เปิดเงื่อนไขคิงส์เกตถอนฟ้อง อัคราตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม

อธิบดีกรมเหมืองแร่แจง อนุญาโตตุลาการเลื่อนประกาศคำตัดสิน กรณีปิดเหมืองอัคราย้ำไทยไม่ได้กลั่นแกล้ง วงในชี้หัวใจหลักคือต่ออายุประทานบัตรให้กลับมาทำเหมืองชาตรีตามจำนวนปีที่เหลือ ขณะที่อัคราใช้ช่องยื่นคำขอกลับมาทำเหมือง-สำรวจแร่ตามคำขอเดิมที่เคยยื่นไว้ ยังไม่มีการอนุญาตคำขอใหม่

การดำเนินการเจรจา “คู่ขนาน” เพื่อยุติข้อพิพาทกรณี คสช.สั่ง “ระงับ” การทำเหมืองทองคำชาตรีตามมาตรา 44 ในปี 2559 ระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัท Kingsgate ด้วยการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อทำการสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง ในเดือนตุลาคม 2563 การ “ต่ออายุ” ประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินจำนวน 4 แปลง ในเดือนธันวาคม 2564

และการ “ต่ออายุ” ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส ในเดือนมกราคม 2565 ได้ส่งผลบวกต่อการพิจารณาคดีในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยล่าสุดทางคณะอนุญาโตตุลาการได้แจ้ง “เลื่อน” การประกาศคำตัดสินในกรณีพิพาทนี้ออกไปอีก

อนุญาโตเลื่อนตัดสิน

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ขณะนี้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้แจ้งมาแล้วว่า จะมีการเลื่อนการประกาศคำตัดสินออกไป โดยที่ผ่านมาทางฝ่ายไทยทราบเรื่องการเจรจาของฝ่ายไทยกับบริษัท Kingsgate มาตลอด ปรากฏ “มีความคืบหน้าในหลายเรื่อง”

ในประเด็นที่ Kingsgate ยื่นฟ้องไทยไม่ให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุน พร้อมทั้งไม่เข้าใจเจตนาของไทย “จนกลายเป็นความเข้าใจผิด” ซึ่งกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการก็มีลักษณะคล้ายกับคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นคดีความเสียหาย

โดยหลักการแล้วถ้ามีการพูดคุยกัน 2 ฝ่ายสามารถเคลียร์หัวใจหลักของปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้วก็น่าจะมีโอกาสที่ Kingsgate จะถอนฟ้องได้ แต่กระบวนการจะเป็นอย่างไรและใช้เวลาเท่าไร ขึ้นอยู่กับความพร้อมทั้งสองฝ่ายจะออกมาร่วมกันแถลงการณ์ต่อไป

“อนุญาโตตุลาการเป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญาแบบฆ่าคนตาย แต่เป็นคดีความเสียหาย โดยหลักการถ้ามีการพูดคุยกันในประเด็นที่เขาคิดว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเขาไม่ได้ถูกกลั่นแกล้งอย่างที่เขาคิด ผมคิดว่าคดีมันน่าจะตกลงและคุยกันรู้เรื่อง แต่ถ้าไม่ได้ตกลงกัน ผมว่าทุกคนต่างเข้าใจผิด สาระหลักเหมือนทะเลาะกันแล้ววันหนึ่งก็มีคนมาบอกว่า

ให้ไปคุยกัน ไม่เข้าใจกันตรงไหนเพราะอะไร บอกเราไปปิดเหมืองตามคำสั่งนี้คือ การไปกลั่นแกล้งหรือไม่ ซึ่งทางไทยก็ยืนยันว่าไม่ได้มีการกลั่นแกล้ง ไทยเพียงแต่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าเคลียร์หัวใจหลักได้แล้วก็น่าจะมีโอกาสถอนฟ้องได้ ส่วนกระบวนการต้องรอตามผล ผมบอกไม่ได้ว่าเมื่อไร ข่าวดีรู้พร้อมกันทั่วประเทศ ถ้าเราพูดมันอาจจะไม่ตรงกัน ดังนั้นถ้าเรากับเขาจับมือและประกาศพร้อมกันโดยธรรมเนียม ซึ่งอาจจะมีการแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อให้รู้ว่า ไม่มีใครได้เปรียบ เสียเปรียบ ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ด้วยกัน” นายนิรันดร์กล่าว

ให้ตามคำขอเดิม ไม่มีเพิ่ม

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ประเด็นที่บริษัท Kingsgate กังวลนั้น “ไม่ใช่ประกาศ คสช.ที่ใช้มาตรา 44 สั่งระงับการทำเหมืองแร่ชาตรี ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Kingsgate ที่เข้ามาดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่จังหวัดพิจิตร

แต่ Kingsgate กังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และไม่เข้าใจว่าทำไมต้องสั่งระงับการทำเหมือง “เสมือนเป็นการกลั่นแกล้ง ไม่ให้ความเป็นธรรม” ซึ่งการพิสูจน์เรื่องนี้ต้องให้ความมั่นใจว่า ถ้าให้บริษัทอัครากลับมาทำเหมืองชาตรีแล้ว ต้องสามารถทำได้จริงหรือกลับมาทำเหมืองได้เหมือนเดิม

ส่วนการให้อาชญาบัตรพิเศษให้สามารถสำรวจแร่จำนวน 44 แปลง ก็เป็นรายการที่บริษัทอัคราฯ เคยยื่นขอไว้ “เป็นเรื่องเดิมทั้งหมด” ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษก็เพราะ บริษัทอัคราปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมาย (พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560) ที่ถูกต้องต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการอนุญาตให้ครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ฝ่ายไทยไม่ได้ไปกีดกันหรือกลั่นแกลงบริษัทอัคราฯ

แต่ที่รัฐบาลไทยสั่งระงับการทำเหมืองแร่-การสำรวจแร่ตั้งแต่ปี 2559 ก็เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องทำ เพราะปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองแร่ แต่เมื่อทุกอย่างคลี่คลายแล้ว และบริษัทอัคราฯสามารถปฏิบัติตามกฎหมายและยอมรับเงื่อนไขการกลับมาทำเหมืองแร่ใหม่ด้วย

“Kingsgate ไม่ได้กลัวประกาศคำสั่ง คสช. แต่กลัวความเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล ซึ่งเราคงให้ความมั่นใจกับเขาในอนาคตไม่ได้ เพราะมันต้องเกิดจากความเชื่อมั่นของบริษัทเอง การพิจารณาลงทุนต้องดูอันดับเรตติ้งของประเทศไทยในกลุ่มประเทศที่น่าลงทุน มีการยืนยันจากทั่วโลกว่า ไทยน่าลงทุน ซึ่งรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้การลงทุนสะดวกและง่ายขึ้น ผมว่ารัฐบาลพยายามทำแล้วอย่าง การแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุงระเบียบต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ถ้าบริษัทยื่นขออนุญาตถูกต้อง เราก็พิจารณาให้ ไม่มีการกลั่นแกล้ง ถ้าเชื่อใจก็มา” แหล่งข่าวกล่าว

ยืนยันไม่ใช่แลกถอนฟ้อง

ส่วนคำถามที่ว่า การต่ออายุประทานบัตรให้กับบริษัทอัคราฯ กลับมาดำเนินการทำเหมืองทองคำชาตรีต่อเพื่อแลกกับการถอนฟ้องรัฐบาลไทย ในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น ประเด็นหลักที่บริษัทอัคราฯต้องการกลับมาทำเหมืองแร่ น่าจะเป็นเพราะว่าตอนนี้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ซึ่งบริษัทเป็นนักธุรกิจที่ทำเหมืองทองคำ

ดังนั้นการได้ทำเหมืองทองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันบริษัทอัคราฯก็เสนอมาตรการทั้งหมดที่จะให้ไทย อาทิ ทำข้อมูลพื้นฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมและทางด้านสุขภาพใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการตามแผนที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายกำหนดมา

ต้องตั้ง “กองทุน” เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ที่จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม กองทุนพัฒนาหมู่บ้านที่อยู่รอบ และการวางหลักประกันตามกฎหมายใหม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นเงื่อนไขยากกว่า พ.ร.บ.แร่ฉบับเก่า ซึ่งบริษัทอัคราก็รับเงื่อนไขทั้งหมด คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มเติมขึ้นมาในโปรเจ็กต์การกลับมาทำเหมืองชาตรีใหม่

เช่น เงินประกันที่จะตั้งกองทุนคิดเป็น 20% ของค่าภาคหลวง หรือภาษีแร่ สมมุติผลิตแร่ออกมาแล้วไทยเก็บค่าภาคหลวง 100 ล้านบาท ก็ต้องเอาเงินเข้ากองทุน 20 ล้านบาท ถ้าเก็บมา 1,000 ล้าน ต้องใส่เงินเข้ากองทุน 200 ล้านบาท โดยที่ยังไม่รู้ว่าธุรกิจทำเหมืองจะทำกำไรหรือขาดทุน

“มันไม่มีการแลกเปลี่ยน เพราะเป็นสิ่งที่บริษัทอัคราฯยื่นขอเดิมอยู่แล้ว บริษัทเข้ามาขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำตั้งแต่ปี 2543 ทำไมตอนนั้นเราไม่เรียกว่า เอาสมบัติไปขายชาติ ล่ะ แต่เราเรียกว่าเป็นการชวนนักลงทุน นี่คือภาษาการเมือง ดังนั้น เหมืองชาตรีนี่เป็นบ้านเดิมของบริษัทอัคราฯ แล้วจะไปเรียกว่าแลกได้อย่างใด ถ้าบ้านเดิมบอกว่า อย่าเพิ่งเข้าไปอยู่นะ

เพราะมันมีสารพิษ เราก็เข้าไปดู ๆ ปรากฏว่าใช้ได้ ก็ให้เจ้าของเดิมกลับเข้าไปอยู่ อย่างนี้เรียกเอาแผ่นดินไปแลกหรือไม่ แต่ถ้าขอว่าไปทำอันใหม่แล้วให้เพิ่มไปอีก อย่างนี้เรียกว่า แลก แต่นี่เป็นเหมืองเดิมของเขา เป็นที่กรรมสิทธิ์เดิม เพียงแต่เขาต้องมาขอตามกฎหมายเท่านั้น ส่วน 44 แปลงสำรวจใหม่ที่เราออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ให้ ถ้าเจอแร่ก็ต้องมาขออนุญาตอีกครั้ง ซึ่งมันยังไม่มีใครรู้ว่าจะเจอแร่ทองคำหรือไม่เจอ” แหล่งข่าวกล่าว

ขอหลักประกันทำเหมืองต่อ

ด้านแหล่งข่าวในวงการเหมืองตั้งข้อสังเกตว่า การที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เลื่อนประกาศคำตัดสินข้อพิพาทกรณีการระงับการทำเหมืองชาตรีระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัท Kingsgate นั้น หากย้อนไปดูข้อเรียกร้องในการเจรจา “คู่ขนาน” เพื่อยุติข้อพิพาทจะพบว่า บริษัท Kingsgate เรียกร้องใน 3 ประเด็น คือ

1) ขอ “หลักประกัน” ในการกลับมาทำเหมืองทองคำในระยะยาว โดยหลักประกันอาจจะเป็นข้อตกลง หรือมติกรรมการผู้มีอำาจที่เป็นลายลักษณ์อักษร ระบุเป็นเงื่อนไขในการกลับมาทำเหมืองอีกในระยะเวลาตามที่เหลืออยู่ในอายุประทานบัตร ไม่ใช่เปิดทำเหมืองมาไม่นานแล้วถูกสั่งระงับอีก

2) การต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม 7 ปีหรือมากกว่านั้น

และ 3) ความเสียหายจากกรณีที่บริษัทอัคราฯ ต้องหยุดการทำเหมืองชาตรีไปถึง 5 ปี