ไทยไม่พร้อมร่วม CPTPP ชี้ “เสียเปรียบ-ไม่ตอบโจทย์”

ส่งออก -CPTPP

ครบกำหนดระยะเวลา 120 วันในการศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งขึ้นเพื่อศึกษา CPTPP เมื่อ 11 มิถุนายน 2563 เป้าหมายเพื่อหาข้อสรุปว่า ไทยควรเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ โดย กมธ.วิสามัญเตรียมเสนอผลการศึกษาความยาว 204 หน้า ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนพฤศจิกายน 2563

กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าวประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ 49 คนมี นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน และได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ คือ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช มี นายอนันต์ ศรีพันธุ์ เป็นประธาน, คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข มี นายศุภชัย ใจสมุทร เป็นประธาน และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน มี นายเกียรติ สิทธีอมร เป็นประธาน

โฟกัสผลกระทบ 3 เรื่องหลัก

เหตุที่ต้องแบ่งการศึกษาเป็น 3 เรื่อง มาจากความวิตกกังวลหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ส่งผลให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเอกชน ภาคเกษตร ภาควิชาการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป นำมาสู่ความขัดแย้งและต่อต้านรุนแรง จนกระทรวงพาณิชย์ต้องถอนเรื่องนี้ออกจากวาระการประชุม ครม. วันที่ 27 เมษายน 2563 ก่อนการประชุมเพียง 1 วัน และตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบในภาพรวม และนั่นได้ทำให้ไทยไม่สามารถยื่นแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเจรจา CPTPP ได้ทันการประชุมคณะรัฐมนตรี CPTPP เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

หวั่นตกขบวนสูญเสียโอกาส

ในการศึกษา กมธ.ได้นำความเห็นของทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ขึ้นพิจารณา โดยฝ่ายสนับสนุนชี้ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้มูลค่าการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากคู่เจรจาในกลุ่มสมาชิก CPTPP ซึ่งมี 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่ง 2 ประเทศหลัง ไทยยังไม่เคยมีความตกลงการค้าเสรีมาก่อน หากช้าจะยิ่ง “ตกขบวน” เสียโอกาสจากการเปิดตลาดไม่ทันการ นักลงทุนจะหนีไปลงทุนที่อื่น โดยเฉพาะหนีไปเวียดนาม

ประเด็นความกังวล อาทิ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ฝ่ายนี้ชี้ว่าถูกถอนออกไปแล้ว พร้อมกับการถอนตัวของสหรัฐ ส่วนความกังวลเรื่องเมล็ดพันธุ์ จะไม่กระทบเมล็ดพันธุ์เก่าที่ไทยมี แต่ยังเป็นการเกื้อหนุนให้เกิดแรงจูงใจสำหรับนักวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่จะวิจัยพันธุ์พืชใหม่ ๆ และไทยยังสามารถกำหนดข้อสงวนการเจรจา (ขอยืดเวลาเปิดตลาด) ได้เช่นเดียวกับประเทศอื่น

ติงหลังโควิดอาจไม่ตอบโจทย์

ฝ่ายที่คัดค้าน CPTPP ระบุว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะถูกบังคับให้ต้อง “ยอมรับพันธกรณี” ซึ่งอาจกระทบต่อไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะอนุสัญญาการขึ้นทะเบียนและคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ไทยต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 เกิดการรอนสิทธิการใช้พันธุ์พืช เกษตรกรต้องเสียค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (compulsory licensing) ได้ นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องการเปิดตลาดบริการและการลงทุนให้ต่างชาติ การวางกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างรัฐ

พร้อมชี้ว่า การเปิดตลาดสินค้าไทยไม่จำเป็นต้องทำ CPTPP เพราะไทยทำเอฟทีเอกับ 5 ใน 7 ประเทศสมาชิกแล้ว เหลือแค่แคนาดากับเม็กซิโก และหากเปิดตลาดสินค้าเกษตรกว่า 95-99% จะทำให้สินค้าบางตัวยังไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น สุกร ข้าวโพด ถั่วเหลือง โคเนื้อ มะพร้าวแห้ง รวมถึงไทยยังขาดการศึกษาผลกระทบด้านการค้าและการลงทุนในช่วงหลังโควิด (post COVID) ซึ่งทำให้การเจรจาอาจไม่ตอบโจทย์

ผลศึกษาชี้ไทยยังไม่พร้อม

ในการศึกษา กมธ.ได้หยิบยกข้อมูลเหตุผลของสองฝ่ายมาพิจารณา พบว่าทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายคัดค้าน ต่างมีข้อมูลน่ารับฟัง แม้จะถูกมองว่าเป็นการ “ซื้อเวลา” แต่ช่วยลดดีกรีความร้อนแรงจากความขัดแย้งลงได้บ้าง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการ 3 คณะ 65 คนได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนทั้งตัวแทนคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ร่วมให้ความเห็นผลการศึกษาที่ได้จัดทำขึ้น ได้ข้อสรุปว่า ไทยยังต้องเตรียมพร้อมหลายเรื่อง ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนการเตรียมพร้อม และต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างเพียงพอ รวมทั้งเตรียมรองรับภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาผลกระทบ ขณะเดียวกันการเจรจาควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวไม่ควรเข้าร่วมภาคีความตกลง นอกจากนี้ ต้องผลักดันจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผลกระทบจากการเปิดเสรีด้วย

ทั้งยังตั้งข้อสังเกตเรื่องเกษตรและพันธุ์พืชว่า เกษตรกรรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการเกษตร จะได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP และจะถูกบังคับให้ร่วม UPOV1991 ฉะนั้น ไทยจึงยังไม่พร้อมจะเจรจา CPTPP จนกว่าจะทำความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับการเข้า UPOV ได้

ยึดมาเลย์-เวียดนามต้นแบบ

ประเด็นผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้ข้อสรุปว่า การตัดสินใจควรขึ้นอยู่กับ “ความพร้อมและการเตรียมการภายในประเทศ” โดยต้องศึกษาเพิ่มเติมประเด็นเรื่องการขึ้นทะเบียนตำรับยา ราคายาสูงขึ้น ผลกระทบการเข้าถึงยาของประชาชน และค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะเพิ่มจาก 1.2% เป็น 3-4% ของจีดีพีในอีก 30 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้องพึ่งพายานำเข้าเพิ่มจาก 71% เป็น 89% ในปี 2580 ขณะที่มูลค่าตลาดยาในประเทศจะลดลง 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้จะกระทบทำให้มูลค่าตลาดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ลดลง1 หมื่นล้านบาท ฯลฯ

ซึ่งภาครัฐควรหารือถึงผลกระทบเชิงโครงสร้าง และเตรียมความพร้อม โดยต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงแนวทางการจัดทำ “ข้อสงวน” ในการเจรจา ซึ่งต้องยึดต้นแบบจากเวียดนาม และมาเลเซีย ที่ขอยกเว้นตลาดการจัดซื้อจัดจ้าง 50% เป็นเวลา 20 ปี

11 รัฐวิสาหกิจไม่พร้อมแข่งขัน

ประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ก็ได้ข้อสรุปเช่นเดียวกันว่า ไทยยังต้องเตรียมความพร้อมหลายด้าน รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอเพื่อเตรียมความพร้อม และปรับโครงสร้างภายใน ปรับกฎระเบียบ เช่น อัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ฟรีโซน ภาษีดิจิทัล 2% กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การจัดทำมาตรฐานสินค้า เป็นต้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่สำคัญ ต้องประเมินผลกระทบ post COVID เพิ่มเติม เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก

ที่น่าห่วงคือการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ต่างชาติก็อาจจะกระทบต่อรัฐวิสาหกิจไทย 11 แห่ง ที่ไม่พร้อมจะแข่งขัน เช่น บมจ.ปตท. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บมจ.ทอท. บมจ.กสท โทรคมนาคม การนิคมอุตสาหกรรมฯ (กนอ.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นต้น

ต้องจับตามองว่ารัฐบาลจะนำผลการศึกษาดังกล่าวไปพิจารณา ก่อนฟันธงว่าจะเข้าร่วม-ไม่เข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่ อย่างไร ที่สำคัญอาจเป็น “ธง” สำหรับการเจรจาการค้าของไทยในอนาคต ทั้งความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศมหาอำนาจฉบับอื่น ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป อังกฤษ แคนาดา EFTA ไม่ใช่แค่ CPTPP เท่านั้น