ยูเครนทุบซ้ำ “อาหารสัตว์” โรงงานขยับออกต่างประเทศ

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา การผลิตอาหารสัตว์ของไทยทรงตัวที่ประมาณ 20-21 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มว่าปีนี้การผลิตอาหารสัตว์จะลดลงเหลือ 19.08 ล้านตันเท่านั้น

แต่ล่าสุดเกิดความพลิกผันการผลิตอาหารสัตว์อาจทำได้เพียง 17-18 ล้านตันจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นแรงกดดันทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารพุ่ง โดยยูเครนถือเป็นแหล่งปลูกและส่งออก “ข้าวสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารคนและอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 10 ปี อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ใช้วัตถุดิบ “ธัญพืช” ชนิดนี้ทั่วโลกรวมถึงไทยถูกแรงบีบอย่างหนัก

“นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยอมรับว่า สถานการณ์สงครามยูเครนที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตอาหารของประเทศรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก มีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก

“เมื่อเกิดสงครามทำให้ระดับราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นทันทีเป็น 12.75 บาท/กก. จากราคา 8.91 บาท/กก.ในปี 2564 หรือสูงขึ้นประมาณ 30-35% ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยพุ่งสูงกว่าตลาดโลกไปอยู่ที่ 12 บาท/กก. และมีแนวโน้มขยับต่อเนื่องไปถึง 15 บาท/กก. แม้จะราคาแพงขนาดไหนแต่ก็ไม่มีผลผลิตข้าวโพดออกสู่ตลาดแล้ว จากความต้องการใช้ข้าวโพดทั้งหมด 7.98 ล้านตัน ยังขาดแคลนถึง 3.18 ล้านตัน จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบทดแทนซึ่งได้แก่ ข้าวสาลี ที่กำลังมีราคาพุ่งสูงสุดจากสงครามดังกล่าวข้างต้น”

“วัตถุดิบ” ไม่พอ

“วิกฤตยูเครน” ถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย จากที่ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ถูกกระทบจากปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอและมีราคาสูง โดยรัฐมีมาตรการในการแก้ไขสถานการณ์ “ข้าวโพด” ด้วยการกำหนดผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องรับซื้อข้าวโพดที่ปลูกได้ในประเทศ ในราคา กก.ละ 8.50 บาท เพื่อป้องกันไม่ให้การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากระทบราคาในประเทศ

โดยกำหนดในอัตราซื้อ 3 ส่วนต่อการนำเข้า 1 ส่วน หรือ 3 ต่อ 1

“ประเด็นคือ ข้าวโพดที่ผลิตในประเทศผลิตได้ 4.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งแม้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีวัตถุดิบทั้งหมด 100% ก็จะนำเข้าได้เพียง 1 ล้านตันเท่านั้น หากรวมระหว่างข้าวโพดในประเทศ 4.5 ล้านตัน และข้าวสาลีนำเข้า 1 ล้านตัน นั่นก็ยังมีวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ใช้รวม 6 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่ 8.5 ล้านตัน ทำให้โรงงานอาหารสัตว์ขาดวัตถุดิบอีก 2-3 ล้านตัน เมื่อบล็อกการนำเข้าวัตถุดิบเป็นการจำกัดการผลิตของโรงงานอาหารสัตว์ จึงขอให้ยกเลิก”

ทางอุตสาหกรรมอาหารสัตว์พยายามเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมนี้ด้วยการ “ลดกำแพงภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง” จาก 2% เป็น 0% เพื่อจะได้กากถั่วเหลืองราคาต่ำลดลง ซึ่งประเด็นนี้ ไม่กระทบต่อเกษตรกร เพียงแต่อาจจะกระทบอุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมาบีบแล้วขายกากถั่วเหลือง

ล่าสุดโรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลืองอ้างผลกระทบจากสงครามยูเครนประกาศราคาขายกากถั่วเหลืองที่ 22.50 บาท/กก. จากราคา 18.91 บาท/กก.ในปี 2564 โดยที่ยังไม่รวมต้นทุนค่าขนส่งจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ก่อนหน้านี้ที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น

อาหารสัตว์

คุมราคาขาย-ปิดทางทำกำไร

แต่ภาครัฐ “ปฏิเสธ” ข้อเรียกร้องของกลุ่มโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ทำหนังสือไปขอให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% และไม่ยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 ทั้งยังควบคุมไม่ให้อาหารสัตว์ปรับราคาขายตามกลไกตลาด

นายพรศิลป์กล่าวว่า จากสถานการณ์การผลิตอาหารสัตว์ปีนี้คาดว่าจะลดลงเหลือ 4-5 ล้านตัน จาก 22 ล้านตัน เหลือ 17-18 ล้านตัน ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายก่อนหน้านี้ที่ตั้งไว้ 19.08 ล้านตัน

“ที่ผ่านมาในช่วงปี 2531 อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เคยเติบโตปีละ 8% มาถึงปี 2563-2564 เปลี่ยนมาเป็นติดลบ 1.41% และในปี 2564-2565 คาดว่าจะติดลบถึง 5.63% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อไม่สามารถหาวัตถุดิบมาผลิตอาหารสัตว์ได้ หรือแม้จะหามาผลิตได้แต่ก็ต้องขายในราคาขาดทุน”

ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหลายแห่งจึงจำเป็นต้องทยอยลดกำลังการผลิตและปิดไลน์การผลิตอาหารสัตว์ลงบางส่วน

“หนทางที่อุตสาหกรรมนี้จะอยู่รอดก็คือ ต้องขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความพร้อมในด้านวัตถุดิบ เช่น เพื่อนบ้านอาเซียนอย่างเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานอาหารสัตว์ไทยขยายการลงทุนออกไปจำนวนมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดผลิตสำหรับฐานผลิตในประเทศไทย แต่เป็นการลดไซซ์การผลิต” นายพรศิลป์กล่าว

หวั่นราคา “ปศุสัตว์” พุ่ง

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้นทั้งหมด หากกลุ่มอาหารสัตว์ปรับขึ้นราคาจำหน่าย หรือลดกำลังการผลิตก็อาจจะกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงสุกรได้ ทั้งนี้ สมาคมประกาศราคาสุกรในวันพระล่าสุดก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ปรับราคาลดลงแล้ว โดยราคาหมูหน้าฟาร์ม กก.ละ 84-88 บาท ราคาขายปลีก กก.ละ 166-176 บาท ซึ่งขณะนั้นราคาข้าวโพด กก.ละ 11.45 บาท

ขณะที่ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า สถานการณ์โลกปัญหาในยูเครน-รัสเซียกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งยังต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศเพื่อผลิตอาหารสัตว์ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม กรมอยู่ระหว่างการหารือกับโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพื่อขอให้ประคองสถานการณ์การผลิต และยังขอให้ตรึงไม่ให้มีการปรับขึ้นราคา เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

โดยจนถึงขณะนี้ราคาหมูเนื้อแดงเฉลี่ยทั้งประเทศ (27 ก.พ. 65) กก.ละ 149.25 บาท สำหรับไก่น่องติดสะโพก กก.ละ 66-67 บาท กระทรวงพาณิชย์ยังประเมินว่าสถานการณ์จะยังคงทรงตัว อย่างไรก็ตาม จะประมาทไม่ได้เพราะช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะเดือนเมษายนของทุกปีจะเป็นช่วงพีกของราคาสุกร และล่าสุดไข่ไก่คละเฉลี่ยทั้งประเทศปรับขึ้นจาก 2.90 บาท เป็นฟองละ 3.20 บาทแล้ว