จุดพลุธุรกิจกัญชาอินทรีย์ ม.แม่โจ้เนื้อหอม 100 บริษัทแห่ให้ทุน R&D

“กัญชา” ได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยในช่วงระยะเวลาอันสั้น หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ปลดล็อกให้ชิ้นส่วนกัญชาทั้งใบ ต้น และราก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด แต่ทว่าในทางปฏิบัติกลับไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใคร ๆ จะปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์ได้ ด้วยสารพัดเงื่อนไขที่ออกมา “ควบคุม” ผู้ปลูก ไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาต โรงเรือน เมล็ดพันธุ์ การจำหน่าย การตรวจสอบย้อนกลับ จะต้องมีการแจ้งและขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ส่งผลให้สถาบันทางการศึกษากลายเป็นผู้รับอนุญาตรายแรก ๆ ของประเทศในการปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์ ด้วยการ “ต่อยอด” จากงานวิจัยต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่จัดงาน “แม่โจ้ชวนยิ้ม ชิมกัญ(ชา)” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 45 ร้าน เข้าร่วมงานด้วยการนำชิ้นส่วนกัญชามาใช้ปรุงเป็นเมนูอาหาร

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่รับผิดชอบโครงการปั้นกัญชาพืชเศรษฐกิจใหม่ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

Q : แม่โจ้ทำอะไรเกี่ยวกับกัญชาบ้าง

มหาวิทยาลัยแม่โจ้เริ่มต้นปลูกกัญชามาตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้ระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นการใช้ต้นทุนเดิมที่ส่งเสริมการปลูกพืชอินทรีย์ในระบบ smart organic farming หรือเกษตรธรรมชาติ ประกอบกับมีต้นทุนด้านการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจากขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งถือเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดี มีความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อนำต้นทุนทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับการปลูกกัญชา ทำให้กัญชาทุกต้นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นกัญชาที่ได้ผลผลิตคุณภาพสูงไม่มีสารเคมีปนเปื้อน

หลังจากเมื่อรัฐบาลมีนโยบายในเรื่องกัญชาออกมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ไฟเขียวอนุมัติให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ทดลองปลูกกัญชา เราเริ่มต้นปลูกที่ 100 ต้น พร้อมกับเพาะเมล็ดอีก 12,000 ต้น โดยปลูกในพื้นที่ สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ บนเนื้อที่ 5 ไร่ ซึ่งในระยะ 1 ปีสามารถปลูกได้ 3 crop โดย crop ที่ 1 มีระยะเวลาปลูก 6 เดือน crop ที่ 2 ระยะเวลาปลูก 4 เดือนครึ่ง และ crop ที่ 3 ระยะเวลาปลูก 90 วัน ปัจจุบันมีจำนวนต้นกัญชา 67,700 ต้น คาดว่าราวกลางปีจะขยับขึ้นไปถึง 70,000 ต้น

สำหรับผลผลิตกัญชาที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ทำการปลูกนั้น ในส่วนของช่อดอก ซึ่งยังไม่ถูกกฎหมายและรัฐบาลยังไม่ปลดล็อก ก็จะทำการส่งมอบให้กรมการแพทย์ กับองค์การเภสัชกรรม เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันกัญชา ส่วนใบ-ต้น และราก ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้สามารถนำไปขายได้ แต่ต้องสั่งซื้อล่วงหน้า ขณะนี้ใบสด กก.ละ 1,000 บาท ต้น (แห้ง) กก.ละ 1,000 บาท ราก (สด) กก.ละ 2,000 บาท และราก (แห้ง) กก.ละ 5,000 บาท

ที่ผ่านมาก็มีคนมาขอซื้อราก-ซื้อต้น เพื่อนำไปรักษาอาการโรคหัวเข่าบ้าง รักษาโรคพาร์กินสันบ้าง ช่วยเรื่องนอนไม่หลับบ้าง หรือซื้อใบไปปรุงอาหารขายบ้าง อย่างเมนูอาหารหนึ่งจาน เราจะแนะนำว่า ให้ใช้ใบกัญชาแค่ 1 ใบ จะเป็นปริมาณที่เหมาะสม แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยรับรองว่า ส่วนต่าง ๆ ของกัญชารักษาอาการป่วยต่าง ๆ ได้จริง ที่ดูแลคนป่วยได้

Q : เบอร์ 1 ปลูกกัญชาในอาเซียน

การเป็นพื้นที่โมเดลในการปลูกกัญชาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ถือว่าประสบความสำเร็จในการปลูก ด้วยความแตกต่างที่เราปลูกแบบระบบอินทรีย์ เรามีการต่อสู้ในเรื่องของน้ำมันกัญชา และเน้นให้ความสำคัญเรื่องการผลิตที่ต้องมีความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีความปลอดภัยตั้งแต่การปลูกที่เป็นระบบอินทรีย์ ซึ่งเรามีโนว์ฮาวพร้อมทุกด้าน สามารถถ่ายทอดความรู้ในระบบเกษตรอินทรีย์และการปลูกกัญชาระบบอินทรีย์ทำได้จริงในระดับอุตสาหกรรม จนอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบัน แม่โจ้เป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน ที่สามารถปลูกกัญชาระบบอินทรีย์ โดยขณะนี้ได้รับการติดต่อจากหลาย ๆ ประเทศที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ไปให้ความรู้แนวทางการปลูกกัญชา และศึกษาวิจัยและพัฒนา (R&D) อาทิ จีน ภูฏาน เมียนมา แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

Q : ทุนใหญ่จีบแม่โจ้

ต้องบอกว่า มีเยอะมากที่ติดต่อเข้ามาที่แม่โจ้ ผมว่ามากกว่า 100 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ หลายภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจยา ธุรกิจอาหาร แต่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้คัดเลือกและทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ไปแล้วกว่า 30 บริษัท ซึ่งเป็นความตกลงในความร่วมมือร่วมกันในรูปแบบการศึกษาวิจัยกัญชา (R&D) โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นผู้ทำสินค้าต้นแบบ นำสารสกัดไปทำสินค้าต้นแบบให้กับบริษัทที่ทำ MOU ร่วมกัน มีการร่วมทุนวิจัยราว 40 ล้านบาท

คาดว่าภายในปี 2564 ทุนสนับสนุนงานวิจัยกัญชาจะเพิ่มสูงถึง 100 ล้านบาท เนื่องจากยังมีบริษัทเอกชนที่ให้ความสนใจติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ ซึ่งกัญชากำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากในขณะนี้และอนาคต

Q : ต้องวิจัยกัญชาเพิ่ม

ต้องยอมรับว่า พืชกัญชาคือโอกาส สินค้าตัวไหนที่ไม่นำกัญชามาเกี่ยวข้องอาจจะตกเทรนด์ได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องระเบียบวิธีวิจัยที่ยังไปไม่ถึง ต้องมีการวิจัยเพิ่ม ซึ่งภาครัฐควรให้การสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะแนวโน้มกัญชาไปเร็วและเติบโตเร็ว

อย่างบางธุรกิจที่ตามกระแสกัญชาก็มีการนำเข้าอุปกรณ์การปลูกกัญชาจากต่างประเทศ รวมถึงปุ๋ยต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวเร่งรากกัญชา ซึ่งจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเอาของจากต่างประเทศมาขายให้กับคนไทยในราคาแพง อย่างที่แม่โจ้ เราใช้ถุงใบละ 10 บาท ก็ปลูกกัญชาได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ทำอยู่ เพราะประหยัดต้นทุน ดูแลง่าย เคลื่อนย้ายง่าย ที่สำคัญ การปลูกกัญชาควรเป็นระบบอินทรีย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้และบริโภค

Q : ทิศทางแปรรูปกัญชาของไทย

ถ้าไม่ติดสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจกัญชาบ้านเราคงไปเร็วกว่านี้ แต่โควิดทำให้ตลาดนิ่ง แต่แนวโน้มธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาของไทยจะมีการเติบโตมากในอนาคตและจะเติบโตเร็ว โดยเฉพาะการแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาในระดับอุตสาหกรรม เพราะความต้องการของตลาดมีสูงมาก แต่ต้องมีการจัดการที่ดี โดยเฉพาะการตั้งกฎเกณฑ์-กติกาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จในขณะนี้ กัญชาไม่ควรเป็นเสรีทั้งหมด ส่วนไหนใช้ได้ก็ต้องมีกฎหมายควบคุมชัดเจน

ปัจจุบันนอกจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้นแบบด้านการปลูกกัญชา ทำ R&D สร้างกระบวนการความรู้ การแปรรูปสินค้า ทดลองพันธุ์ ขณะเดียวกันเรากำลังพิจารณาบรรจุหลักสูตรกัญชา เข้าสู่ระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาเรื่องประโยชน์ วิธีการปลูก และการนำไปใช้