กกร. ชี้โอมิครอนไม่รุนแรง เศรษฐกิจไทยปี’65 ยังโต 3-5%

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล

สนั่นเผยที่ประชุม กกร. ยังไม่กังวลปัญหาโอมิครอน คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-4.5% ส่งออกขยายตัว 3-5% พร้อมวอนให้หน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหา ปฏิรูปกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของเอกชนด้วย

วันที่ 12 มกราคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร. ว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง การประมาณการเศรษฐกิจปี 2565

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ หากสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องมีการ Lockdown และเร่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและการปรับตัวของราคาสินค้าภายในประเทศอย่างรวดเร็ว ที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-4.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.0-5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบ 1.2-2.0% แต่จำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าอาหารราคาแพงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร.ยังมีประเด็นข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมที่จะเสนอไปรัฐบาลในการดำเนินการแก้ไข เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ คือ Regulatory Guillotine ซึ่ง มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ โดยในปี 2560 กกร. ได้ร่วมกับรัฐบาลได้เริ่มดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine และได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศ มาถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแก่ TDRI ต่อมาภาครัฐได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน (คณะอนุกิโยติน)

ซึ่งมี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก กกร. ร่วมเป็นกรรมการ เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินการ โดยคณะอนุกิโยตินได้รายงานความคืบหน้าว่าในปีงบประมาณ 2564 หน่วยงานราชการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายเสร็จได้ 38.76% มีผลงานปลดล็อกกฎหมายที่สำคัญ

เช่น หลักเกณฑ์การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การกำกับดูแลบริการรถยนต์ส่วนบุคคลผ่านระบบแอปพลิเคชั่น การกำกับดูแลบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) ข้อเสนอสำคัญที่ควรเร่งผลักดันเพื่อให้การปฏิรูปกฎหมายโดยใช้เครื่องมือ Regulatory Guillotine ในระยะต่อไปเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเห็นว่าควรเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้

(1) ให้ภาครัฐเร่งนำผลการศึกษาและข้อเสนอของ TDRI ไปดำเนินการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายกฎระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายลำดับรองที่ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

(2) ให้จัดตั้งหน่วยงานหรือมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ Regulatory Guillotine โดยเฉพาะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา และมีจำนวนที่เพียงพอ เหมือนช่วงทำ Pilot Project

(3) ให้นำแนวคิดเรื่อง Omnibus Law ซึ่งแก้ไขกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและอุปสรรค (Issue-based) ในคราวเดียว เช่น ปัญหากฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว โดยออกเป็น Omnibus Law ฉบับเดียวแทนการแก้ไขกฎหมายแบบเดิมที่แก้ไขเป็นรายฉบับทำให้ขาดความสอดคล้องกัน ซึ่งแนวคิด Omnibus Law นี้

ประเทศอินโดนีเซียได้เริ่มใช้และประสบผลสำเร็จมาแล้วตั้งแต่ปี 2021 คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีผลงานในการนำเสนอปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ จำนวนมาก กกร.จึงทำข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและการประกอบอาชีพของประชาชน เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวนกว่า 40 ข้อเสนอ

ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ได้นำเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวต่อท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป โดย กกร. เห็นว่ามีข้อเสนอที่ กกร. ควรเร่งผลักดันเสนอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในช่วงการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19

1) ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลองค์กรทางธุรกิจ SMEs และ Startup

2) ปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว

3) ปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

4) ปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการค้าของเก่าและการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (reuse and recycle)

นายสนั่นกล่าวอีกว่า สำหรับการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในระยะสั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนในประเทศมีการยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 และขอความร่วมมือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดและการเคลื่อนย้ายของคน

อย่างไรก็ดี คาดว่า ผลจากโอมิครอนจะกระทบการท่องเที่ยวในประเทศไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากความรุนแรงของโรคที่ลดลงและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มปรับตัวได้กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และยังให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวในประเทศในระดับสูง ส่วนนักเดินทางต่างชาติคาดการณ์ว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 โดยตลอดทั้งปี ประเมินจำนวนนักเดินทางเข้าประเทศ ประมาณ 5-6 ล้านคน