รัฐบาลพลาด ประชาชนจ่าย

เหมืองทอง
บทบรรณาธิการ

 

การที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเลื่อนคำชี้ขาดคดีเหมืองทองอัครา จากวันที่ 31 ม.ค. 2565 โดยไม่มีกำหนด คงไม่ทำให้คู่กรณี บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด หรือรัฐบาลไทยประหลาดใจ

เพราะทั้งสองฝ่ายต่างแสดงเจตจำนงว่าจะเจรจาเพื่อหาทางระงับข้อพิพาทควบคู่ไปกับกระบวนการระงับข้อพิพาทตามกฎหมายระหว่างประเทศ

เพียงมีข้อสังเกตว่าก่อนถึงเดดไลน์ การขยับของไทยออกมาเป็นที่พอใจแก่ฝ่ายออสเตรเลีย

คิงส์เกตฯได้รับใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรมในไทยระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ 19 ม.ค. 2565 พร้อมยังได้ประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงจากรัฐบาลไทย แต่ละแปลงมีผลบังคับใช้ 10 ปี นับจากวันที่ 31 ธ.ค. 2564

ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เหมืองชาตรี หรือเหมืองทองอัครา ตรงพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ จะกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง และสุดท้ายอาจลงเอยแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ไม่น่าจะแฮปปี้และเอนดิ้งง่าย ๆ คือการคิดค่าเสียหายช่วงที่เหมืองอัคราถูกระงับดำเนินการ จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 เมื่อปี 2559 และมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2560

แม้ว่าค่าเสียหายอาจไม่สูงเท่ากับที่คิงส์เกตฯเรียกร้องให้รัฐบาลไทย 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30,000 ล้านบาท จากการละเมิดความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA แต่บิลที่ออกมาน่าจะมีมูลค่าสูงไม่น้อยเมื่อคำนวณตามช่วงเวลาการผลิตที่หายไป

เงินและข้อตกลงที่ทางการไทยต้องจ่ายคืนแก่คิงส์เกตฯทำให้ต้องย้อนไปดูว่าประเทศไทยมาอยู่ในจุดนี้ได้อย่างไร ซึ่งพบว่าตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 มีกลุ่มชาวบ้านร้องเรียนสำนักนายกฯ ว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ ส่วนบริษัทอัคราในสังกัดคิงส์เกตฯเปิดผลตรวจสุขภาพประชาชนตรงกันข้ามเพื่อโต้แย้ง

ระหว่างที่ขั้นตอนยังขยับไปไม่ถึงการแก้ไขและเยียวยา กลับมีคำสั่งจากหัวหน้า คสช. วันที่ 10 ธ.ค. 2559 ชี้ขาดให้เหมืองทองอัคราต้องยุติ

แม้ตอนนี้ข้อพิพาทมีแนวโน้มคลี่คลายได้ คำถามที่คงค้างก็คือ ผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านเคยร้องเรียนจะมีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ

เงินงบประมาณที่ใช้ในการระงับข้อพิพาท รวมถึงค่าทดแทนสินไหม ล้วนมาจากเงินภาษีใช่หรือไม่

การตัดสินใจเด็ดขาดของรัฐบาล คสช.ที่ทำให้ประชาชนทั้งหมดต้องร่วมรับผิดชอบในวันนี้และอนาคต จะทำให้กรณีนี้แฮปปี้เอนดิ้งได้อย่างไร