ตื่น “โรคระบาดหมู-วัว” ถล่มไทย ดันสภาเกษตรออกหน้าแจ้งรัฐ

เกษตรกรไทยซ้ำวิกฤตเจอโรคระบาดรุมถล่ม ทั้งอหิวาต์แอฟริกันหมู-ลัมปิสกินวัว/ควาย เฉพาะหมูระบาดหนักจนสมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทนไม่ไหว ดอดฟ้อง “ประพัฒน์” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้ออกหน้าฟ้องรัฐบาลยอมรับได้แล้วว่าไทยเกิดการระบาดของแอฟริกันหมูเอเอสเอฟ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีสมาชิกของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เข้าหารือมายังตน พร้อมแจ้งว่า ตอนนี้ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในประเทศไทยไปทั่วทุกภาคแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี ที่มีฟาร์มเลี้ยงสุกรจำนวนมาก “ก็ไม่สามารถควบคุมโรค ASF ได้” และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรอย่างรุนแรงมาก

ดังนั้น จึงอยากให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นแกนนำในการแจ้งให้รัฐบาลได้รับทราบ เมื่อเหตุการณ์บานปลายถึงตอนนี้แล้ว ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติจะเตรียมจัดประชุมร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อจะได้แสดงจุดยืนและแจ้งให้รัฐบาล “รับทราบและให้กรมปศุสัตว์เร่งเข้ามาแก้ไขปัญหา ASF โดยด่วนที่สุด”

เพราะหากรัฐบาลยังไม่รีบวางแนวทางในการป้องกันแก้ไข อนาคตอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรจะมีผลกระทบระยะยาว และจะส่งผลกระทบไปถึงประชาชนผู้บริโภค ชาวนา โรงสี เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นลูกโซ่กันไปหมด จะมีคนตกงานอีกจำนวนนับล้านคน

“สมาชิกของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติโทร.มาหาผมเอง พร้อมกับบอกว่า จะเอาโรค ASF ไม่อยู่แล้ว ราชบุรีแตกแล้ว ภาคอีสานก็ระบาดไปหลายฟาร์ม โรค ASF ได้แพร่ระบาดไปทุกภาคของประเทศแล้ว ถึงเวลาที่ต้องยอมรับความจริงกันแล้ว ก็ไม่รู้ว่า กรมปศุสัตว์ทำอะไรกันอยู่ จึงอยากให้สภาเกษตรกรแห่งชาติแจ้งให้รัฐบาลทราบถึงปัญหา และจะได้สอบถามรัฐบาลถึงแนวทางในการทำงานในการป้องกัน ASF เพื่อไม่ให้โรคมีการระบาดไปมากกว่านี้” นายประพัฒน์กล่าว

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดตอนนี้ฟาร์มเลี้ยงหมูหลายฟาร์มเร่งระบายขายหมูออกมา เพื่อลดการเลี้ยงลง มีการเทขายสุกรขุนที่ยังไม่ได้น้ำหนัก การเร่งระบายขายสุกรพ่อแม่พันธุ์ในราคาถูก ๆ เพื่อจะลดความเสี่ยง ส่งผลให้ราคาสุกรอ่อนตัวลงมาก ตอนนี้แม่หมูปลดไม่มีราคาเลย ยกตัวอย่าง ภาคเหนือ ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจากเดิม 80 บาทต่อ กก. ตอนนี้ตกลงมาเหลือ 70 กว่าบาทต่อ กก. ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 60 บาทต่อ กก. และมีแนวโน้มราคาจะลงมาต่ำกว่าต้นทุน ที่ผ่านมาสุกรที่ติดโรคระบาดจะได้เงินชดเชยจากฟาร์มรายใหญ่อุดหนุนเงินมาให้ แต่ปีนี้สมาชิกรายใหญ่ก็หมดแรง เชื่อว่าปีหน้าคนไทยจะต้องกินหมูแพงแน่

แหล่งข่าววงการผู้เลี้ยงสุกรกล่าวว่า ถึงเวลาที่จะยอมรับกันได้แล้วว่า ประเทศไทยมีโรค ASF นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ที่ไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านจนผู้เลี้ยงรายย่อยตายกันหมดแล้ว ตอนนี้ลุกลามสู่รายกลางและรายใหญ่อย่างรวดเร็ว หลายรายลักลอบเคลื่อนย้ายสุกรที่ติดเชื้อขายไปทั่ว โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรีที่ถือเป็นเมืองหลวงของผู้เลี้ยงสุกร “ลุกลามหนัก” รายใหญ่ก็ยังประสบปัญหา ส่งผลให้ราคาวิ่งลงเร็วมากตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนถึงปัจจุบันลงมาเกือบ 20 บาท

ทว่า กรมปศุสัตว์ยังไม่ยอมรับความจริง แต่กลับแจ้งว่าเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ (PRRS) ส่งผลกระทบทั้งระบบกว่าแสนล้านบาท เมื่อคนเลี้ยงตาย กระทบถึงผู้ผลิตอาหารสัตว์ คนขายยา และเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา-เวียดนามได้รายงานการพบเชื้อโรค ASF จากการนำเข้าหมูหลายครั้ง แต่กรมปศุสัตว์ยืนยันว่า เป็นหมูลักลอบส่งออกผิดกฎหมาย

สังเกตได้ว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ประกาศราคาแนะนำทั้ง 5 ภาค ตลอดช่วงเดือนเมษายน 2564 สุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ 80 บาทต่อ กก. ราคาขายส่งห้างค้าปลีก 128 บาทต่อ กก. และราคาขายปลีกหรือเขียง 158-160 บาทต่อ กก. แต่ราคาขายจริงยืนอยู่ที่ประมาณ 60 กว่าบาท

ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกตัวปรับราคาขึ้นหมด ล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศราคาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 สุกรมีชีวิตภาคตะวันตกปรับลงมาที่ 68-69 บาท ราคาขายส่งห้างค้าปลีก 108-110 บาท และราคาขายปลีกหรือเขียง 134-138 บาท ขณะที่ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มภาคอื่นวิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 72-78 บาทต่อ กก. สะท้อนว่า ราชบุรี นครปฐมราคาปั่นป่วนมาก โดยราคาจริงต่ำลงมาที่ 60 บาท

ลัมปิสกินซ้ำวัว-ควาย

ขณะเดียวกันในวงการเลี้ยงโคเนื้อก็พบการระบาดของโรคลัมปิสกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สำหรับประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่บ้านดอนแดง ตำบลแสนสุข อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 และกรมปศุสัตว์ได้มีการรายงานการเกิดโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 โรคนี้เป็นโรคเฉพาะในโค กระบือ ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์สั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคลัมปิสกิน จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งส่งถึงไทยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อย โดยใช้งบประมาณจากกรมปศุสัตว์เองในการนำเข้าวัคซีนในราคา 60 บาท/โดส จำนวนลอตแรก 60,000 หมื่นโดส

ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการจัดหาวัคซีนควบคุมโรคลัมปิสกินเพิ่มอีก 300,000 โดส เพื่อเสริมการป้องการโรคให้ครอบคลุมมากขึ้น ล่าสุดมีการแพร่ระบาดใน 35 จังหวัด จำนวนโค-กระบือที่ติดเชื้อประมาณ 7,200 ตัว ในจำนวนนี้ตายแล้ว 35 ตัว และสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นต้นมา และยังไม่มีรายงานว่า มีจำนวนสัตว์ตายหรือระบาดไปในจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจาก 35 จังหวัดดังกล่าว

นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะเจ้าของชูวิทย์ฟาร์ม จ.อุบลราชธานี และประธานผู้เลี้ยงโคเนื้ออเมริกันบราห์มันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โคเนื้อ 6 ล้านตัวทั่วประเทศไทย มูลค่าการค้าหมุนเวียนวงเงินประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท มีการส่งออกไปต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม กัมพูชา แต่ตอนนี้มีการติดโรคลัมปิสกินไปแล้วประมาณ 1 ล้านตัวแล้ว

ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายมาก จน “ตลาดนัดโค” ต้องหยุดการซื้อขาย ด้านผู้บริโภคตอนนี้คนไม่กล้าบริโภคเนื้อวัว ส่วนวัคซีนที่เข้ามา 60,000 โดสนั้น “ก็ยังไม่เพียงพอ” แต่ทราบว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มมาอีก ขณะเดียวกันทราบว่ามีเจ้าของฟาร์มโคเนื้อหลายแห่งที่รอวัคซีนจากภาครัฐไม่ไหว ได้ใช้เงินส่วนตัวซื้อวัคซีนมาฉีดให้โคเนื้อที่เลี้ยงแล้ว เพราะการระบาดของโรคยังลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยสัตวแพทย์ระบุว่า แมลงไต่ตอมที่เป็นพาหะของโรคบินไปได้เร็ว 600 กม.ต่อ ชม.

นายหมี่รัน ขำนุรักษ์ ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงวัวลังกาสุกะพัทลุง และตลาดกลางลังกาสุกะกรุ๊ป โค กระบือแพะ อ.กงหรา จ.พัทลุง กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ออกมาตรการประกาศการควบคุมห้ามเคลื่อนย้ายโค กระบือ จนได้ส่งผลกระทบตลาดโค กระบือ ทางภาคใต้อย่างหนัก เพราะไม่สามารถเคลื่อนย้ายจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงสู่ทางภาคใต้ เฉพาะตลาดกลางลังกาสุกะก่อนเกิดโรคลัมปิสกิน จะมีโคเคลื่อนไหวซื้อขายโค-กระบือระหว่างกันประมาณ 2,000-3,000 ตัว/เดือน ราคาเฉลี่ย 30,000 บาท/ตัว จะเป็นเงินประมาณ 60 ล้านบาท และประมาณ 90 ล้านบาท/เดือน

แต่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การซื้อขายได้ยุติลง การเงินหมุนเวียนก็ยุติหมด หากยังไม่มีการเคลื่อนย้าย เงินหมุนเวียนซื้อขายโคก็จะหายไปประมาณกว่า 200 ล้านบาท เป็นภาพรวมเฉพาะในเครือข่ายลังกาสุกะทางภาคใต้ นอกนั้นยังมีโคกุรบันที่จะมีการซื้อขายเคลื่อนย้ายไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตลอดไปถึงประเทศมาเลเซีย ในห้วงระยะ 2 เดือนกว่านี้ ซึ่งโคกุรบันที่มีความต้องการกว่า 10,000 ตัว เป็นเงินประมาณ 300 ล้านบาท ก็จะเสียหายไปอีก รวมเม็ดเงินที่หายไปในเครือข่ายลังกาสุกะทั่วภาคใต้ จนถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดใกล้เคียง ภาพรวมประมาณกว่า 500 ล้านบาท