32 ปีฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ โอกาสทองส่งออกแรงงานรอบใหม่

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปีที่ผู้นำรัฐบาลไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย โดยการเยือนครั้งนี้มีความหมายต่อประเทศไทยมากในการที่จะ “ฟื้น” ความสัมพันธ์ระดับปกติ หลังจากที่เกิดคดีโจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด คดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย (3 คดีรวม 4 ศพ) กับคดีการหายสาบสูญของนักธุรกิจซาอุดีอาระเบียในช่วงระหว่างปี 2532-2533

โดยผลการดำเนินการของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมาในการคลี่คลายคดีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีฆาตกรรมและการหายตัวของนักธุรกิจ “ไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ” ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียดำเนินมาตรการ “ตอบโต้” ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามคนซาอุดีอาระเบียเดินทางเข้ามายังประเทศไทย การไม่ออกวีซ่าให้กับคนไทยเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย การไม่ตรวจลงตราไป-กลับ (exit reentry visa) ไปจนกระทั่งถึงการลดระดับตัวแทนทางการทูตลงเหลือแค่ระดับ “อุปทูต” จนถึงปัจจุบัน

แน่นอนว่า เป้าหมายใหญ่เบื้องหลังภารกิจฟื้นความสัมพันธ์จนกลับมาสู่ระดับปกติในครั้งนี้ก็คือ การนำแรงงานไทยกลับเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับการเชิญนักธุรกิจ-นักลงทุน และนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาประเทศไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงโอกาสที่แรงงานไทยจะกลับเข้าไปทำงานว่า

จะได้มีการพูดคุยหารือกัน “จะต้องเริ่มต้นกันก่อน และต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาหารือร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องของคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีและวิธีการต่าง ๆ ที่ต้องพูดคุยกันต่อไป” ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เดินทางมาพร้อมกับท่านนายกฯเพื่อสานสัมพันธ์ในการนำแรงงานไทยได้กลับมาทำงานที่ซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง

สะท้อนให้เห็นถึง “โอกาส” ที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย “เปิดทาง” ให้กับฝ่ายไทยผ่านทาง “คำเชิญ” ของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด ในการกลับเข้าไปซาอุดีอาระเบียอีกครั้งหนึ่ง

ตลาดแรงงานใหญ่สุดใน ตอ.กลาง

สำหรับเป้าหมายในการนำแรงงานไทยกลับเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบียนั้น จากรายงานของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง และเคยเป็นตลาดแรงงานไทยที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในอดีตเคยมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานถึง 300,000 คน ส่งรายได้กลับเข้ามาในประเทศถึง 9,000 ล้านบาท

แต่หลังจากปี 2532 เป็นต้นมา รัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็ไม่ยอมออกวีซ่าให้คนไทยกลับเข้าไปทำงานอีก จำนวนแรงงานไทยก็ลดจำนวนลง ประกอบกับเกิดวิกฤตการณ์อิรักยึดครองคูเวต จนกระทั่งถึงปี 2540 รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจึงยอมผ่อนคลายมาตรการห้ามแรงงานไทยลงบ้าง ด้วยการยินยอมให้วีซ่านักธุรกิจไทย ที่จะเดินทางเข้าไปร่วมงานแสดงสินค้าที่กรุงริยาดและเมืองเจดดาห์ และในปี 2543 แรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทไป-กลับ หรือ exit reentry visa ได้

อย่างไรก็ตาม มีตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของแรงงานต่างชาติที่มีอยู่ประมาณ 6 ล้านคนในซาอุดีอาระเบียเมื่อปลายปี 2564 ปรากฏแรงงานอินเดียครองแชมป์อันดับหนึ่ง ด้วยจำนวนตัวเลขถึง 1,100,000 คนที่ทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ขณะที่แรงงานไทยน่าจะมีอยู่ประมาณ 20,000 คน (15,000 คนอยู่ในเขตภาคตะวันตก 11 เมือง กับอีก 5,000 คนอยู่ในเขตภาคตะวันออกและภาคกลาง-สนง.แรงงาน ณ เจดดาห์/ริยาด)

ในจำนวนนี้คาดการณ์ว่า คนงานไทยที่ทำงานอยู่ในเขตภาคตะวันตกประมาณ 15,000 คนนั้น เป็นคนงานที่เดินทางเข้าไปทำงานตามสัญญาจ้าง (ถูกต้องตามกฎหมาย) ประมาณ 4,000 คน และเป็นคนงานที่เดินทางเข้าไปโดยใช้ “วีซ่าอุมเราะห์” หรือวีซ่าสำหรับผู้แสวงบุญ และหลบหนีเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายอีกประมาณ 11,000 คน โดยประมาณการว่า แรงงานไทยเหล่านี้สามารถส่งเงินกลับประเทศไทยได้ปีละ 1,000 ล้านบาท

จากการติดตามแรงงานไทยที่กลับเข้าไปทำงานตามสัญญาจ้างแบบถูกกฎหมาย (นายจ้างดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานแบบถูกกฎหมายให้) พบว่า จะทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม กิจการทำเครื่องประดับอัญมณี/ช่างเจียระไน ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า และร้านอาหาร

ส่วนแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในเมืองเมกกะ-เจดดาห์-ตาอีฟ มักจะอยู่ในบ้าน โดยเช่าบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่ออกมาเที่ยวหรือออกไปตลาด เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทำงาน และกลัวว่าจะถูกจับกุมและส่งกลับประเทศไทย โดยงานที่แรงงานไทยผิดกฎหมายนิยมทำกันมากก็คือ งานรับตัดเย็บเสื้อผ้า ที่ทำรายได้ดีโดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอนและฮัจญ์

Saudization ตลาดเปลี่ยน

สอดคล้องกับนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลระบุว่า แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่เป็นการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง นายจ้างพาไปทำงาน และ reentry โดยตำแหน่งงานที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน เช่น ช่างเชื่อม, ช่างเทคนิค, ช่างเครื่องยนต์, ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน, ผู้ควบคุมเครื่องจักร, คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไป, คนงานควบคุมเครื่องจักร, ผู้ช่วยกุ๊ก และแม่บ้าน

โดยในปี 2561 มีแรงงานเดินทางไปทำงาน จำนวน 220 คน ปี 2562 จำนวน 199 คน ปี 2563 จำนวน 40 คน ปี 2564 จำนวน 15 คน ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบียตัวเลขอย่างเป็นทางการคือ 56 คน (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2564)

“ขณะนี้ซาอุดีอาระเบียยังไม่อนุมัติออกวีซ่าจ้างแรงงานไทย ยกเว้นไม่สามารถหาคนซาอุดีอาระเบียที่เหมาะสมเข้าทำงานได้ บวกกับมีการประกาศนโยบาย Saudization (วัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการจ้างงานของแรงงานต่างชาติลง และกำหนดให้ต้องจ้างคนซาอุดีอาระเบียเข้าทำงาน) ที่กำหนดให้ภาครัฐและเอกชนต้องจ้างคนซาอุดีอาระเบียเข้าทำงานร้อยละ 20 ของคนงานทั้งหมด

ทำให้บางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์และปากีสถาน เริ่มชะลอการจัดส่งแรงงานไปซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะคนท้องถิ่นเองก็ไม่นิยมทำงานหนัก ทั้งไม่มีการอบรมทักษะอาชีพและการศึกษาที่ดี รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีที่เคร่งครัด จึงทำให้สูญเสียโอกาสการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลก” นายไพโรจน์กล่าว

และหากความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียกลับสู่ภาวะปกตินั้น เชื่อว่าแรงงานไทยน่าจะมีโอกาสได้รับการจ้างงานสูง โดยตำแหน่งงานที่มีความต้องการแรงงานไทย ได้แก่ วิศวกร, พนักงานคอมพิวเตอร์, ช่างไฟฟ้า, ช่างก่อสร้าง, ช่างซ่อมเครื่องยนต์, พนักงานขับรถบรรทุกขนาดใหญ่, รถตักดิน, รถเกรดเดอร์, พ่อครัว (อาหารไทยและอาหารเอเชีย), พนักงานบัญชี, ช่างออกแบบ, เครื่องประดับ, ช่างเจียระไนเพชรพลอย, ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ, ช่างเสริมสวย, ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตามแฟชั่น และช่างตัดเย็บผ้าโต๊ป

ซาอุฯเข้าไทย 3 หมื่นคน

ส่วนโอกาสที่นักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียจะเดินทางกลับเข้ามายังประเทศไทยนั้น นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อการท่องเที่ยว “ยกเว้น” เดินทางเพื่อธุรกิจและรักษาพยาบาล โดยในปี 2562 ที่ผ่านมามีชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวน 30,002 คน สร้างรายได้ 2,700 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการเดินทางเพื่อรักษาพยาบาลถึง 30%

“การเดินทางไปซาอุฯของนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะครั้งนี้ จะมีผลทำให้ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวดีขึ้น และน่าจะเห็นผลตอบรับที่เร็ว เนื่องจากฤดูกาลเดินทางของคนซาอุฯจะเริ่มช่วงเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีช่วงเดือนพฤษภาคม และกรกฎาคม-สิงหาคม” นายฉัททันต์กล่าว

ด้านการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียนั้น ในปี 2564 สองฝ่ายมีการค้าระหว่างกันคิดเป็นมูลค่า 233,074.6 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าไปซาอุดีอาระเบียมูลค่า 51,500 ล้านบาท หรือลดลง 1.77% โดยสินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ รถยนต์, อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, ตู้เย็น, ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, เครื่องซักผ้า และเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ


ส่วนไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบียคิดเป็นมูลค่า 181,574.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ, เคมีภัณฑ์, ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์, น้ำมันสำเร็จรูป, สินแร่โลหะอื่น ๆ, เศษโลหะและผลิตภัณฑ์, พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช, ผ้าผืน, ผลิตภัณฑ์โลหะ, แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ และเครื่องจักรและส่วนประกอบ