ดีเดย์ 1 ธ.ค.นี้ รถบรรทุกขึ้นค่าขนส่ง เกษตรขอคูปองน้ำมันเขียว

ม็อบรถบรรทุก

“ทรัคพาวเวอร์” บุก กระทรวงพลังงาน ขอตรึงดีเซล 25 บาท/ลิตร ขู่ขึ้นค่าขนส่ง 10% ดีเดย์ 1 ธ.ค.ผู้ประกอบการ-เกษตรกรอ่วม สหพันธ์ชาวไร่อ้อยยื่น กอน.ขอขึ้นราคาอ้อยรับต้นทุนพุ่ง สภาเกษตรกรขอคูปองเขียวอุ้มน้ำมัน ครม.ขยายเพดานให้กองทุนน้ำมันกู้ 3 หมื่นล้าน ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่ออีก 4 เดือน

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการทำกิจกรรม “ทรักพาวเวอร์ซีซั่น 2” ในวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยสมาชิกสหพันธ์ได้นำรถบรรทุก 100 คัน จาก 10 สมาคมเคลื่อนขบวนมาที่กระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้รับมอบ โดยขอให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 25 บาท/ลิตร และได้เดินทางต่อไปที่รัฐสภา เพื่อเข้าพบคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ขอหารือเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อภาคการขนส่งและประชาชน

“เราทำหนังสือถึงรองนายกฯสุพัฒนพงษ์เพื่อย้ำในข้อเรียกร้องเดิมคือ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 บาท/ลิตร เป็นเวลา 1 ปีด้วยการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาท/ลิตร และถอดส่วนผสมน้ำมันปาล์มออกจากน้ำมันดีเซล ซึ่งรัฐบาลสามารถตั้งโต๊ะหารือเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลราคาน้ำมันดีเซลได้ แต่ควรจะต้องต่ำกว่าราคา 30 บาท/ลิตร”

“แต่ที่ผ่านมารัฐบาลเลือกเพิกเฉยไม่รับข้อเรียกร้องใด ๆ ทางสหพันธ์ได้เคลื่อนไหวครั้งแรกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาด้วยการหยุดวิ่งรถขนส่งสินค้า 10% จากทั้งหมดเริ่ม 1 พฤศจิกายน 2564 การยื่นหนังสือครั้งนี้จะให้เวลารัฐบาลพิจารณาถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ หากไม่มีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือใด ๆ ทางสหพันธ์จะประกาศขึ้นราคาขนส่งสินค้า 10% มีผล 1 ธันวาคมนี้ทันที” นายอภิชาติกล่าว

ด้านนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จะนำข้อเสนอของสหพันธ์ให้กับรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ เพื่อพิจารณาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ “ถอด” ส่วนผสมไบโอดีเซลออกจากน้ำมันดีเซลนั้นได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน

“กระทรวงพลังงานได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร จากปัจจุบันที่ราคาดีเซลที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 32 บาท/ลิตร หรือเท่ากับช่วยพยุงราคาดีเซลไปแล้ว 2 บาท/ลิตร” นายสมบูรณ์กล่าว

ขอคูปองน้ำมันเขียว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากสหพันธ์การขนส่งทางบกฯปรับขึ้นค่าขนส่ง 10% ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเอกชน จากที่ผ่านมาเราจะพบว่า ต้นทุนต่าง ๆ ได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตลอด ซึ่งอาจจะมีสินค้าบางกลุ่มที่แบกรับต้นทุนไม่ได้จำเป็นต้องปรับขึ้นราคา แต่ก็ยังเชื่อว่ามีบางอุตสาหกรรมน่าจะยอมตรึงราคาต่อไปได้สัดส่วน 50 : 50 อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว กำลังซื้อกลับมาจากการเปิดประเทศ

“การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร อยู่ที่รัฐบาลจะตรึงได้นานแค่ไหนหรือหย่อนตรงไหนได้บ้าง แนวทางการแก้ปัญหารัฐเองต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจแข็งแรงเข้ามาช่วยเหลือประชาชนผู้บริโภคมากขึ้นและเร็วที่สุด อีก 2-3 เดือน จากนั้นก็ต้องปล่อยให้ดีมานด์ซัพพลายมันเกิดขึ้นตามกลไกตลาด” นายสุพันธุ์กล่าว

ด้านนายประพันธ์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างมาก โดยประเด็นแรกต้องขอบคุณที่ดูแลราคาผลปาล์มด้วยการไม่ “ยกเลิก” การใช้ไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล ทำให้ชาวสวนปาล์มมีโอกาสขายผลปาล์มได้ราคาดี

แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ต้องเข้ามาดูแลเซ็กเตอร์เกษตรอ่อนไหวที่จะได้รับผลกระทบจากราคาค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพืชผัก/ผลไม้ และสินค้าพืชไร่หลายรายการที่จะทยอยออกสู่ตลาด มีทั้งข้าว-มันสำปะหลัง-อ้อย ซึ่งจะเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบจากการปรับราคารถบรรทุกอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสินค้าเหล่านี้มีมูลค่าและราคาจำหน่ายต่ำกว่าหากเทียบกับสินค้าประเภทปศุสัตว์

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องมาหารือกับเรื่องภาษีสรรพสามิตที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้หรืออาจจะต้องมีคูปองพิเศษเพื่อให้สำหรับเกษตรกรหรือ “คูปองเขียว” เพื่อดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบการส่งอ้อยจากไร่อ้อยสู่โรงงานน้ำตาลประกอบกับในช่วงนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูการหีบอ้อยในต้นเดือนธันวาคม แต่ต้องดูว่าบริษัทผู้ขนส่งแต่ละรายจะปรับขึ้นราคาเท่าไร ผลกระทบตอนนี้เท่าที่รับทราบรายงานในแต่ละพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าขนส่งในระดับต่าง ๆ กันตามระยะห่างจากไร่ถึงโรงงานประมาณ 20-30 กม.

ล่าสุด ทางชาวไร่อ้อยได้ขอปรับขึ้นราคาอ้อยขั้นต้นปี 2564/2565 จากตันละ 1,040 บาท เป็น 1,070 บาท ให้สอดคล้องกับต้นทุนทุกอย่างหรือขึ้นอีกตันละ 30 บาท ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันจากการบรรทุกอ้อยแต่ละพื้นที่

ประกอบกับต้นทุนการผลิตทั้งค่าปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชปรับตัวสูงขึ้นก่อนหน้านี้ โดยได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ไปแล้วที่กระทรวงอุตสาหกรรม ในวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดว่าจะนำเสนอทางคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้มีผลทันกับฤดูกาลหีบอ้อยปี 2564/2565 ที่กำลังจะเริ่มประมาณวันที่ 7-10 ธันวาคม 2564 คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 80 ล้านตัน “มากกว่า” ปีที่ผ่านมา ที่มีผลผลิต 60 ล้านตัน

กู้ 2 หมื่นล้าน ตรึงดีเซล

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.) สัญจร ครั้งที่ 1/2564 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ที่จังหวัดกระบี่ วันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติอนุมัติกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้รักษาเสถียรภาพน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 4 เดือนด้วยการ

1) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. … โดยเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นจำนวนไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 20,000 ล้านบาท

2) เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ สกนช.จะต้องเสนอเหตุผลความจำเป็นในการกู้เงิน รายละเอียดการกู้เงิน (แผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้) ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติต่อไป ทั้งนี้ การกู้ยืมเงินของ สกนช.ถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะ สกนช.จะต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง

และ 3) อนุมัติการกู้ยืมเงิน โดยให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้ สกนช.ดำเนินการกู้เฉพาะวงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามกรอบของกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ และจะดำเนินการกู้เงินเพิ่มเติมวงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้ต่อเมื่อร่าง พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้แล้ว

ซึ่งแผนการกู้ยืมเงินและแผนการชำระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นการกำหนดรายละเอียดของการกู้ยืมเงินและระยะเวลาหรือช่วงเวลาในการดำเนินการต่าง ๆ ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้ หลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนการกู้ยืมเงินและแผนการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยแผนการเบิกจ่ายเงินกู้ที่ สกนช.ประมาณการไว้จะเริ่มเบิกเงินกู้ประมาณเดือนมิถุนายน 2565

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมประท้วงของรถบรรทุกเพื่อเรียกร้องให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 25 บาท/ลิตร ว่า ได้สั่งการกระทรวงคมนาคมจัดรถ บขส. หรือรถทหาร เข้ามาช่วยขนส่งสินค้าแทนแล้ว