เมื่อข้าวเปลือกถูก แล้วข้าวถุงลดราคา? “สมเกียรติ มรรคยาธร” มีคำเฉลย

ทิศทางราคาข้าวถุงไทยจะเป็นอย่างไร

อย่าคิดว่าสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิถูกลง เหลือตันละ 10,000-12,000 บาท แล้ว ราคาข้าวถุงจะลดลงตามไปด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “นายสมเกียรติ มรรคยาธร” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุง แบรนด์ “มาบุญครอง” ถึงสถานการณ์ข้าวถุงขณะนี้ว่า

“ก่อนหน้านี้เมื่อเกิดกระแสข่าวเรื่องภาวะภัยแล้ง ผู้ประกอบการข้าวถุงก็ซื้อข้าวมาเก็บสต๊อกไว้ เพื่อใช้ในช่วงเวลาที่สินค้ายังไม่ออกสู่ตลาด ป้องกันไม่ให้ขาดวัตถุดิบ”

แต่พอหลังจากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย สต๊อกข้าวสารที่เก็บไว้ปริมาณมาก ๆ ก็เป็นปัญหา เพราะตอนซื้อขณะนั้นราคาข้าวสารหอมมะลิต้นทุน กว่าตันละ 30,000 บาท แต่ตอนนี้ราคาข้าวสารในตลาดลดลงเหลือตันละ 23,000 – 24,000 บาท ส่วนข้าวขาว 5% จากที่ซื้อตันละ 18,000 บาท ราคาตลาดเหลือ ตันละ 13,000 บาท ลองคำนวณดูหายไปตันละเท่าไร?

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเกิดภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าในประเทศได้ ห้างปิด ร้านอาหารปิด 2-3 เดือน นับจากปลายเดือนมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม ก็เหลือแต่คนไทย ซึ่งนับวันจะทานข้าวปริมาณเฉลี่ยต่อคนต่อกิโลกรัมลดลง ทำให้ปริมาณข้าวที่ผลิตได้เท่าเดิม ก็เหลือค้างสต๊อก

โรงสี/ผู้ประกอบการข้าวถุงแก้ไขปัญหาสต๊อกลอสอย่างไร

ทางออกเลยคือ ซื้อข้าวสารในตลาดที่มีราคาถูกลง ไปเก็บสต๊อก เพื่อถัวเฉลี่ยกับข้าวสารที้ต้นทุนแพง ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลงมาได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละรายว่าจะทำได้มากน้อยเท่าไร

“ถามว่าผลกระทบเกิดขึ้นมากน้อยเท่าไร ขึ้นอยู่กับคนเก็บสต๊อกเท่าไร เก็บมาก เจ็บตัวมาก”

มีโอกาสจะปรับลดราคาข้าวถุงไหม ?

ก็มีโอกาสลดลง แต่จะไม่ได้ลดลงในสัดส่วนเท่า ๆ เท่ากัน เช่น ต้นทุนข้าวสารลดลง ตันละ 8,000 บาท หรือ กก.ละ 8 บาท แต่ข้าวถุงจะไม่ได้ลด กก.ละ 8 บาท เช่นเดียวกันกับข้าวสาร

เพราะผู้ผลิตแต่ละรายมีปริมาณการเก็บสต๊อกไม่เท่ากัน ฉะนั้น ต้นทุนสต๊อก เมื่อหารเฉลี่ยออกมาแล้วก็จะไม่เท่ากัน

ผู้ประกอบการข้าวถุงโกงคนบริโภคได้หรือไม่ ที่ว่าข้าวลงแต่อ้างไม่ลดราคา

จริง ๆ ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะตลาดข้าวถุงเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ หมายถึง จำนวนผู้แข่งขันหลายราย และมีการแข่งราคาอย่างอิสระ เทียบกับสินค้าหลายอย่างที่มีเพียงไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น

สรุปได้ว่า โอกาสจะที่ผู้ประกอบการแกงคนกิน ไม่ลดราคา ก็ยาก แต่จะลดลงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละราย

ข้อมูลภาพรวมตลาดข้าวถุงไทย

โดยปกติไทยจะผลิตข้าวสารเฉลี่ย 20 ล้านตัน/ปี แบ่งเป็นบริโภคภายในและส่งออกสัดส่วน 50:50

ข้าวส่วนที่บริโภคภายในจะมีทั้งการขายเป็นข้าวสารตักตวงตามตลาด และขายบรรจุถุง ส่วนช่องทางจำหน่ายจะมีการขายผ่านโมเดิร์นเทรด สัดส่วนประมาณ 30% และขายผ่านเทรดดิชั่นนอลเทรด (ค้าปลีก / โชวห่วย) ประมาณ 70%

ปัจจุบันแบรนด์ข้าวถุงมีจำนวนมากเป็นร้อยแบรนด์ แต่เจ้าตลาดที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ ข้าวหอมมะลิตราฉัตร ซึ่งผลิตโดยกลุ่มซีพี (ซีพีอินเตอร์เทรด) ครองอันดับ 1 ในตลาด มีส่วนแบ่งตลาด 20% รองลงมา คือ ข้าวหงษ์ทอง กลุ่มเจียเม้ง และข้าวมาบุญครอง จากปทุมไรซ์มิว สัดส่วนจะประมาณรายละ 10% แต่หากนับรวมข้าวหอมมะลิเกรดทั่วไปที่ไม่ใช่พรีเมียมด้วยแล้ว จะมีข้าวเบญจรงค์ของกลุ่มเอเซียโกลเด้นไรซ์ เป็นอันดับ 2 ในตลาดรองจากตราฉัตร