ลุ้น อย.ปลดล็อกถือครองกัญชา ส.อ.ท.หวั่นกฎไม่เคลียร์ โรงงานลงทุนเคว้ง

ผลิตภัณฑ์กัญชา

ส.อ.ท.เปิดเวทีถกปมร้อน ปลดล็อก “กัญชง-กัญชา” เชิงพาณิชย์ยังมีข้อจำกัดเพียบ ด้าน อย.เผยเตรียมประกาศปลดล็อกให้อีก 3 กลุ่ม “ผู้ขนส่ง ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศ ผู้ขออนุญาตอื่นพิเศษ” มีสิทธิครอบครองได้ เอกชนหวั่นส่งเสริมปลูกจนผลผลิตล้นตลาด ดีมานด์-ซัพพลายไม่สมดุล คุมปริมาณการใช้ หวั่นใช้ในผู้ป่วยทางจิตกลับส่งผลลบในทางรักษา

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวในงานเสวนา “กัญชง กัญชา อนาคตอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า กัญชงและกัญชาจากเดิมใช้เพื่องานวิจัย และทางการแพทย์เท่านั้น แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีกฎหมายออกมารองรับ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ส่งผลให้ในหลายอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์เพื่อนำไปต่อยอด ใช้เพื่อด้านงานวิจัยพัฒนาสินค้าอาหาร ยา เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมเสริมอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ฉนวนกันความร้อน

“ขณะนี้ภาคเอกชนอยู่ระหว่างรอการออกประกาศจากทางภาครัฐ เพื่อเปิดโอกาสให้กัญชงและกัญชาเป็นส่วนผสมในการปรุงอาหาร เครื่องดื่มที่ขายตามท้องตลาด และสามารถปลูกเพื่อส่งออกเป็นวัตถุดิบได้”

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

จ่อปลดล็อกอีก 3 กลุ่มถือครอง

เภสัชกรหญิงกรพินธุ์ ณ ระนอง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา และวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันว่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยพัฒนา ซึ่งได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ อย. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ รวมถึงห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ อย.เท่านั้น

“ขณะที่บทเฉพาะกาล มาตรา 21 ยังระบุว่า 5 ปีแรก จะอนุญาตให้ผลิตนำเข้าส่งออกได้เฉพาะหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานรัฐร่วมกับอื่น ๆ”

โดยภายในปี 2564 นี้ อย.เตรียมประกาศเพิ่มให้อีก 3 กลุ่มสามารถครอบครองและใช้กัญชง-กัญชาได้ คือ 1.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ เช่น เครื่องบิน ซึ่งในอนาคตอาจต้องมีการอนุญาตให้ยานพาหนะเหล่านี้มียาที่ทำมาจากกัญชง-กัญชา ติดไว้บนเครื่องเพื่อทางการแพทย์

2.ผู้เดินทางระหว่างประเทศ ในกรณีดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ หรือบุคคลทั่วไป อาจเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาโดยใช้กัญชง-กัญชา ซึ่งจำเป็นต้องปลดล็อกส่วนนี้ แต่ต้องมีเอกสารยืนยัน

3.ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กำหนดในกฎกระทรวง

จากก่อนหน้านี้ที่อนุญาตให้บุคคล 4 กลุ่มแรกครอบครองได้ คือ 1.หน่วยงานรัฐที่ทำการศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์หรือเกษตรศาสตร์, หน่วยงานรัฐที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์, หน่วยงานรัฐที่ให้บริการทางเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม, หน่วยงานรัฐที่ป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด

2.ผู้ประกอบวิชาชีพ เวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม การสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง แพทย์แผนไทย แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย

3.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์)

4.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (วิสาหกิจชุมชน, วิสาหกิจเพื่อสังคม, สหกรณ์การเกษตร) ภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

เอกชนห่วงข้อกำหนด อย.

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์และกรรมการผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขั้นตอนการขออนุญาตกับทาง อย.เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเสริมอาหารนั้น ได้ยื่นเรื่องไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ประกอบการในกลุ่มเอง ยังไม่ชัดเจนที่จะกำหนดตัวผลิตภัณฑ์ขึ้นมา

ขณะเดียวกัน อย.ยังมีข้อกำหนดเพื่อพิจารณาที่ควรระวังไม่ใช่เพียงกลุ่มเสริมอาหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มเครื่องสำอาง เช่น ใช้ทำลิปสติก ที่อาจต้องควบคุมปริมาณสารในกัญชง-กัญชา ไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อช่องปาก เป็นต้น ดังนั้น จากนี้จะต้องระดมการหารือกับสมาชิกผู้ประกอบการอีกครั้ง เพื่อกำหนดทิศทางการต่อยอด พัฒนาให้ชัดเจน

หวั่นผลผลิตล้นตลาด

นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ผู้บริหารฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา กล่าวว่า ความกังวลขณะนี้คือการควบคุมดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งปัจจุบันอาจมีการส่งเสริมให้ปลูกจำนวนมาก จนอาจส่งผลให้ล้นตลาด แต่อย่างไรก็ตามอาจเป็นอีกโอกาสในการจะส่งออก แต่ในทางกลับกัน หากไทยส่งออกเป็นวัตถุดิบไปต่างประเทศ แล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ส่งกลับมาขายที่ไทยในราคาสูง จะเป็นการเสียโอกาสอย่างมาก

“รัฐต้องสร้างสมดุลดีมานด์ซัพพลายให้ดี อย่างไรก็ตาม การพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอาหารในขณะนี้อาจยังไม่ได้ทางบริษัทจึงใช้การแปรรูปเป็นใบแห้งเพื่อส่งขายเป็นลักษณะการชงชา (ใบกัญชา)แทน หวังว่าอีกไม่นานจะมีการปลดล็อกเพื่อขยายไปอุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น”

ทั้งนี้ นักลงทุนที่เริ่มมีการปลูกหรือผลิตยังคงใช้พันธุ์ไทยท้องถิ่น ยังไม่มีการนำเข้าและเร็ว ๆ นี้ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้เตรียมวิจัยเพื่อทำพันธุ์ของตัวเอง

ดร.สันติ ไทยยืนวงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า งานวิจัยในไทยยังถือว่าค่อนข้างน้อย แต่ยอมรับว่ายังมีความพยายามในหลายหน่วยงานที่จะนำทั้งกัญชง-กัญชา มาวิจัยเพื่อต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นได้ด้วย ในขณะเดียวกันยังมีงานวิจัยหลายชิ้นได้บ่งชี้ว่าสารที่สกัดออกมา สามารถใช้รักษากลุ่มที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่แน่นอนว่ากัญชง-กัญชา คือสารเสพติดซึ่งย่อมมีโทษอาจมีความกังวลว่าหากใช้ในกลุ่มผู้ป่วยจิตแพทย์จะส่งผลลบ

เภสัชกรณัฐดนัย มุสิกวงศ์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ทาง รพ.ได้คิดค้นยาจากกัญชาสำหรับรักษาโรคมะเร็งได้ 2 ระดับ ทั้งระดับเข้มข้นใช้ในผู้ที่เกิดระยะกลางถึงปลาย ส่วนระดับเบาบางใช้สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นมะเร็งหรือขั้นเริ่มต้น ทั้ง 2 มีผลทางเชิงการรักษาได้จริง แต่ไม่ได้ทำให้ทุกคนหาย


ส่วนในลักษณะที่เป็นน้ำมันยอมรับว่าได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าในบางรายใช้ในปริมาณที่เกินส่งผลทางลบ และนอกจากนี้ในงานวิจัยและทาง รพ.เองมีแผนที่จะพัฒนายาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และโรคไบโพลาร์ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากความเครียดของคนในปัจจุบัน