โรงงานจีนจ่อนำเข้าเศษพลาสติก หวั่นไทยที่ทิ้งขยะอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมพิจารณาเปิดโควตาเศษพลาสติกรอบใหม่ หลังถูกกลุ่มบริษัทจีนทำหนังสืออ้างขาดวัตถุดิบแปรรูป ด้านสมาคมซาเล้งค้านสุดตัว บอกประเทศไทยไม่ควรเป็นสถานที่ใช้ทิ้งขยะรีไซเคิลพร้อมเสนอตั้งตลาดกลางผู้ซื้อพบผู้ขายพิสูจน์เศษพลาสติกในประเทศมีเพียงพอ ทำไมต้องเปิดนำเข้าอีก

การนำเข้าเศษพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์อันตรายได้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้ประกอบการจีนต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมขยายโควตาการนำเข้าเศษพลาสติก ซึ่งอาจตกค้างเป็นขยะที่สร้างมลพิษให้กับประเทศออกไปอีก จากเดิมที่มีมติเด็ดขาดจะห้ามนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป โดยการขออนุญาตนำเข้ารอบนี้อาจจะมีความต้องการใช้เศษพลาสติกไม่ต่ำกว่า 800,000-900,000 ตัน

แหล่งข่าวในกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการเรียกประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการอนุญาตให้มีการนำเศษพลาสติกเข้ามาในประเทศอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้มีมติให้ “ยกเลิก” การนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี โดยมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2563

ในการประชุมดังกล่าวได้มีการหยิบยกหนังสือของผู้ประกอบการจีนรายหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นตัวแทนของ “กลุ่มผู้ประกอบการ” ได้ทำหนังสือขอให้ออก “ใบอนุญาต” เปิดให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างว่า ได้มีการลงทุนเครื่องจักรไปแล้วและยังติดภาระหนี้กับธนาคาร แต่ปัญหาตอนนี้ก็คือ การขาดแคลนวัตถุดิบ(เศษพลาสติก) ที่จะใช้ในการผลิต ส่งผลให้บริษัทประสบกับการขาดทุน

ดังนั้นทางกลุ่มผู้ประกอบการจึงขอให้มีการ “ออกใบอนุญาต ข.2” ในการนำเข้าเศษพลาติกพิกัด 3915 ซึ่งเป็นพิกัดสินค้าทั่วไปเพื่อทำการแปรรูปเศษพลาสติกต่าง ๆ เป็นการผลักดันการส่งออกและเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาการนำเข้าเศษพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 เมื่อเกิดมีการตั้งโรงงานแปรรูปเศษพลาติกและเศษอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในประเทศและได้สร้างปัญหามลภาวะ ประกอบกับมีผู้ประกอบการบางรายทิ้งขยะเศษซากอุตสาหกรรมมลพิษที่เหลือจากการแปรรูปเหล่านี้ไว้ในประเทศ

ดังนั้นรัฐบาลในขณะนั้นจึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลและบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเหล่านี้และตั้งเป้าที่จะให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์ หรือ Zero Waste ให้ได้

2 ปีนำเข้า 110,000 ตัน

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการอนุกรรมการชุดดังกล่าวมีความเห็นว่า ผู้ประกอบการแปรรูปขยะอุตสาหกรรมมีการลงทุนเพื่อประกอบการไปแล้วและยังมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าเศษพลาสติกอยู่และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีระยะเวลาปรับตัว ดังนั้นจึงมีมติ “ผ่อนผัน” ด้วยการให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดโควตานำเข้าเศษพลาสติกต่อไปอีก 2 ปี

คือปีที่ 1 (2562) ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 70,000 ตัน แบ่งเป็นพลาสติก PET 50,000 ตัน และพลาสติกชนิดอื่นรวม 20,000 ตัน แต่มีเงื่อนไขให้ใช้เศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

กับปีที่ 2 (2563) ให้นำเข้าไม่เกิน 40,000 ตัน และให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และปีที่ 3 คือปี 2563 จะห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศโดยเด็ดขาด โดยใบอนุญาตนำเข้าตามโควตาดังกล่าวจะสิ้นสุดทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน 2563

มีข้อน่าสังเกตว่า การเรียกประชุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรมครั้งนี้ไม่ได้พิจารณาว่า “ควรจะให้มีการขยายโควตาการนำเข้าเศษพลาสติกหรือไม่” แต่เป็นการพิจารณาในวาระของ “การนำเข้าเศษพลาสติก” ในกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกภายในประเทศหรือมีในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ทั้ง ๆ ที่ได้ให้เวลากลุ่มผู้ประกอบการได้ปรับตัวด้วยการเปิดให้มีโควตานำเข้า 2 ปี รวมกันถึง 110,000 ตันไปแล้ว และได้กำหนดระยะเวลาแน่นอนแล้วว่า ใบอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกให้สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2563

ดังนั้นหากมีการอนุญาตให้ขยายโควตานำเข้าเศษพลาสติกต่อไปอีก โดยใช้เหตุผลว่า เศษพลาสติกภายในประเทศมีไม่เพียงพอก็จะมีการนำเข้าต่อไปเรื่อย ๆ จากข้อเท็จจริงที่ว่า เศษพลาสติกเหล่านี้เมื่อนำเข้ามา 100% ไม่สามารถแปรรูปได้ทั้งหมด แต่จะมีเศษซากพลาสติกตกค้างเหลืออยู่และจะกลายเป็นขยะอุตสาหกรรมที่ตกค้างภายในประเทศต่อไป

ซาเล้งค้านไทยไม่ใช่ที่ทิ้งขยะ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังนายชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า สมาคมไม่เห็นด้วยกับการขยายโควตาหรือเปิดให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกอีก โดยโรงงานแปรรูปเศษพลาสติกควรจะต้องใช้เศษพลาสติกภายในประเทศเป็นวัตถุดิบให้หมดเสียก่อนถึงจะเปิดให้มีการนำเข้าได้ ซึ่งเศษพลาสติกในประเทศมีเพียงพอ การนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศเท่ากับเปิดให้มีต่างชาติใช้ประเทศไทยเป็นฐานทิ้ง-ระบายขยะ

แต่หากว่าในประเทศมีเศษพลาสติกไม่เพียงพอหรือมีเหตุจำเป็นจริง ๆ การนำเข้าก็จะต้องแยกพิกัดให้ชัดเจน มีการตรวจสอบทุกลอตที่ขอนำเข้า ไม่ใช่ขอพิกัดรวม ๆกันมาเพราะอาจจะมีขยะมลพิษอุตสาหกรรมติดเข้ามาด้วยและจะกลายเป็นปัญหาขยะพิษตกค้างในประเทศไทยต่อไป

“ถ้าจะบอกว่า เรามีเศษพลาสติกเพียงพอกับความต้องการใช้ของโรงงานแปรรูปเหล่านี้หรือไม่ สมาคมอยากขอให้หน่วยงานรัฐคือกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ สถาบันพลาสติก ตั้งตลาดกลางขึ้นมาให้ผู้ซื้อพบผู้ขายในประเทศ ประเทศใดเป็นผู้ก่อขยะอุตสาหกรรมก็ควรที่จะต้องรับผิดชอบรีไซเคิลขยะของตัวเอง ไม่ควรส่งออกมาประเทศอื่น

และที่สำคัญก็คือ ประเทศไทยไม่ใช่ถังขยะของโลก หากยังยอมให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามาอีก สมาคมก็พร้อมที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านร่วมกับเครือข่าย 65 องค์กรภาคประชาชนอีกครั้งหนึ่ง” นายชัยยุทธิ์กล่าว

ส.อ.ท.ให้เฉพาะราย

นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในบางอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อผลิตสินค้าส่งออก แต่ที่ผ่านมาบางกรณีพบการปนเปื้อนและก่อให้เกิดมลพิษในประเทศ ดังนั้นการเปิดให้มีการนำเข้าจะต้องพิจารณาเป็นการเฉพาะรายไป เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า เมื่อพบการกระทำผิดรายใดเป็นผู้นำเข้า “ต้องแยกแยะระหว่างเศษพลาสติกกับขยะพลาสติกมันเป็นคนละตัวกัน


เราไม่ได้คัดค้านหรือห้ามการนำเข้า แต่รัฐบาลควรจะดูที่จุดประสงค์ของการนำเข้าและต้องควบคุมให้ได้ด้วย ต้องมีมาตรการตรวจสอบตอนนำเข้าที่ท่าเรือ ถ้ามีการนำเข้าขยะพลาสติดก็ชัดเจนว่าผิด มีมาตรการควบคุมดูแลหลังการนำเข้าแล้ว รวมถึงบทลงโทษ หากมีการลักลอบนำเข้า ลักลอบทิ้ง สำแดงข้อมูลเท็จและนำเข้ามาแล้วมีปัญหากระทบกับสิ่งแวดล้อม” นายอภิภพกล่าว