ส่งออกปี’63 ติดลบหนัก 6% ปีนี้หวังวัคซีนช่วยกู้พลิกกลับเป็นบวก 4%

ภาพโดย Marcus Trapp จาก Pixabay

ส่งออกไทยปี 2563 หด 6.01% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี พาณิชย์คาดวัคซีนฉุดเศรษฐกิจโลกฟื้น ดันส่งออกปี 2564 โต 4% หวังปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ดีขึ้นไตรมาส 2

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ภาพรวมส่งออกปี 2563 มีมูลค่า 231,468.44 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.01% นำเข้ามีมูลค่า 206,991.89 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 12.39% ส่งผลทั้งปuไทยเกินดุลการค้า 24,476.54 ล้านเหรียญสหรัฐ

ล่าสุดเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่าส่งออก 20,082.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.71% เทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน พลิกเป็นบวกในรอบ 8 เดือน เติบโตสูงสุดในรอบ 22 เดือน แม้จะโควิด-19 ระลอกสอง ผลมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการมีวัคซีนโควิด-19 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,119.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.62% ทำให้ไทยมีการค้าเกินดุล 963.58 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ส่งออกทั้งปีต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 แต่ยังถือว่าดีกว่าที่มองไว้ติดลบ 7% เนื่องจากปลายปี สินค้าหลายกลุ่มของไทยฟื้นตัวดี เศรษฐกิจโลกก็เริ่มฟื้น การนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางมีการเติบโต สอดคล้องกับประเทศที่ส่งออกเป็นบวก เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย จีนไต้หวัน”

สินค้าที่ขยายตัวได้ดียังเป็นสินค้า 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) อาหารเช่น ผักและผลไม้ มันสำปะหลังน้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็งสิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์

3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อเช่น เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง เป็นสินค้ามีศักยภาพอย่างมากในช่วงนี้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าที่กลับมาขยายตัวตามเศรษฐกิจโลก อาทิ สินค้าที่เกี่ยวกับภาคการผลิต เช่น เม็ดพลาสติกเคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ สินค้าคงทนที่มีราคาสูงอย่างรถยนต์ ซึ่งเป็นสัญญาณดี

ตลาดส่งออกปี 2563 ตลาดหลักลดลง 1.8% น่าสังเกตว่า สหรัฐเพิ่ม 9.6% ญี่ปุ่นลด 6.7% สหภาพยุโรปลด 12.7% ตลาดศักยภาพสูงลด 8.4% จากอาเซียนเดิม 5 ประเทศลด 12.2% CLMV ลด 11.1% จีนเพิ่ม 2% อินเดียลด 25.2% ฮ่องกงลด 3.6% เกาหลีใต้ลด 10.3% ไต้หวันลด 5.6% ตลาดศักยภาพระดับรองลด 13.1% โดยลดลงหมด ทั้งออสเตรเลียลด 7.6% ตะวันออกกลางลด 13% แอฟริกาลด 19.4% ละตินอเมริกาลด 19% สหภาพยุโรป 12 ประเทศลด 6.4% กลุ่ม CIS รวมรัสเซียลด 21.1% แคนาดาลด 3% ตลาดอื่น ๆ ลด 34.3% ยกเว้นสวิตเซอร์แลนด์เพิ่ม 42.1% จากส่งออกทอง

“แนวโน้มส่งออกปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 4% มีมูลค่า 240,727 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยต้องส่งออกต่อเดือนให้ได้ 20,061 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกจากแรงหนุนวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น นโยบายการค้าสหรัฐที่กลับมายึดกติกา WTO ช่วยแก้สงครามทางการค้าและนโยบายสิ่งแวดล้อมช่วยดันการส่งออกกลุ่มนี้ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ กลุ่มความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ครึ่งหลังปีนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า ราคาน้ำมันที่มีผลต่อสินค้า ทั้งเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก”

ปัจจัยลบต้องติดตามค่าเงินบาทแข็งค่าเทียบกับสกุลเงินคู่แข่งในภูมิภาคส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน อุปสรรคการขนส่งสินค้าจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว แต่เชื่อว่าจะคลี่คลายหลังไตรมาส 1 อุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า เช่น CPTPP ซึ่งไทยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้สินค้าส่งออกไทยเสี่ยงจะสูญเสียแต้มต่อด้านภาษีนำเข้า เสียเปรียบคู่แข่งขัน