‘รุ่งโรจน์’ อดีตรักษาการ ผอ.อคส. ให้ปากคำ ปมค้าถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง

“พ.ต.อ.รุ่งโรจน์” อดีต รักษาการ ผอ.อคส. แจงละเอียดปมร้อนค้าถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง จ่ายมัดจำ 2 พันล้าน เงินใคร-ใครได้ประโยชน์ มั่นใจใช้อำนาจจัดซื้อจัดจ้างตามกฎหมายอคส. มาตรา 26 ไม่หวั่นขัด”ข้อบังคับ” ที่ไม่ได้ลงงประกาศราชกิจจานุเบกษา แค่ต้องการให้ อคส.มีรายได้จากกำไร กล่องละ 5 บาท รวม 3 ,500 ล้าน เคยทำการค้าขายอาหารสดให้เรือนจำก่อนหน้านี้

พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง องค์การคลังสินค้า (อคส.) ในฐานะอดีตรักษาการผอ.อคส. เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 31/2563 กรณีให้ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากกรณีการที่ตนได้ใช้อำนาจในฐานะรักษาการ ผอ.อคส.ไปทำสัญญาซื้อขายถุงมือยาง 500 ล้านกล่องตามที่ปรากฎเป็นข่าว แต่ตนพร้อมที่ปฏิบัติตามคำสั่ง

และพร้อมที่ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะฟ้อง ป.ป.ง. หรือ ป.ป.ช. โดยขอยืนยันความบริสุทธิ์ในการทำงาน ตามหน้าที่รักษาการ ได้ยึดหลักตามกฎหมายพระราชกฤษฎาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. 2498 มาตรา 26 ซึ่งให้อำนาจเต็ม ผอ.อคส.สามารถทำงานได้

ทำไมถึงกล้าทำสัญญา

“การทำสัญญายึดตามมาตรา 26 พระราชกฤษฎาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. 2498 ที่ให้อำนาจผอ.อคส. ซึ่ง ในกฎหมายให้ปฏิบัติตามในข้อบังคับ แต่ข้อบังคับ ออกมาโดยไม่ได้ประกาศราชกิจจา เท่ากับไม่มีผลผมจึงใช้อำนาจตามมาตรา 26”

อนึ่ง ข้อบังคับกำหนดว่าหาก อคส.จะจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เกิน 25 ล้านบาท ให้เป็นอำนาจ ผอ.อคส.ลงนาม ถ้าอยู่ในวงเงิน 25-50 ล้านบาทให้ ประธานบอร์ดอคส.ลงนาม, และหากเกิน 50 ล้านบาทจะต้องขอให้ที่ประชุมบอร์ด อคส.พิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่ในเมื่อข้อบังคับฉบับดังกล่าวไม่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่ากับว่าไม่ต้องปฏิบัติก็ได้

เคยทำมาก่อน

สำหรับต้นเหตุของการลงนามในสัญญาซื้อขายถุงมือยาง เกิดจากที่เดิมอคส.มีปัญหาเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนสะสม 11,000 ล้านบาท มา 5 ปีต่อเนื่องทำให้ได้รับแรงกดดันจึงต้องเร่งหาโปรเจ็คที่จะสร้างรายได้ ซึ่งเดิมเคยขอให้ทุกคนไปช่วยกันขายข้าวถุง อคส. แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ต่อมาจึงพบว่ากฎหมายมีมาตรา 26 ให้อำนาจผอ.ไว้ จึงเริ่มทำสัญญาซื้อขายอาหารสดให้กับเรือนจำก่อนเมื่อปี 2562 โดยเฉพาะโครงการกับเรือนจำที่มีมูลค่าการจัดซื้อเกิน 25 ล้านบาท ที่บอร์ดไม่อนุมัติแต่ตนมองว่าหากทิ้งไปจะทำให้อคส.เสียโอกาสและเสียรายได้ประมาณ 700-1,000 ล้านบาท ลักษณะเดียวกันกับโครงการซื้อขายถุงมือยางครั้งนี้  ซึ่งประสบความสำเร็จ

มั่นใจมีกำไร กล่องละ 5 บาท

ล่าสุดในปีนี้เกิดสถานการณ์การระบาดโควิดทำให้มีคนต้องการใช้ถุงมือยางจำนวนมาก และลูกค้าเป็นผู้เสนอให้ซื้อถุงมือยางจากบริษัทดังกล่าวโดยไม่ได้มีการจัดจ้าง เพราะเป็นถุงมือที่มีคุณภาพที่ลูกค้าต้องการ และยังให้เงื่อนไขที่ดีกว่ารายอื่น หากเป็นรายอื่นต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 50% แต่รายนี้ให้วางหลักทรัพย์แค่ 2% ของมูลค่าสินค้า 1.1 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท และได้ทำสัญญาระยะยาว 2 ปี นับจากวันที่ 2 กันยายน 2563 และได้เริ่มทยอยส่งมอบล็อตแรกวันที่ 15 กันยายน 2563

“เบื้องต้นประเมินแล้วว่า อคส.จะได้รับกำไรจากการขายแน่นอน กล่องละ 5 บาท ในราคาที่ตกลงซื้อขายกล่องละ 210-230 บาท จำนวนรวม 500 ล้านกล่อง คิดเป็นเงิน 1 แสนล้านบาท จะมีกำไร 3,500 ล้านบาท ซึ่งหัก 50% ให้หลวง 1,700 ล้านบาท ก็เท่ากับเหลือให้ อคส.อีก 1,700 ล้านบาท จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุน”

สำหรับเงินที่นำมาใช้วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 2% นำมาจากบัญชีเงินสดของอคส. ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นเงินที่เตรียมไว้จ่ายคืนให้ผู้ประกอบการค้าข้าวถุงคู่สัญญา อคส. 6 รายซึ่งเคสดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดียังไม่สิ้นสุด เท่าที่มีการตกลงก็ให้ฝากเงินก้อนดังกล่าวไว้เพื่อเอาดอกเบี้ยจนกว่าคดีจะสิ้นสุด หากเทียบกับการฝากเงินรับดอกเบี้ยแค่ 1.35% ถือว่าไม่มาก ซึ่งตนได้ใช้อำนาจตามมาตรา 26 ลงนามเบิกเงินร่วมกับเจ้าหน้าที่อคส.อีกราย โดยมีเจ้าหน้าที่อคส.เสนอเรื่องเพื่ออนุมัติ

เปลี่ยนผ่าน ผอ.คนใหม่

“เดิมที่เคยทำสัญญากับเรือนจำในการขายสินค้าอาหารสด ก็ไม่มีสหภาพแรงงานฯอคสคัดค้านอะไร กรณีนั้นเงินที่อคส.ได้รับรายได้หลักพันล้าน มีกำไร 3% ตอนนี้อาจจะส่วนหนึ่งยอดเยอะกว่า เป็นสัญญารัฐต่อรัฐ แต่พอมาครั้งนี้ และประกอบกับมีการส่งต่องานให้กับผอ.อคส.คนใหม่ ซึ่งอาจจะตรวจสอบบัญชีเงินสดแล้วพบว่า เงินที่มี 3,400 ล้านบาท ถูกเบิกไป 2,000 ล้านบาท เหลือ 1,400 ล้านบาท หายไปเยอะ ซึ่งผมได้ยืนยันว่าเราสามารถจะขายถุงให้คู่สัญญาได้ต่อไปจนกวาจะสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา 2 ปี ซึ่งคงไม่เห็นด้วย และมีบางคนในบอร์ดอยากให้เปลี่ยนบริษัทคู่สัญญาด้วย”

พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ยืนยันว่าที่ผ่านมาทำงานปกติรับเงินเดือนในตำแหน่งพนักงานประจำ เดือนละ 84,230 บาท และค่าเบี้ยประชุมอีกเดือนละ 40,000 บาท ไม่มีค่าน้ำมันรถ เทียบไม่ได้กับตำแหน่ง ผอ.อคส. ที่มีเงินเดือนถึง 1.9 แสนบาท มีเบี้ยประชุมเดือนละ 40,000 บาท และมีค่าน้ำมัน 400 ลิตร ราว 31,800 บาท รวมแล้ว เดือนละ 2.5-2.6 แสนบาท แต่ไม่เคยมีใครกล้าคิดที่จะทำโครงการสร้างรายได้ให้อคส.เลย ตนทำเพื่อให้อคส. มีรายได้ดีขึ้น


ล่าสุดที่ทราบคือที่ประชุมบอร์ดอคส.พิจารณาแล้วว่าการดำเนินการทำสัญญา ตามมาตรา 26 ไม่สามารถทำได้ แต่ผมมั่นใจว่าทำได้หากเกิดการผิดสัญญาที่ทำไว้กับผู้ขายถุงมือยาง ทางบอร์ดก็ต้องหาวิธีดำเนินการว่าจะจัดการอย่างไร เพราะอาจจะมีปัญหากับทางคู่สัญญาถุงมือยางที่รับเงินหลักประกัน 2% ไปแล้ว และสั่งผลิตสินค้าเพื่อเตรียมส่งมอบให้อคส.แล้ว