ส่งออก เม.ย. 2564 ทะลุ 13.09% โตแรงสุดในรอบ 3 ปี

ท่าเรือ ส่งออก

“จุรินทร์” ปลื้มตัวเลขส่งออกเมษายนบวก 13.09% สูงสุดรอบ 3 ปี ยันยังไม่ปรับเป้าส่งออกทั้งปี 4% พร้อมเร่งทุกฝ่ายจับมือดันส่งออก สินค้าที่ส่งออกไปได้ดีกลุ่มอาหาร กลุ่มสินค้า WFH

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนเมษายน 2564 บวกถึง 13.09% ซึ่งถือว่าเป็นบวกสูงสุดในรอบ 3 ปี ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ทำให้ปัญหาอุปสรรคหลายอย่างที่ขัดข้องในช่วงที่ผ่านมาสามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม

รวมไปถึง การเร่งเปิดด่าน เพื่อเร่งการค้าชายแดนที่มีผลต่อตัวเลขการส่งออก รวมทั้งการขจัดปัญหาอุปสรรคในด่านที่จะส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ประเทศจีนบริเวณด่านเวียดนามกับจีน เช่น ด่านโหย่วอี้กวน ด่านตงซิงและด่านอื่น ๆ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งขณะนี้เรือขนาดใหญ่ 400 เมตรสามารถนำตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นตู้เปล่ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้แล้ว

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ส่วนเรื่องเป้าส่งออกที่ 4% สำหรับปี 2564 นั้น ยังไม่จำเป็นต้องปรับเป้า แต่ตนได้มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศ จับมือกับภาคเอกชนดำเนินการเปิดตลาดใหม่ เช่น ตลาดรัสเซีย ตลาดตะวันออกกลาง รวมทั้งเร่งทำเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออกทั้งเอฟทีเอไทย-อียู ไทย-สหราชอาณาจักร หรือกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งเร่งรัด “มินิ เอฟทีเอ” กับมณฑลไห่หนานของจีน รัฐเตลังกานาของอินเดีย และพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

เพราะขณะนี้การส่งออกถือเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจะเรียกว่าเป็นพระเอกก็ได้ เพราะเป็นเครื่องยนต์เดียวที่มีผลเป็นรูปธรรมที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจะมีผลในการทำให้จีดีพีของไทยในปี 2564 เป็นบวกได้

ขณะที่การแถลงตัวเลขส่งออกประจำเดือนเมษายน 2564 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กล่าวว่า การส่งออกไทยฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง มีมูลค่าเหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่า 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.09% เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 36 เดือน นับจากเดือนเมษายน 2561 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยขยายตัวสูงถึง 25.70% ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกไทยเป็นไปตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการส่งออกโลก

สำหรับการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 4.78% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 11.58% สะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 21,246.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 29.79% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 182.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกมีมูลค่า 85,577.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.78% การนำเข้ามีมูลค่า 84,879.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.85% ดุลการค้า 4 เดือนแรก เกินดุล 698.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ผักและผลไม้ 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 4) กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตเริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และ 5) สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ)

ด้านตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีการขยายตัวในระดับสูง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ จึงทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจำนวนมาก ด้านตลาดอาเซียน (5) ยังหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของตลาดสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ขณะที่ตลาดอื่น ๆ เช่น CLMV ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และรัสเซียและ CIS ต่างมีอัตราการขยายตัวในระดับสูงแทบทั้งสิ้น

แนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะต่อไป คาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเกือบทุกหมวดสินค้า การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวตามราคาส่งออก และความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น แผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านการผลิตและการบริโภค และกระทรวงพาณิชย์ยังมีกิจกรรมสนับสนุนการส่งออก เช่น การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์ การเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก และการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสินค้าของไทย