ครั้งแรก! เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์ ร่วมวง “คลับเฮ้าส์” เอสเอ็มอีคลินิก

ธนินท์-ซีพี

ครั้งแรก! “ธนินท์ เจียวรนนท์” แลกเปลี่ยนมุมมองช่วยเอสเอ็มอีใน “คลับเฮ้าส์” คนฟัง 8 พันคน ชี้วิกฤตโควิดคือโอกาส เร่ง 4.0 มาเร็วขึ้น

แนะรัฐหนุนสตาร์ทอัพ “เถ้าแก่เกิดใหม่” ปลดล็อกการตั้งกองทุน เว้นภาษี ผ่อนคลายกฎดึงคนเก่งทำงานในไทย “ซีพี” ลุยก่อนปั้นกองทุนสตาร์ทอัพ 100 ล้านเหรียญ เฟ้นหาธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์ 4.0 พร้อมเสริมกองทุนใหญ่ดึงสู่เส้นทางธุรกิจ 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.30 -12.05 น. นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์  ได้เข้าร่วมให้ความเห็นหัวข้อ SME Clinic ในแอปพลิเคชั่นคลับเฮ้าส์ โดยมีหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้เข้าร่วมฟัง 8,000 คน พร้อมแนะนำไอเดียนำธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด

“ผมตื่นเต้นเหมือนกันที่ได้เข้าคลับเฮ้าส์ เพราะรู้สึกว่าในคลับเฮ้าส์มีคนที่ตั้งใจจริงๆที่จะมาฟังและพูด ซึ่งผมจะให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจเพราะเป็นเรื่องถือผมถนัดและหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ” นายธนินท์กล่าว

ประเด็นสำคัญที่ นายธนินท์  ชี้ให้เห็นว่าโควิดเป็นตัวเร่งให้เข้าสู่ยุค 4.0 ได้เร็วขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีและมีการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตทำให้สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ในส่วนของธุรกิจเครือซีพีก็มีการปรับเปลี่ยนจุดนี้ไปอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในด้านสตาร์ทอัพ หรือเรียกว่า เถ้าแก่เกิดใหม่ 

“ผมสนใจเรื่องสตาร์ทอัพ เพราะเด็กวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ยุค 4.0 จะทำให้ธุรกิจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่โควิดทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดเร็วขึ้น ตลอดชีวิตของผมที่ผ่านมาผมมองว่าวิกฤตตามด้วยโอกาส และโอกาสก็ตามมาด้วยวิกฤตได้เช่นกัน ผมเจอมาตลอด”

หากเปรียบเทียบวิกฤตโควิดกับต้มยำกุ้ง ผมว่าวิกฤตครั้งนี้รุนแรงไปทั่วโลก ส่วนวิกฤตต้มยำกุ้งจำกัดเฉพาะในเอเซีย เมืองไทยยังมีโอกาสขยายการส่งออกสินค้า จริงๆแล้วตอนนั้นเมืองไทยจะไม่เสียหายมาก แต่ผู้นำประเทศบริหารไม่เป็นนโยบายก็ผิด เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่สกัดไฟแต่ต้นลม 

สำหรับวิกฤตโควิดครั้งนี้ผมมองว่าจะเป็นโอกาสหลังจากนี้ทุกคนจะอยากมาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย มาใช้ชีวิตในประเทศไทย เพราะโควิดประกอบกับ  4.0 ทำให้สามารถทำงานและใช้ชีวิตที่ไหนก็ได้ เมื่อพ้นวิกฤตแล้วคนที่อัดอั้นก็จะมีการเดินทางมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งสำคัญเราต้องเตรียมพร้อม 

“วันนี้สตาร์ทอัพประเทศไทยยังขาดการสนับสนุน ทั้งที่คนไทยเก่ง สตาร์ทอัพ หรือเถ้าแก่เกิดใหม่ แต่รัฐบาลไม่ได้เอื้อ ถึงบอกว่าจะส่งเสริมแต่ไม่ได้ทำจริง ทำให้สตาร์ทอัพต้องไปจดทะเบียนในต่างประเทศ สิงคโปร์ ฮ่องกง อเมริกา กองทุนไม่มาประเทศไทย เพราะรัฐบาลเก็บภาษี ทั้งที่ผมบอกว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพยังมีความเสี่ยง ควรจะช่วยส่งเสริมให้ดึงคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามา แต่ก็มีกฎระเบียบยุ่งยากต้องไปรายงานตัวทุก 3 เดือน”

เหตุผลที่ผมบอกว่าไทยต้องปรับตัว เพราะไทยจะไม่สามารถแข่งขันโดยใช้แรงงานราคาถูกได้เช่นเดิม แต่ต้องใช้เทคโนโลยีใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะ เราจะไม่มีเกษตรกร การขายสินค้าเกษตรจะทำบนเว็บไซต์ ต้องไปดูว่าประเทศไหนมีอะไร เปรียบเทียบกับเค้า แล้วพัฒนาต่อยอด 

“ประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาส โดยเฉพาะสตาร์ทอัพแต่รัฐบาลต้องเข้าใจจะมาเก็บภาษี เข้ามาทำงานก็ยาก ทุก 3เดือนต้องรายงานตัว เราต้องปรับโดยการดึงคนเก่งเข้ามา มาดึงให้คนไทยเก่งขึ้นไปอีก กองทุนสตาร์ทอัพต้องมาเมืองไทย ต้องไม่มีภาษี”

ในส่วนการลงทุนด้านสตาร์ทอัพนั้น ผมได้ตั้งกองทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แนวทางการทำธุรกิจของผมคือการต่อยอด โดยผมจะเลือกดูธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็น 4.0 หรือไม่ เป็นธุรกิจใหม่หรือไม่ เพราะถ้าไปลงทุนแบบเก่าจะสู้คนเก่าได้อย่างไร เราต้องทำใหม่ และไปต่อยอด เช่น ถ้าจะเลือกของมาขายในเซเว่นฯ ต้องไปดูว่า สินค้านั้นเหมาะจะขายในเซเว่นไหม ผลิตได้ของดีราคาถูกไหม พอรู้ข้อมูลแล้วก็ต้องเข้าไปช่วย ส่งเสริม เช่น จะบริหารจัดการอย่างไร ซื้อวัตถุดิบอย่างไร เพื่อให้สินค้าที่มีคุณภาพ เราเน้นขายสินค้าที่มีคุณภาพ ถ้าไม่มีเราไม่ทำ 

ประธานอาวุโส ยังให้คำแนะนำว่า เรื่องการพัฒนาคนถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาทีมงาน เพราะยุค 4.0 นั้น หมดยุค One Man Show แล้ว ต้องมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี ทำการตลาด และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทีมงาน 

“หลักการของผมในการปลุกพลังคนทำงานคือ ให้โอกาส ให้อำนาจตัดสินใจ ให้เงิน ให้เวที ต้องให้เค้าลองผิดลองถูก สำคัญมากโดยเฉพาะการลองผิด แต่ผิดวันนี้ ต้องแก้พรุ่งนี้ และห้ามผิดซ้ำ แต่ผมจะไม่ไปครอบงำเค้าเพราะต้องเอาประสบการณ์คนรุ่นใหม่มาใช้ เราชี้แนะได้แต่อย่าชี้นำ ถ้าไปครอบงำก็ไม่เกิดการเปลียนแปลง คนที่ทำผิดมากคือคนที่ทำมาก คนที่ไม่ทำผิดเลยคือไม่ได้ทำอะไรก็ไม่ผิด”

นายธนินท์ กล่าวอีกว่า หลังจากส่งเสริมสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จแล้ว ทางกลุ่มซีพีมีแนวคิดที่จะตั้งกองทุนขึ้นมาอีกกองทุน เพื่อต่อยอดการลงทุนธุรกิจนั้นต่อ

“ผมก็เพิ่งเริ่มเรื่องสตาร์ทอัด ถือว่าใหม่ แต่ผมชอบต่อยอดไม่คิดจากศูนย์ ผมจะไปดูคนที่ประสบความสำเร็จ ไปร่วมลงทุนกับเค้า เช่น ที่เคยไปดูกุ้งขาวในอเมริกาและนำมาพัฒนาที่ไทย ก่อนส่งกลับไปขายที่อเมริกา หรือการลงทุนฟาร์มไก่เนื้อสายพันธุ์ใหม่ที่ได้ความรู้มาจากอเมริกาทำให้สามารถพัฒนาไก่ที่มีน้ำหนัก 1.5กก.ได้เร็วขึ้นจากเดิมเคยใช้เวลาเลี้ยง 5-6 เดือน ก็ลดลงเหลือ8อาทิตย์ ต่อยอดความรู้แล้วนำมาพัฒนาธุรกิจ จนผมส่งออกไก่ไปขายญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกาได้” 

พร้อมกันนี้ นายธนินท์ยังให้คำแนะนำธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาจากโควิด 4-5 รายอาทิ ผู้ใช้ชื่อ Joe ProPlugin ที่นำเข้าอุปกรณ์เครื่องดนตรีและอุปกรณ์สำหรับทำคอนเท็นต์ ที่ต้องการขยายธุรกิจ ได้รับคำแนะนำว่าต้องดูสินค้าพระเอกของเราเป็นหลัก ต้องเลี้ยงธุรกิจไว้ มองจังหวะการลงทุนหากพร้อมค่อยลงทุน หรือหากต้องลงทุนต้องหาทางผนึกกำลัง โดยให้แนวคิดว่าการทำธุรกิจในยุค 4.0 ต้องมีความรวดเร็วก็จริง แต่ก็ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพด้วย 

หรือธุรกิจ ArLong ที่ทำทัวร์ ไกด์ขนาดจิ๋ว หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น ทัวร์ กระเป๋าเดินทาง ก็ขอให้ปรับตัวหาทางอยู่รอด โดยการต่อยอดขยายไปธุรกิจที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น กระเป๋าเดินต่อยอดไปสู่แพ็กเก็จจิ้ง ไม่ต้องข้ามไปไกลมาก แต่ต้องเลี้ยงธุรกิจให้รอดไปได้ก่อนรอวันที่พ้นวิกฤต และ ขอให้รัฐบาลดูแลธุรกิจเหล่านี้ เหมือนรัฐบาลอังกฤษที่ดูแลกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวไม่ปล่อยทิ้ง เพราะมองข้ามวิกฤตไปแล้วธุรกิจนี้จะกลับมามีโอกาสอีกครั้ง