
รัฐบาลปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ ทยอยปรับ 2 ปี เริ่ม 1 พ.ค. 67 วันแรก เผยวุฒิตั้งแต่ ปวช.-ป.เอก เงินเดือนขยับขึ้นยกแผง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยให้มีผลบังคับใช้ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2568 นั้น
ทั้งนี้ การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี
โดยเป้าหมายการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษา (คุณวุฒิหลัก) จะมีดังนี้
วุฒิ ปวช.
เดิม อัตราเงินเดือน 9,400-10,340 บาท
ปีที่ 1 (1 พ.ค. 2567) ปรับเพิ่มเป็น 10,340-11,380 บาท
ปีที่ 2 (1 พ.ค. 2568) ปรับเพิ่มเป็น 11,380-12,520 บาท
วุฒิ ปวส.
เดิม อัตราเงินเดือน 9,400-10,340 บาท
ปีที่ 1 (1 พ.ค. 2567) ปรับเพิ่มเป็น 11,500-12,650 บาท
ปีที่ 2 (1 พ.ค. 2568) ปรับเพิ่มเป็น 13,920-15,320 บาท
วุฒิ ป.ตรี
เดิม อัตราเงินเดือน 15,000-16,500 บาท
ปีที่ 1 (1 พ.ค. 2567) ปรับเพิ่มเป็น 16,500-18,150 บาท
ปีที่ 2 (1 พ.ค. 2568) ปรับเพิ่มเป็น 18,150-19,970 บาท
วุฒิ ป.โท
เดิม อัตราเงินเดือน 17,500-19,250 บาท
ปีที่ 1 (1 พ.ค. 2567) ปรับเพิ่มเป็น 19,250-21,180 บาท
ปีที่ 2 (1 พ.ค. 2568) ปรับเพิ่มเป็น 21,180-23,300 บาท
วุฒิ ป.เอก
เดิม อัตราเงินเดือน 21,000-23,100 บาท
ปีที่ 1 (1 พ.ค. 2567) ปรับเพิ่มเป็น 23,100-25,410 บาท
ปีที่ 2 (1 พ.ค. 2568) ปรับเพิ่มเป็น 25,140-27,960 บาท
คาดว่าจะใช้งบประมาณในปีที่ 1 (12 เดือน) จำนวน 7,200 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จำนวน 8,800 ล้านบาท โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบฯกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือน และเงินปรับวุฒิข้าราชการในลำดับต่อไป
การปรับอัตราเงินเดือนดังกล่าวจะครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ
ข้าราชการในหน่วยธุรการของศาล ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการในสำนักงานขององค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และข้าราชการธุรการอัยการ