ามาใช้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศให้ยั่งยืน เพราะเป็นการนำจุดแข็งของประเทศมาใช้คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร สุขภาพและการแพทย์ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือ 21% ของ GDP และในอนาคตคาดการณ์ว่า ภายใน 5 ปี จะขยับเพิ่มเป็น 4.4 ล้ายล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP และเกิดการจ้างงานทั้ง 4 เซคเตอร์นี้ถึง 20 ล้านคน

“ถือเป็นการลงทุนที่ใช้จุดแข็งจากภายในของประเทศ เพื่อให้เกิดการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มจาก 4 อุตสาหกรรมที่นอกเหนือจาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกัน เช่น BOI กระทรวงที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์”

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กล่าวถึงการประมูลคลื่น 5G ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ว่า นอกจากเงินค่าประมูลคลื่นที่คาดการณ์ว่าจะได้อย่างน้อย 54,000 ล้านบาท จาก 25 ใบอนุญาต (คลื่นความถี่ 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz) แล้ว

ทันทีที่ กสทช. ออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูลในช่วงปลายเดือน กุมภาพันธ์  บรรดาโอเปอเรเตอร์จะลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ทันทีจะทำให้เกิดการลงทุนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงธันวาคม 2563 คิดเป็นมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาท จากการลงทุนของค่ายมือถือ และตัวคูณทวี (multiplier) กว่า 6 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงานต่างๆ รวมถึงการต่อยอดการใช้งานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีมูลค่าเพิ่มจากการใช้งานอีกไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท

รวมแล้วจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกว่า 1.7 แสนล้านบาท เทียบกับจีดีพีของประเทศที่ 1.02%

และในปี 2564 จะเกิดการลงทุนอีกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการคาดการณ์ขั้นต่ำ และปี 2565 อีก 4.7 แสนล้านบาท