โรงงานแห่ซื้อ “ไฟเบอร์อ้อย” ให้ราคาตันละ 1,000 บ. ต่อยอดนวัตกรรม

ไฟเบอร์อ้อยบูม “โรงงานสิ่งทอ กระดาษ พลังงานทดแทน” แห่ซื้อทั้งชานอ้อย แกลบ กาบใบ ดันราคาแตะตันละ 1,000 บาท หวังวิจัยต่อยอดเป็นเส้นใยผลิตเสื้อผ้า กระดาษ และเชื้อเพลิง พร้อมผลักดันขายเชิงพาณิชย์ ด้านสำนักงานอ้อยฯชี้ไฟเบอร์ยังไม่ใช่ผลพลอยได้อ้อยตามกฎหมาย ลุ้นกรรมาธิการแก้ พ.ร.บ.อ้อยฯ จะตีความให้ได้หรือไม่ แต่พร้อมหนุนในแผน BCG ขณะที่บีโอไอเพิ่มประเภทกิจการและยกเว้นภาษีให้ 5 ปี

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้พบมีหลายโรงงานและในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมกระดาษ และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน มีการไล่ซื้อชานอ้อย แกลบ ใบแห้ง เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เส้นใยอ้อยไปทำเสื้อผ้า เยื่อกระดาษ และใช้เป็นวัสดุทดแทนพลาสติก

รวมถึงพลังงานเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความต้องการที่จะสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และต้องการนำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติกลับมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดเพื่อการแข่งขัน และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค

สอดคล้องกับในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ของปริมาณอ้อยที่ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่โรงงานน้ำตาลทรายยังคงมีกำลังการผลิตเท่าเดิม โดยเฉพาะฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 ที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบไม่เกิน 70 ล้านตันเท่านั้น หลายโรงงานไม่เพียงจะนำชานอ้อย หรือไฟเบอร์เหล่านี้ให้เป็นพลังงาน แต่ยังมีการขายไฟเบอร์เหล่านี้ให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วยเช่นกันเพื่อเพิ่มรายได้

“โดยหลักแล้วอ้อยจะมีส่วนที่เป็นไฟเบอร์เหลือจากโรงงานน้ำตาล ตอนนี้ก็จะมีโรงงานอุตสาหกรรมอื่นเข้ามาไล่ซื้อเพราะเขาจะเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างเยื่อกระดาษมีการศึกษาวิจัยมานาน เดิมก็ใช้ต้นยูคาลิปตัส ตอนนี้ไฟเบอร์จากอ้อยต่าง ๆ ก็มาเป็นทางเลือกพวกกลุ่มอุตสาหกรรมซื้อจากโรงงานน้ำตาลก็ได้ ซื้อจากชาวไร่อ้อยก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อไฟเบอร์คือสิ่งที่มีมูลค่าต่อไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกมาก รัฐควรที่จะเข้ามาสนับสนุนให้มีการซื้อขายไฟเบอร์จริงจัง เพื่อที่ผู้ปลูกอ้อยจะได้มีรายได้ไม่เพียงจากการส่งอ้อยเข้าหีบ แต่จะยังมีรายได้จากการขายใบอ้อย ส่วนที่เหลืออื่น ๆ ให้กับอุตสาหกรรมอื่นได้ใช้ประโยชน์ พัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มได้อีก

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ไฟเบอร์จากอ้อยก็คือ ยอด กาบ ใบ และชานอ้อย ปัจจุบันมีการรับซื้อหน้าโรงงาน 800-1,000 บาท/ตัน ซึ่งในบางครั้งก็จะมีโรงงานหรือคนไปรับซื้อที่ไร่ ราคาประมาณ 300-500 บาท/ตัน และขณะนี้มีหลายหน่วยงานได้เริ่มทำการวิจัยใยจากชานอ้อยเอาไปทำเส้นใยเพื่อไปทอผ้า ซึ่งเบื้องต้นนั้นลักษณะเส้นใยของชานอ้อยจะมีลักษณะที่สั้นเกินไป ปัจจุบันจึงยังไม่เห็นการผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาในเชิงอุตสาหกรรม

สำหรับมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐนั้น อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายจะเข้ากับนโยบายเศรษฐกิจ BCG อย่างมาก ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) การนำผลผลิตทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การเปลี่ยนของเสียจากการผลิตกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เศรษฐกิจสีเขียว (green economy)

การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์เพื่อการฟอกกระดาษ โดยขณะนี้มีหลายมาตรการจะเริ่มทยอยออกมา เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เพิ่มประเภทกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้ หรือเศษวัสดุทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่มาจากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุหรือของเสียจากการเกษตร ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งก็ถือว่ารัฐเริ่มมีการสนับสนุนในทิศทางเดียวกับที่อุตสาหกรรมและชาวไร่ต้องการ

“ปกติชานอ้อยจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทำไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต และที่เหลือก็จะไปทำไฟฟ้าชีวมวล ในระบบจะไม่มีเหลือทิ้ง จึงเป็นที่มาว่าชาวไร่อยากจะเอากากอ้อยนี้คิดเป็นผลพลอยได้ของระบบ จะได้เงินค่าอ้อยเพิ่ม”

“ซึ่งประเด็นนี้ก็กำลังอยู่ในการหารือกันในกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายในสภาขณะนี้ ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นไฟเบอร์ ชานอ้อย กากอ้อย ยังไม่นับเป็นผลพลอยได้ในระบบอ้อยน้ำตาล จนกว่า พ.ร.บ.อ้อยฯจะแล้วเสร็จ และออกมาเป็นอย่างไร ตอนนี้ผลพลอยได้ในระบบจะมีตัวเดียวคือ กากน้ำตาลเท่านั้น”

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มมีการรับซื้อเยื่ออ้อย เพื่อมาวิจัยสำหรับใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้ามานานแล้ว แต่ด้วยต้นทุนวัตถุดิบจากเยื่ออ้อยยังมีต้นทุนสูงยังไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนในเชิงพาณิชย์

ประกอบกับในส่วนของใยที่จะสามารถดึงมาใช้ในการผลิตได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับฝ้ายที่เส้นใยสามารถใช้ถึง 100% ทำให้การผลิตใยจากเยื่ออ้อย จึงยังคงเป็นเพียงการรับซื้อเพื่อวิจัยในการผลิตเท่านั้น และไม่เพียงแค่เยื่ออ้อยที่นำมาทดลองผลิตเสื้อผ้า นอกจากเยื่อจากอ้อยแล้วยังมีการศึกษาวิจัยการผลิตเส้นใยจากพืชชนิดอื่นด้วย เช่น เยื่อจากกล้วย ไผ่ หมาก ใบกัญชง สับปะรด เป็นต้น