“จุรินทร์” เร่งเครื่องแก้ปมค่าระวางเรือ

สภาผู้ส่งออกหวั่นอินโดนีเซียกลายเป็นฮับขนส่งสินค้าทางเรือหลังค่าระวางพุ่ง-ตู้คอนเทนเนอร์ขาด ยื่น 6 ข้อเสนอรัฐเร่งแก้ ด้าน “จุรินทร์” เตรียมนั่งหัวโต๊ะเรียกประชุมทุกหน่วยงาน 14 ธ.ค.นี้

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ปัญหาการปรับขึ้นค่าระวางเรือในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีทิศทางจะปรับลดลง ประกอบกับปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยอย่างมาก และจะกระทบต่อเนื่องไปถึงการส่งออกปี 2564 โดยเอกชนกังวลว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้สายเรือหันไปใช้อินโดนีเซียเป็นฐานการขนส่งสินค้าทางเรือแทนที่จะใช้ประเทศไทยเป็นจุดขนส่งสินค้า ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในอนาคต

“จากปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น มีผลจากสายเรือมีนโยบายจัดสรรค่าระวางตู้สินค้า (space allocation) และจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียน (container allocation) กลับไปยังประเทศจีนและเวียดนามมาก เนื่องจากการเติบโตด้านการส่งออก อีกทั้งอัตราค่าระวางทั้ง 2 ประเทศที่สูงกว่าไทย 2 รวมไปถึงการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้ตู้สินค้าตกค้างที่ปลายทางเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณตู้สินค้าที่ต้องหมุนเวียนกลับสู่ระบบหายไปมีผลต่ออัตราค่าระวางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าระวางเรือเป็นไปตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นแต่ก็ถือว่าเป็นการสูงขึ้นเท่าตัว จากข้อมูล Shanghai Containerized Freight Index (SCFI) ที่ได้เปรียบเทียบอัตราค่าระวางระหว่างช่วงพฤศจิกายน พบว่า ค่าระวางมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางยุโรป จาก 1,140 เหรียญสหรัฐ เป็น 2,091 เหรียญสหรัฐ เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนเดิม 1,329 เหรียญสหรัฐ ปรับขึ้นเป็น 2,219 เหรียญสหรัฐ เส้นทางอเมริกาฝั่งตะวันตกเดิม 3,849 เหรียญสหรัฐ ปรับเป็น 3,880 เหรียญสหรัฐ และเส้นทางอเมริกาฝั่งตะวันออกเดิม 4,641 เหรียญสหรัฐ ปรับเป็น 4,708 เหรียญสหรัฐ ส่วนเส้นทางที่ค่าระวางปรับลดลง มีเพียงเส้นทางแอฟริกาใต้เดิม 1,979 เหรียญสหรัฐ ปรับลงมาเป็น 1,818 เหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สภาผู้ส่งออกยื่นข้อเสนอแนะระยะสั้น ประกอบด้วย

1.ขอให้สายเรือคงอัตราค่า local charge เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการไทยไปก่อน

2.ขอให้ภาครัฐควรพิจารณามาตรการจูงใจให้สายเรือนำตู้เปล่ามายังประเทศไทย เช่น การยกเว้นค่ายกขนตู้เปล่ากลับมาประเทศไทย การยกเว้นค่าภาระท่าเรือให้กับเรือขนส่งสินค้าเป็นการชั่วคราว เป็นต้น

3.ขอให้ภาครัฐเจรจาในระดับประเทศเพื่อหาแนวทางส่งตู้ส่วนเกินในประเทศที่มีการนำเข้ามากกว่าส่งออกกลับมาให้ประเทศไทย

ขณะที่การแก้ไขปัญหาระยะยาว คือ

1.การรวมกลุ่มผู้ประกอบการแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อเจรจา service contract ระยะยาวในแต่ละเส้นทางกับสายเรือเพื่อให้ได้อัตราค่าระวางเรือที่เหมาะสม

2.ส่งเสริมอุตสาหกรรมซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศไทย เพื่อให้มีปริมาณตู้หมุนเวียนมาในประเทศไทยมากขึ้น

3.ให้ใช้การเจรจาในระดับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งตู้สินค้าทางถนนไปยังประเทศจีน ทั้งสินค้าที่มีปลายทางที่จีน และสินค้าที่ต้องการขนส่งต่อไปยังยุโรปทางรถไฟ โดยเชื่อว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขจะทำให้ช่วยกระตุ้นการส่งออกไทย รวมไปถึงการลดต้นทุนด้านการขนส่งไทยในระยะยาวได้

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า จากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ค่าระวางมีการปรับขึ้นมานานกว่า 1 เดือน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และมอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ติดตามแก้ไขปัญหา

โดยจะมีการประชุมด้วยตัวเองในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ พร้อมตรวจเยี่ยมท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมอบให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต (TLAPS) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย

รวมถึงหน่วยงานภายใต้กระทรวงพาณิชย์ด้วย เป้าหมายจะเร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกโดยเฉพาะการดูแลค่าบริการภายในประเทศ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ส่งออกและดันการส่งออกต่อเนื่องไปถึงปีหน้า