‘อมตะ’ ปั๊มยอดปี65โต 10% ผุดนิคมลาวเกาะรถไฟจีน-ดึงทุนแบตอีวี

“อมตะฯ” กางแผนปั๊มยอดเซลล์ “พื้นที่” พุ่ง 10% ปี’65 มั่นใจลงทุนฟื้นหลังโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ลุยดึงอุตฯแบตเตอรี่อีวี พร้อมขยายพอร์ตปักหมุดนิคมใหม่ที่หลวงน้ำทา ชูจุดแข็งมีเทอร์มินอลเกาะเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ดูดนักลงทุนโลจิสติกส์เชื่อม connectivity เข้าอีอีซี ย้ำไม่พับแผนสมาร์ทซิตี้เมียนมา

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจอมตะฯปี 2565 ในส่วนของพื้นที่ (land sale) คาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 10% จากปี 2564

เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2563 ทำให้การลงทุนชะลอตัว แต่ล่าสุดปี 2564 เริ่มกระเตื้องขึ้นมา และจนถึงขณะนี้ผ่านมาในช่วงระยะเวลา 24 เดือนสถานการณ์การแพร่ระบาดน่าจะเซตเทิลด้วยตัวเองตามวงจรของโรคระบาดกำลังจะไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

ส่งให้ภาคการลงทุนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากภาพการลงทุนในปี 2564 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมูลค่า 6.42 แสนล้านบาท ประกอบกับรายได้ในส่วนของการจำหน่ายน้ำ-ไฟ (utility) คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมส่งออกที่ขยายตัวสูงระดับ 2 หลักเมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการใช้กำลังการผลิตมากขึ้น และมีการใช้น้ำและไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีการพัฒนาพลังงานทางเลือก รวมถึงขยายการลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาเสริม ล่าสุดนิคมอมตะฯได้ประสานกับทางสำนักงานอีไอเอได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ให้สามารถรับการลงทุนแบตเตอรี่ได้แล้ว

จากเดิมที่ไม่สามารถรับการลงทุนนี้ได้เพราะติดเรื่องมลพิษจากวัสดุที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ เช่น ตะกั่ว จำเป็นต้องทำการตลาดเรื่องแบตเตอรี่อีวีซึ่งเป็นหัวใจของรถอีวี หากผู้ผลิตรถยนต์สามารถลดต้นทุนเรื่องแบตเตอรี่ได้ ทำให้ราคาอีวีลดลงก็จะสามารถขยายตลาดได้มากขึ้น

ล่าสุดในส่วนของนิคมได้มีการเจรจากับนักลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถอีวี ประเภทโซลิดสเตตเบดจ์จากหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้เล่นหลักในตลาดอีวี และญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนหลักของไทย

ซึ่งหากสามารถดึงการลงทุนนี้มาได้จะมาช่วยเสริม จากที่ตอนนี้ในนิคมมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมมีอยู่ 50% ของ 1,000 โรงงาน ดังนั้น กลุ่มใหม่ต้องเป็นการลงทุนที่มีเทคโนโลยีระดับสูงแอดวานซ์มากขึ้น

นายวิบูลย์กล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนขยายนิคมในต่างประเทศ หลังจากที่ประกาศชะลอโครงการลงทุนสมาร์ทซิตี้ในเมียนมาจากการปฏิวัติทางการเมืองที่ผ่านมา

ทางอมตะฯก็ได้ปรับแผนโดยขยายการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขึ้นที่หลวงน้ำทา ประเทศ สปป.ลาวเป็นครั้งแรก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างการเชื่อมโยง (connectivity)ระหว่างภูมิภาคอาเซียน-จีน โดยบริเวณดังกล่าวมีจุดเทอร์มินอลเส้นทางรถไฟจีน-ลาวผ่านอยู่ในโครงการของอมตะฯ

“โครงการที่เมียนมาเราเพียงแค่ชะลอดูชั่วคราวจากสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่แน่นอน จำเป็นจะต้องรอดูความชัดเจน เนื่องจากลักษณะการเมืองแต่ละประเทศแตกต่างกัน ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เรายังไม่ได้พับแผนโดยระหว่างดำเนินการคู่ขนานในด้านอื่น ๆ ในเรื่องของใบอนุญาตต้องให้ความชัดเจน

ซึ่งการชะลอแผนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เพราะเราได้พิจารณาแล้วว่าเรื่องสามารถรอได้ก็ไม่จำเป็นจะต้องรีบร้อนวันนี้ ขณะเดียวกัน เราได้ปรับแผนการลงทุนเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ หากยังไม่สามารถดำเนินการในจุดนี้ได้เราก็สามารถไปดำเนินการที่จุดอื่นได้ เช่น สปป.ลาว ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่อมตะฯเข้าไป”

สำหรับนิคมที่หลวงน้ำทานั้นมีชื่อว่าอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค้ ซิตี้ (AMATA SMART & ECO CITY) บนพื้นที่ 2,562.5 ไร่ งบประมาณลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมกราคม 2565 เบื้องต้นวางเป้าหมายถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์

เพราะลาวถือว่าเป็นประเทศที่มีทำเลเหมาะสมที่สามารถขนส่งเชื่อมโยงในภูมิภาคมากกว่าแหล่งลงทุนในภาคการผลิต เพราะลาวมีจำนวนแรงงานไม่มากนัก ซึ่งด้วยจุดเด่นด้านทำเลทำให้จีนมองถึงโอกาสนี้เข้าไปลงทุนสร้างรถไฟจีน-ลาวแล้ว

โอกาสขยายเส้นทางโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงต่อมาทาง จ.หนองคาย และเข้าสู่จนถึงแหลมฉบัง เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอนาคต และอาจสามารถลงทางภาคใต้ของไทยได้อีกด้วย

“โครงการที่หลวงน้ำทาตอนนี้มีความคืบหน้าไปมากพร้อมที่จะดึงดูดการลงทุนแล้ว เรามั่นใจเรื่องการขยายการลงทุนเข้าไปใน สปป.ลาว connection การเข้าไปลงทุนในลาวได้รับการพิจารณาอนุมัติจากรัฐบาลถือเป็นสิ่งสำคัญ

ซึ่งบริษัทต้องมั่นใจว่าเมื่อเราเข้าไปลงทุนแล้วจะสามารถทำอะไรให้ได้บ้าง ผมเชื่อว่านักลงทุนมีความมั่นใจที่จะไปกับอมตะฯ เรามีต้นแบบการดำเนินโครงการที่เห็นได้ชัดทั้งในไทยและเวียดนามมาแล้ว นักลงทุนเห็นว่าอมตะฯทำอะไร

และรีเทิร์นให้กับสังคมอย่างไร แน่นอนว่าการทำธุรกิจย่อมจะต้องมีผลกำไรอยู่แล้ว แต่ลูกค้าเข้าไปกับอมตะฯจะต้องมีความเชื่อมั่นในอมตะฯที่สร้างมากว่า 30-40 ปีที่ผ่านมา”