ถังออกซิเจนดีมานด์พุ่ง 100% จีนสบช่องอัพราคารอ 5 เดือน

แฟ้มภาพ

วิกฤตขาดถังออกซิเจนลามไทย “สาครอินดัสเทรียลแก๊ส” ผู้นำเข้ารายใหญ่เผย โควิด-19 หนุนดีมานด์พุ่ง 100% เอกชนระส่ำหลังจีนแหล่งนำเข้าหลักแจ้งให้รอนาน 5 เดือน ซ้ำอัพราคาจาก 2,500 เป็น 3,500 บ./ถัง แนะรัฐเจรจานำเข้าถังเพิ่ม ด้านกระทรวงอุตฯออกโรงประสานผู้ผลิต 4 กลุ่มยืนยันถังไม่ขาดตลาด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงทั่วโลกส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนถังออกซิเจนทางการแพทย์ หนึ่งในอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ กระแสการขาดแคลนถังออกซิเจนถูกพูดอย่างต่อเนื่อง

โดยเฟซบุ๊ก นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความกล่าวถึงภาวะถังออกซิเจนขาดตลาดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยระบุว่า ถังออกซิเจนทางการแพทย์และถังออกซิเจนสำหรับใช้ที่บ้านกำลังขาดตลาด เนื่องจากมีคนแห่ไปซื้อมากักตุน ส่งผลให้แผนการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชนก่อนส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเกิดความไม่สมบูรณ์ เพราะไม่สามารถให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงและขาดออกซิเจนได้

นางสาวกัญญ์ณรินทร์ ตันสถิตย์ไพบูลย์ ผู้จัดการ บริษัท สาครอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ผู้นำเข้าและบรรจุถังออกซิเจน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เกิดปัญหาขาดแคลนถังบรรจุออกซิเจน เพราะผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นกว่า 100% แต่ในส่วนของเนื้อก๊าซออกซิเจนไม่มีปัญหาขาดแคลน ไทยยังสามารถผลิตได้ปกติ

ปกติบริษัทจะเป็นผู้นำเข้าปีละ 2 ครั้ง เฉลี่ย 1,000 ใบต่อปี และรับบรรจุออกซิเจน โดยมีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ โรงพยาบาล และมีกลุ่มผู้ป่วยที่นอนติดเตียง แต่การเกิดการระบาดของโควิดยิ่งทำให้ความต้องการใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้น 100%

โดยลูกค้าที่มาเติมมีทั้งแบบที่มีการนำถังมาเติม และมาใช้บริการเช่าถังของบริษัท ซึ่งปกติแต่ละวันจะมีถังหมุนเวียนประมาณ 30 ใบต่อวัน ตอนนี้ไม่พอและจะสั่งนำเข้าเพิ่มไม่ได้ เพราะแหล่งนำเข้าหลักคือ จีน ให้รอรับสินค้าประมาณ 4-5 เดือน เพราะจีนมีออร์เดอร์ส่งออกไปหลายประเทศ

นอกจากนี้ จีนยังได้ขอปรับราคาถังเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ถังบรรจุขนาด 6 คิว เคยนำเข้าใบละ 2,500 บาท รวมภาษี VAT 7% ซึ่งมาถึงตอนนี้ราคาก็ขยับขึ้นไปเป็น 3,500 บาท และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นไปอีกอย่างต่อเนื่อง

ปกติประเทศไทยจะใช้ถัง 7 ขนาด คือ ขนาด 0.5 คิว, 1.5 คิว, 2 คิว, 6 คิว, 7 คิว และ 10 คิว ซึ่งไซซ์ที่ใช้มากที่สุดและขาดแคลน คือ 1.5 คิว และ 6 คิว ตอนนี้บริษัทนำเข้ามาไม่ได้เพราะต้องรอ ก็เลยต้องใช้วิธีการหาซัพพลายถังในประเทศจากโรงงาน หรือบริษัทที่ปิดไม่ใช้แล้วมาทดแทน แต่ก็หายากและไม่ได้มีปริมาณมากนัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ปริมาณถังออกซิเจนจะตึงตัว แต่บริษัทไม่ได้มีการปรับราคาค่าเช่าถังยังอยู่ที่ใบละ 200 บาท และอัตราค่าบรรจุออกซิเจนขนาด 6 คิว จะอยู่ที่ 150 บาท

“จากสถานการณ์โควิดแบบนี้ บริษัทไม่ขยับราคา เป็นการช่วยผู้บริโภค แต่ต้องยอมรับว่าจำนวนถังขาดแคลนจริง ๆ บางครั้งมีคน โทร.มาหาเราตอน 4-5 ทุ่ม บอกว่าเดือดร้อนมาก ที่บ้านมีผู้สูงอายุติดเชื้อ แต่เราไม่สามารถจะหาถังให้ได้ โดยทางออกที่มองคือ หากเป็นไปได้รัฐบาลก็ควรเจรจานำเข้าถังออกซิเจนมาช่วย”

ขณะที่รายงานข่าวจากภาคอุตสาหกรรมระบุว่า ขณะนี้ บีไอจี ผู้ผลิตออกซิเจนรายใหญ่ ร่วมกับคู่ค้าผู้แทนจำหน่ายในเครือข่ายสนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ฟรี ให้กับมูลนิธิหรืออาสาสมัครกู้ภัยต่าง ๆ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนทางการแพทย์ระหว่างรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

โดยมูลนิธิหรืออาสาสมัครกู้ภัยต่าง ๆ สามารถนำถังออกซิเจนที่ได้ตามมาตรฐาน มอก. เข้ารับการเติมออกซิเจนฟรี ได้ที่คู่ค้าผู้แทนจำหน่ายในเครือข่าย คือ บริษัท ยูไนเต็ดอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด บริษัท สาครอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท รังสิตอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด

โดยปัจจุบันไทยมีผู้นำเข้าถังออกซิเจนรายใหญ่ 4-5 ราย ซึ่งสาครอินดัสเทรียลแก๊สเป็นหนึ่งในนั้น นอกจากการนำเข้ามาเพื่อใช้ในประเทศแล้ว ยังมีบางส่วนที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น เมียนมา

ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงปัญหาถังออกซิเจนขาดแคลนว่า ได้มอบหมายให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประสานไปยังกลุ่มก๊าซอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมก๊าซอุตสาหกรรมสยาม โรงงานผู้บรรจุก๊าซ และผู้ผลิตภาชนะบรรจุก๊าซ เพื่อสอบถามถึงความพร้อมในเรื่องของกำลังการผลิต

ซึ่งได้รับการยืนยันว่าภาพรวมและศักยภาพการผลิตของโรงงานยังมีเพียงพอที่จะรองรับกับความต้องการของประชาชน ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในอนาคต

ขณะที่ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวเสริมว่า จากการประสานกับทางกลุ่มผู้ประกอบการทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าว ได้รับการยืนยันถึงศักยภาพการผลิตของโรงงาน

โดยภาพรวมทั้งประเทศกำลังการผลิตรวมทั้งหมดมีประมาณ 1,860 ตัน/วัน จาก 15 โรงงาน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง สงขลา ลำพูน และเชียงใหม่

และปลายเดือนสิงหาคม 2564 นี้จะมีเพิ่มอีก 1 แห่งที่จังหวัดระยอง จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 150 ตันต่อวัน ซึ่งหากมีกรณีฉุกเฉิน สามารถเพิ่มกำลังการผลิตออกซิเจนได้ถึง 2,200 ตันต่อวัน


ทั้งนี้ ปริมาณการใช้ก๊าซออกซิเจนทั้งทางการแพทย์และอุตสาหกรรมปัจจุบัน ประมาณ 1,260 ตัน/วัน แบ่งเป็นปริมาณความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ 400-600 ตัน/วัน และความต้องการในภาคอุตสาหกรรม 660 ตัน/วัน