โควิดรอบ 3 กระทบจัดตั้งธุรกิจใหม่ หดตัว 32% ก่อสร้าง-อสังหาฯ มากสุด

Photo by LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนเมษายน 64 หดตัว 32% เมื่อเทียบเดือนที่ผ่านมา ผลกระทบจากโควิดรอบ 3 พบว่าก่อสร้าง-อสังหาฯ จดทะเบียนธุรกิจลดลง ย้ำทั้งปียังเชื่อมั่นหลังวัคซีนกระจายมากขึ้น

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนเมษายน 2564 พบว่า มีจำนวน 5,972 ราย เพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 3,996 ราย แต่ลดลง 32% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า

สำหรับประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 466 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 283 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจในภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 185 ราย คิดเป็น 3% ทั้งนี้ การจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่รวม 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2564) มีจำนวน 29,361 ราย เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทศพล ทังสุบุตร
ทศพล ทังสุบุตร

ส่วนจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 612 ราย ลดลง 25% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 817 ราย แต่ลดลง 23% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 54 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 42 ราย คิดเป็น 7% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 25 ราย คิดเป็น 4% ขณะที่ธุรกิจที่เลิกกิจการรวม 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2564) มีจำนวน 3,090 ราย ลดลง 22% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนเมษายน 2564 มีจำนวน 795,160 ราย มูลค่าทุน 19.47 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 194,760 ราย คิดเป็น 24.49% บริษัทจำกัด จำนวน 599,109 ราย คิดเป็น 75.35% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,291 ราย คิดเป็น 0.16%

ทั้งนี้ การลดลงของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ในเดือนเมษายน อาจมีผลมาจากการระบาดระลอกสามของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจลดลง รวมทั้งปัจจัยที่มีวันหยุดยาวในเดือนเมษายน เมื่อพิจารณาการลดลงของจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในแต่ละภาคธุรกิจนั้น

ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง โดยธุรกิจที่มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งลดลงมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปจัดตั้งลดลง 202 ราย คิดเป็น 31% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จัดตั้งลดลง 83 ราย คิดเป็น 23% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่น ๆ ในร้านค้าทั่วไปจัดตั้งลดลง 68 ราย คิดเป็น 35% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการจัดตั้งลดลง 55 ราย คิดเป็น 36% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารจัดตั้งลดลง 47 ราย คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามที่มีแนวโน้มกระจายเป็นวงกว้าง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม แผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีความชัดเจนมากขึ้น และจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับบุคคลกลุ่มเสี่ยงสูง รวมทั้งผู้สูงอายุเป็นอันดับแรกในเดือนมิถุนายนนั้น น่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ทั้งปี 2564 ตั้งเป้าตั้งนิติบุคคล จำนวน 67,000 – 69,000 ราย

นายทศพล กล่าวอีกว่า การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนเมษายน 2564 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 34 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 15 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 19 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,722 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด

ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 78 ล้านบาทรองลงมา ได้แก่ ฮ่องกง จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 3,126 ล้านบาท และญี่ปุ่น จำนวน 4 ราย เงินลงทุน 598 ล้านบาท ปี 2564 (มกราคม – เมษายน) คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 180 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 31,215 ล้านบาท