ผนึก “107 องค์กร” ต้าน ยืดเวลานำเข้าขยะพลาสติก

ขยะพลาสติก

กลายเป็นประเด็นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ทางองค์กรภาคประชาสังคม 107 องค์กร นำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ออกแถลงการณ์ (ฉบับที่ 2) คัดค้านการผ่อนปรนการนำเข้าเศษพลาสติก หยุดการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างเด็ดขาดภายในปี 2564

โดยมีสาระสำคัญระบุว่า หลังจากรัฐบาลจีนออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศเมื่อปี 2560 โดยเฉพาะการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกต่างประเทศ นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศจีนหลายราย ได้ย้ายฐานการรีไซเคิลไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในอาเซียนรวมถึงไทย คาดว่าปริมาณนำเข้าเศษพลาสติกตกค้างตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน ประมาณ 6 แสนตัน

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า มูลนิธิบูรณะนิเวศ สมาคมซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า รวมถึงเครือข่ายประชาชนต่าง ๆ 107 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ และเตรียมยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐ 7 ข้อ (ตามกราฟิก) โดยเฉพาะหน่วยงานหลักอย่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร ซึ่งอาจรวมถึงกระทรวงมหาดไทย

เพื่อให้ทบทวนมติ คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ที่ยืดระยะเวลาให้นำเข้าเศษพลาสติกจากเดือนกันยายน 2563 ไปถึงปี 2569 โดยเฉพาะการอนุญาตให้ประเทศที่ไม่ได้อยู่ในอนุสัญญาบาเซิลอย่างอเมริกา

“ที่ผ่านประเทศไทยเปิดให้นำเข้าเศษพลาสติก เพื่อใช้สำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิล และบางอุตสาหกรรมพลาสติก มาตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้อนุสัญญาบาเซิล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดนโดยเฉลี่ยพบว่าไทยมีการนำเข้า 55,590 ตัน/ปี มีอัตราการเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปี 2562 ที่มีการนำเข้าถึง 552,912 ตัน ในขณะที่ไทยเองมีโรงรีไซเคิล ประเภท 53(1) 53(5) และ 53(9) จำนวน 1,524 โรงใน 20 จังหวัด”

“ไทยมีปัญหาการนำเข้าเศษพลาสติก จากประเทศพัฒนาแล้วมีการส่งออกเศษพลาสติกมา ผ่านตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งแม้จะมีการตรวจสอบจากกรมศุลกากร แต่ต้องยอมรับว่าการตรวจตู้คอนเทนเนอร์มีข้อจำกัด ไม่สามารถเห็นวัตถุด้านในได้ ทำให้มีการปนเศษขยะประเภทอื่นเข้ามาเพื่อใช้ไทยเป็นแหล่งทิ้งขยะจำนวนมหาศาล”

หากขยายระยะเวลา 5 ปี และเปิดช่องผ่านกฎหมายศุลกากร ให้ส่งเศษพลาสติกมารีไซเคิลเพื่อส่งออก ในทุกพื้นที่ที่ได้ประกาศเป็น “เขตปลอดอากร” จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเท่าที่ควร

ดังนั้น ควรมีการให้ทบทวนการประกาศ เขตปลอดอากร ซึ่งเดิมจะตั้งที่ใดก็ได้และยังได้สิทธินำเข้าสินค้าที่ห้ามนำเข้าเสรี รวมถึงยังไม่อยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องทำแบบประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนอีกด้วย

“ภาครัฐรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องนำเข้า เพราะเศษพลาสติกในประเทศไม่เพียงพอ และสำรวจความต้องการว่ามีเท่าไรประเภทใดบ้างที่ต้องนำเข้า จนได้ข้อสรุป เมื่อปี 2559 แต่ปัญหาคือมันกลับมีต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนเข้ามาตั้งโรงงานรีไซเคิลในไทย ตั้งในเขตปลอดอากรที่ไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย พลาสติกที่รีไซเคิลแล้วเขาก็ส่งออกกลับไปเป็นรายได้ของตัวเองและยังทิ้งของเสียมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมไว้”

ซึ่งล่าสุดพบว่ามีการอนุญาตให้บริษัท เค็น ยูไนเต็ด (ประเทศไทย) ตั้งโรงรีไซเคิลได้ ที่ ต.ธาตุทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563

นายจักรกฤช กันทอง กลุ่มรักษ์คลองมือไทร ต.ธาตุทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี กล่าวว่า ปัญหาจากโรงงานรีไซเคิลพลาสติกจากจีนมีความผิดปกติของที่มาที่ไป แม้มีการเชิญให้ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น แต่เป็นในวันธรรมดา และเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถไปร่วมได้ ในที่สุดก็มีประกาศอนุญาตให้ตั้งโรงงานดังกล่าวได้แล้ว

นายชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สะสมมานาน แม้ว่ารัฐจะประกาศหยุดให้นำเข้าแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปะปนเข้ามาบางส่วน ซึ่ง ม.ค.-พ.ค. 2564 มีปริมาณ 58,787 ตัน รีไซเคิลแล้วส่งออกไป 28,296 ตันเท่านั้น

แต่หากรวมตั้งแต่ปี 2555-2564 จำนวน 1,468,364 ตัน ส่งให้ภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิลเพื่อได้เป็นพลาสติกอีกครั้งใช้ในประเทศ 30% ที่เหลืออีก 70% ส่งออกทั้งหมด หรือราว 303,101 ตัน/ปี แม้ในปี 2560 ปริมาณการส่งออกทยอยลดลง อย่างในปี 2563 ลดลง 71% แต่ท้ายที่สุดพบว่ามีเศษพลาสติกที่นำเข้ามาไม่ได้ส่งออก และไม่สามารถยืนยันแหล่งที่เก็บได้ตอนนี้คือ 600,000 ตัน นั่นอยู่ที่ใด

“สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาระยะยาว เรื่องนี้คือการเริ่มที่การคัดแยกขยะ เพราะเรื่องของขยะมีส่วนเกี่ยวข้องหลายส่วน แต่หากประชาชนช่วยกัน และภาครัฐเข้ามาจัดระบบให้ดี ก็จะทำให้รู้ข้อมูลที่ชัดเจนด้วยว่า พลาสติกในประเทศแท้จริงมีอยู่เท่าไร ขาดเท่าไร อะไรที่ใช้ได้ อะไรที่ต้องนำเข้า โดยสถาบันพลาสติกมีความเชี่ยวชาญด้านนี้จะต้องเข้ามาช่วยและมีส่วนร่วม”