CPF สู้โควิด-19 เจาะไข่แดงมหาชัย ปลอดเชื้อทั้งคนทั้งกุ้ง

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นจากแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาคร บริเวณตลาดกลางกุ้ง-ตลาดทะเลไทย เข้าสู่กลุ่มคนงานทั้งคนไทยและต่างด้าวที่ทำงานในโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและแช่แข็งบริเวณ “ถนนเศรษฐกิจ 1” ส่งผลให้ถนนเส้นนี้กลายเป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดอย่างหนักที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันเนื่องจากมีจำนวน “คนงาน” เป็นพัน ๆ คนที่กลายเป็นกลุ่มเสี่ยง จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังตรวจเชื้อตามมาตรการเชิงรุกไม่เสร็จสิ้นท่ามกลางความกังวลที่ว่า ยิ่งตรวจยิ่งเจอ ส่งผลให้ต้องปรับวิธีการบริหารจัดการกับผู้ติดเชื้อและกลุ่มผู้เฝ้าระวังด้วยการดัดแปลงโรงงานให้กลายเป็น factory quarantine

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มโรงงานที่ตั้งอยู่บนถนนเศรษฐกิจ 1 กลับมีโรงงานแห่งหนึ่งใน กลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 ในคนงานทั้งหมด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารถึงกลยุทธ์การ “ตั้งการ์ด” ของ CPF ที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวในสังกัดนับหมื่นคนในอุตสาหกรรมฟีด-ฟาร์ม-ฟู้ดของ CPF ทั่วประเทศ

Q : โควิดที่สมุทรสาครกระทบหรือไม่

ในแง่ยอดขายของ CPF ไม่ได้รับผลกระทบแต่ปรากฏว่ายอดขายสินค้าในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาคือพีกมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมองว่าปี 2563 จะเป็นปีที่ CPF มีผลประกอบการนิวไฮ ส่วนสำคัญเป็นเพราะเรามีการลงทุนในอุตสาหกรรมหมูที่ประเทศจีนด้วย ทีนี้ถ้ามาโฟกัสที่โรงงานของเราในสมุทรสาคร ปรากฏมีอยู่ 1 โรงงานที่ทำอาหารพร้อมทานหรือ ready meal ทำพวกนักเก็ต แต่โรงงานนี้ไม่ได้ทำกุ้ง ฟาร์มกุ้งของเรามาจากระยอง ไม่ได้ส่งมาที่โรงงานสมุทรสาครมีส่งไปแค่โรงงานเกี๊ยวกุ้งที่ระยองและขายตรงกับลูกค้าเลย

Q : CPF จัดการอย่างไร

จริง ๆ แล้วเราตรวจโควิด-19 เยอะกว่าเจ้าอื่นอีก เพื่อสร้างความมั่นใจ ที่ผ่านมาบริษัทมีการอนุมัติงบประมาณเฉพาะค่าตรวจสอบเชื้อโควิด-19 ให้กับพนักงานเป็นวงเงินนับสิบล้านบาท คือตรงนี้ต้องอธิบายว่า 1) เราตรวจพนักงานขายทั่วประเทศเลย เพราะเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น นึกถึงว่าเราเป็นพนักงาน เราก็ย่อมอยากรู้ว่า “แล้วตัวฉันจะปลอดภัยหรือไม่” ดังนั้นเราจึงเอาเซลส์ของบริษัททั้งหมดกว่า 2,000 คนมาตรวจโควิดหมดเลย ส่วนพนักงานที่ทำงานในโรงงานพื้นที่เสี่ยง เราก็ให้ตรวจหมดแบบ 100%

แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า การตรวจสอบเชิงรุก มีวิธีการตรวจหลายแบบ อย่างต่ำ 3 แบบ ตั้งแต่การตรวจแบบ PCR มีค่าตรวจแพงมากประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อราย ซึ่งเราก็ใช้วิธีแบบ PCR ตรวจสอบเฉพาะกลุ่มแรงงานเมียนมา ที่มีความเสี่ยงสูงสุด เคสแบบนี้จำเป็นต้องตรวจสอบแบบซีเรียส มีการจ้างหมอไปตรวจให้พนักงานและอีกแบบ เราตรวจโดยชุดตรวจ (test-kit) ทำ 3 รูปแบบ โดยกลุ่มเซลส์ที่ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแต่ต้องเดินทางไปเจอลูกค้าก็กังวลว่า ตัวฉันเป็นโควิดหรือเปล่า มีความกลัว เราก็จับตรวจหมด

Q : ผลตรวจเชิงรุกพบหรือไม่

ไม่เจอ จริง ๆ โรงงาน CPF เป็นโรงงานที่มีมาตรฐานสูงมากมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดแล้วนะ ในบริเวณโรงงานของเรามีตึกจุดที่เราให้คนงานพักอาศัย ทำเป็นบ้าน กำหนดให้พักหลังละ 2 คน ห้ามไม่ให้เพื่อนเมียนมาที่ไม่ได้ทำงานกับเราเข้ามาโดยเด็ดขาด มีการสุ่มส่งคนไปตรวจ การเดินทางของแรงงานมีการจัดรถให้ พอขึ้นรถปุ๊บ ต้องล้างมือ ในรถก็ต้องนั่งมีช่องว่างห่างกัน ห้ามไม่ให้นั่งรถขนส่งสาธารณะ และบางจุดเราก็เช่าที่พักเพื่อให้อยู่รวมกันไปเลย สถานการณ์ของเราตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีโรงพยาบาลสนามมารองรับ แต่มีระบบการดูแลของโรงงานอยู่แล้ว

Q : สร้างความมั่นใจในสินค้าอย่างไร

ผมยกตัวอย่างสินค้ากุ้ง ภาพรวมตลาดกุ้งต้องอธิบายก่อนว่า กุ้งที่ซื้อขายกันในประเทศปัจจุบันเป็นกุ้งตกเกรดส่งออก กุ้งพวกนี้ทางโรงงานก็จะส่งไปขายที่ตลาด ทางตลาดก็ไปคัดแล้วใส่น้ำเข้าไป แต่ในระบบของ CPF เราไม่ทำแบบนี้ เราไม่ใช่กระบวนการแบบนี้ เราทำระบบแพ็กกิ้งที่ฟาร์มเลี้ยงกุ้งเลย แล้วจากนั้นส่งกุ้งตรงไปที่ลูกค้า เราทำ 100% แบบนี้คือกุ้งของ CPF ไม่ได้หมักน้ำ การทำกระบวนการแบบนี้กุ้งจะผ่านอากาศน้อยมาก เนื้อจะแข็ง-เด้ง เราไม่ทำแบบเกนเวตเกนไซซ์ คือไม่เอากุ้งไปแช่น้ำ

ตามปกติทั่วไปฟาร์มจะส่งกุ้งไปโรงงานคัดไซซ์นี่คือมาตรฐานส่งออก แต่ CPF คัดไซซ์กุ้งที่ฟาร์มและแพ็กที่ฟาร์มเลย ดังนั้นกุ้งจะถูกนำขึ้นมานิดเดียวและถูกฟรีซแบบแช่เย็นทันทีเป็นน้ำแข็ง กล่าวคือ ในกล่องปูน้ำแข็งลงไปก่อน จากนั้นใส่กุ้ง ใส่เกลือไม่ให้น้ำแข็งแน่น แล้วใส่น้ำแข็ง ใส่กุ้ง โดยพยายามทำเวลาให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้น้ำแข็งละลาย เช็กอุณหภูมิตลอด

วิธีการที่เราทำแบบนี้เป็นเหตุให้ราคากุ้งของเราออกมาแพงกว่าชาวบ้าน เฉลี่ย กก.ละ 10-20 บาท แต่คนอื่นถูกกว่า เขาแถมน้ำให้อีก 10% เข้ามา ซึ่งข้อเสียก็คือ พอมีน้ำในนั้น ความหวานของกุ้งมันออกมา และถ้าน้ำไม่สะอาดก็มีเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปในตัวกุ้งอีก นี่จึงเป็นสาเหตุที่บางครั้งผู้บริโภคคิดว่าแพ้กุ้ง และพอขนส่งมาถึงตลาดสดบางแห่งมีการใส่ยาเข้าไปอีก

CPF ประสบความสำเร็จด้วยวิธีการฟรีซแบบนี้ เราจะไม่ไปทำกำไรอะไรที่ทำให้สุขภาพไม่ดี เรามั่นใจว่ากุ้งจากฟาร์มเฟรชที่สุด เพราะที่ฟาร์มก็ลงทุนเทคโนโลยีมากเพื่อจะให้กุ้งสดที่สุด เรียกว่าแทบจะต้องจับเวลาในการทำกุ้งกันเลย

Q : สถานการณ์ราคากุ้ง

ตอนแรกราคากุ้งตกไปนิดหน่อย แต่ตอนนี้ราคาปรับขึ้นมาแล้ว กลับขึ้นมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดปัญหาโควิด-19 วอลุ่มก็กลับมาแล้ว อุตสาหกรรมกุ้งดีขึ้นหมดเลย ปกติเฉลี่ยขายในประเทศจะปีละ 10,000 กว่าตัน ปีนี้คิดว่าจะมากขึ้น ถึงแม้ว่าคนจะตื่นกลัวกุ้งจากเหตุการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกสอง

แต่ผมมั่นใจว่า กุ้งมาตรฐานเราดี และเราให้ความมั่นใจกับลูกค้า ให้ลูกค้าเอาป้ายไปติดเลย ร้านไหนไม่มั่นใจเราออกจดหมายรับรองเลยว่า กุ้ง CPF ปลอดภัยแน่นอน