“PTTOR” โตเท่าตัวปี’68 แตกไลน์ธุรกิจใหม่รุก “อีวี” เสริมแกร่ง

นับเป็นบริษัทที่ถูกสปอตไลต์สาดส่องมากที่สุดในนาทีนี้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR บริษัทลูก “ปตท.” ที่กำลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) 2,610 ล้านหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คาดว่าหุ้น OR จะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุดในปีนี้ ถึง 54,000 ล้านบาท

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR พร้อมด้วยนางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กรนวัตกรรมและความยั่งยืน และ นายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน เปิดเผยแผนการขยายการลงทุนระยะ 5 ปี (2564-2568) วงเงิน 74,600 ล้านบาทใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ น้ำมัน ค้าปลีก และบริการอื่น และธุรกิจในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตเท่าตัวในปี 2568

เป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน

ผู้บริหาร OR ฉายภาพว่า เม็ดเงินลงทุนจะถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก 34.6% หรือราว 25,811.6 ล้านบาท ลงทุนในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ซึ่งยังเป็นแพลตฟอร์มหลักที่จะผลักดันให้ธุรกิจเติบโต โดยมีแผนขยาย PTT Station 100 แห่งต่อปี (กราฟิก) โดยใช้กลยุทธ์ให้ผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ลงทุนและบริหารในสัดส่วน 80% ส่วนโออาร์ลงทุน 20%

ส่วนที่ 2 สัดส่วน 28.6% หรือราว 21,335.6 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ non-oil (ค้าปลีกและบริการ) ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าน้ำมัน โดยเฉพาะคาเฟ่อเมซอนปัจจุบันมียอดขาย 264 ล้านแก้วต่อปี ถือเป็นอันดับ 12 ของโลก จะขยายจาก 3,168 เป็น 5,200 แห่งในปี 2568 เน้นแฟรนไชส์ 60% นอกสถานีบริการปั๊มน้ำมันมีอัตราเติบโตสูงกว่า

ทั้งนี้ จะมีอัพเกรดบริการผ่านสมาชิกบัตร Blue Card ซึ่งปัจจุบันมี 6.7 ล้านสมาชิก เชื่อมโยงแอปพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกและเก็บข้อมูล โดยใช้ big data analytic วิเคราะห์พฤติกรรมให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล

ปูพรมขยายธุรกิจต่างประเทศ

ส่วนที่ 3 สัดส่วน 21.8% หรือราว 16,262.8 ล้านบาท จะขยายการลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ จากปัจจุบันมี 10 ประเทศ โดยร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น (JV) ซึ่งประเทศเป้าหมายคือ ฟิลิปปินส์, กัมพูชา และ สปป.ลาวจะขยาย PTT Station 350 แห่ง ร้านคาเฟ่อเมซอน 310 แห่ง และรุกตลาด LPG ควบคู่ไปกับการสร้างคลังปิโตรเลียม และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น PTT Lubricants

ล่าสุดใน “เมียนมา” อยู่ระหว่างลงทุนก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันและคลัง LPG เพื่อจำหน่ายแบบ B2B ควบคู่กับการขยาย PTT Station และคาเฟ่อเมซอน ส่วนตลาด “จีน” จะขยายคาเฟ่อเมซอนน้ำมันหล่อลื่น PTT Lubricants ส่วน “โอมาน” สิทธิ์ในการเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของโอมาน เพื่อขยาย PTT Station และล่าสุดโออาร์ได้จัดตั้งบริษัท JV กับกลุ่มเซ็นทรัลเพื่อขยายคาเฟ่อเมซอนในใจกลาง “เวียดนาม”

ต่อยอดธุรกิจใหม่

ความสำเร็จธุรกิจน็อนออยล์ ทำให้ OR มองถึงโอกาสการขยายไลน์ธุรกิจสู่การลงทุน “ธุรกิจใหม่” ทั้งโรงงานเบเกอรี่ โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม ศูนย์กระจายสินค้าอัตโนมัติ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความเพียงพอของทั้งซัพพลายเชน รวมไปถึงเข้าซื้อแบรนด์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของการบริการ ส่วนร้าน Texas Chicken จะขยายอีกกว่า 20 แห่งต่อปี และอาจขยาย “แฟรนไชส์” ด้วย

พร้อมกันนี้ OR ยังจัดสรรเงินลงทุนอีก 15% หรือราว 11,190 ล้านบาท ไปสู่ธุรกิจที่เชื่อมโยง mobility ecosystem หรือ lifestyle ecosystem โดยมองโอกาสในธุรกิจใหม่อย่างสถานีชาร์จไฟฟ้ากับรถยนต์อีวี (EV) ซึ่งขณะนี้ทดลองให้บริการที่ PTT Station แล้ว 25 แห่ง จะเพิ่มให้ครอบคลุมทุกเส้นทาง และจะเชื่อมโยง FiT Auto ให้บริการซ่อมรถ EV ทั้งนี้ โออาร์ต้องการออกแบบ ecosystem สู่ “โมเดลธุรกิจใหม่”

ผนึกพันธมิตร “ซีพี ออลล์”

การสร้างพันธมิตรธุรกิจ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกลุ่ม ปตท. ซึ่งนอกจากการพัฒนาบริการด้วยตัวเองแล้ว OR ยังมีการเชื่อมโยงพันธมิตรใหม่ต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยในปี 2563 ลงทุนบริษัทโลจิสติกส์ Flash Express และร่วมทุนกับพีเบอร์รี่ไทย (Peaberry) ขยายธุรกิจกาแฟครบวงจร

ในส่วนของร้านสะดวกซื้อ ซึ่งปัจจุบันมีสัญญากับกลุ่มซีพี ออลล์ “ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น” เหลือ 2 ปี จึงเตรียมต่อสัญญาเฟส 2 ไปอีก 10 ปี เพื่อเป็นพันธมิตรที่เสริมซึ่งกันและกัน

รายได้ 5.7 แสนล้าน

ทั้งนี้ ในปี 2562 โออาร์มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 577,134.0 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 10,896 ล้านบาท ส่วนงวดล่าสุด 9 เดือนแรกของปี 2563 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 319,308 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5,869 ล้านบาท

โควิดไม่สะเทือน

ส่วนผลจากโควิดรอบแรกปี 2563 ทำให้ต้องปิดสถานีบริการไป 1 เดือนบางพื้นที่แค่ 6% ซึ่งทุกอย่างกลับมาปกติแล้ว เหลือเพียงน้ำมันเครื่องบิน

ทั้งนี้โออาร์เดินตามแผนกลยุทธ์ 6 ด้านเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ต่อยอดความสำเร็จธุรกิจ non-oil สู่ระดับโลก ด้วยจุดเด่นที่มีการลงทุนครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานและมีการใช้เทคโนโลยีมาเสริม

“แม้มีโควิด-19 แต่ขอให้มั่นใจว่าแผนการลงทุนที่นำเสนอสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในอนาคตเราจะเป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน แต่จะเป็น energy solution provider”

ปรับโครงสร้าง ปตท.โปร่งใส-เป็นธรรม

กรณีที่มีประเด็นการตั้งข้อสังเกตถึงการปรับโครงสร้างของ ปตท. และการขายหุ้นโออาร์ว่าควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อนนั้น

นางสาวจิราพรกล่าวว่า ที่ผ่านมาการปรับโครงสร้างของ ปตท.ด้วยการแยกธุรกิจออกมาเป็น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ซึ่งเตรียมจะขายหุ้นไอพีโอในเดือน ก.พ. 64 ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบที่สุด โดยการโอนธุรกิจจะไม่มีสาธารณสมบัติของแผ่นดินมายังธุรกิจโออาร์ และราคาจ่ายซื้อธุรกิจจาก ปตท. ด้วยราคามูลค่าตลาด (fair market value) โดยมีผู้ประเมินราคาอิสระ และที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้ประเมินราคา

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR

การโอนธุรกิจเกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.ค. 2561 และในปีนั้น ปตท.ได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีภาษี 2561 ให้กับกระทรวงการคลัง จากส่วนต่างของราคาโอนระหว่างราคาตลาดกับราคาทางบัญชี เป็นจำนวนถึง 16,000 ล้านบาท และตลอดระยะเวลาตั้งแต่ 1 ก.ค. 61 เป็นต้นมา รายงานงบการเงินของทั้ง ปตท.และโออาร์ ได้รับการตรวจสอบรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทั้งสัญญาการโอนกิจการระหว่าง ปตท.กับโออาร์ ตลอดจนสัญญาต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นการตรวจสอบรับรองอย่างไม่มีเงื่อนไข


“ขอให้มั่นใจว่ากระบวนการปรับโครงสร้างของ ปตท.มายังธุรกิจโออาร์ในครั้งนี้ เราทำอย่างโปร่งใส และเปิดเผยต่อเนื่องมาตลอดเวลา”