ต้านหมูนำเข้า ! สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตรึงราคาหน้าฟาร์ม 110 บาท/กก.

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประสานเสียงสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ประกาศ ตรึงราคาหน้าฟาร์ม 110 บาท/กก. ค้านนำเข้าหมู หวั่นทำลายเกษตรกร ขอรัฐเร่งช่วยเกษตรกรกลับเข้าเลี้ยงเพิ่มซัพพลายโดยเร็ว คาดแนวโน้มหลังจากสัปดาห์นี้ ราคาน่าจะเริ่มทรงตัว

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศรายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 2/2565) ประจำวันพระที่ 10 มกราคม 2565 ว่า ขณะนี้ภาครัฐ สถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมช่วยกันฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วถึง

พร้อมกันนี้ยืนยันว่ายังไม่ถึงจุดจำเป็นที่ต้องมีการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ เนื่องจากต้องพิจารณาผลกระทบทั้งห่วงโซ่ แนวโน้มตลาดหลังจากสัปดาห์นี้น่าจะเริ่มทรงตัว หลังผู้บริโภคบริหารจัดการอาหารโปรตีนได้ดีขึ้น

สำหรับโครงสร้างราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรที่มีการประชุมระหว่างสัปดาห์ ผู้ค้าปลีก ค้าส่งเห็นชอบโครงสร้างราคาในแต่ละช่วง ที่จะไม่ไปเพิ่มภาระผู้บริโภคปลายทางมากนัก จึงได้ตรึงราคาจำหน่าย ที่ กก.ละ 110 บาท

ส่วนลูกสุกรขุนเล็ก 16 กิโลกรัม วันราคา 3,700 บาทต่อกิโลกรัม

ด้านนายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือการแก้ปัญหาราคาสุกร ร่วมกับ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าขณะนี้ทั้งลูกสุกร สุกรขุน และแม่พันธุ์ หายไปจากระบบกว่า 50% จากการที่พี่น้องเกษตรกรเลิกเลี้ยงหรือหยุดการเลี้ยงไปกว่าครึ่ง จากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของอุตสาหกรรม ภาวะขาดทุนสะสมกว่า 3 ปี ปัญหาโรคในสุกร และต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

ปรีชา กิจถาวร
ปรีชา กิจถาวร

“ราคาหมูเพิ่งปรับขึ้นมาในช่วง 1 เดือนเท่านั้น จากปริมาณหมูที่ลดลงต่อเนื่อง ไม่สอดคล้องกับการบริโภคที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ภาวะนี้แค่ช่วยให้คนเลี้ยงพอมีเงินใช้หนี้และเดินหน้าอาชีพต่อ ส่วนที่มีบางฝ่ายแนะนำให้มีการนำเข้าเนื้อหมู เกษตรกรไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น เพราะความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ผลผลิตหมูไม่เพียงพอกับการบริโภค ซึ่งยังไม่ทราบปริมาณความต้องการที่แท้จริงของตลาด การนำเข้าเนื้อหมูจะเป็นการซ้ำเติมปัญหา กระทบกับภาวะราคาตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาด อย่างที่เกษตรกรเผชิญมาตลอด 3 ปี และยังมีผลต่อแรงจูงใจของผู้เลี้ยงที่กำลังจะกลับเข้าระบบ เพราะหมูไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับเนื้อหมูต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำว่าไทย เนื่องจากสามารถผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ภายในประเทศ ขณะที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีต้นทุนส่วนนี้มากกว่า”