หอการค้าไทยห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน เลวร้ายสุดยืดเยื้อ 1 ปี ดันเงินเฟ้อพุ่ง 5.5%

ธนวรรธน์ พลวิชัย

หอการค้าไทย ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อเลวร้ายสุด 1 ปี ดันเงินเฟ้อไทยทั้งปี 2565 พุ่ง 4.5-5.5% เศรษฐกิจไทย ขยายตัว 2.7% มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 2.4 แสนล้านบาท

วันที่ 9 มีนาคม 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลกระทบจากกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครน ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย มีทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรง การส่งออกไทยไปในตลาดที่มีข้อพิพาท มีแนวโน้มสูญเสียไปประมาณ 70-90% จากกำลังซื้อที่หดตัว การขนส่งสินค้ายุ่งยากใช้เวลานาน ต้นทุนสูงขึ้น การชำระเงินไม่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะหายไป และการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น

ส่วนผลกระทบทางอ้อม ค่าเงินบาทจะมีความผันผวน อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นแตะอยู่ที่ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น การบริโภค การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว รายได้จากนักท่องเที่ยวนอกพื้นที่พิพาทก็อาจจะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ หอการค้าไทยยังประเมินสถานการณ์ปัญหาพิพาทไว้ 3 กรณี ดังนี้

1.กรณีแย่ (ความขัดแย้งจบภายใน 3 เดือน) มูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย จะได้รับผลกระทบราว 73,400 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ลดลง 0.5% หรือลงมาอยู่ที่ 3.7% ในปี’65 ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.0-3.5% 2.กรณีแย่กว่า (ความขัดแย้งจบภายใน 6 เดือน) มูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย จะได้รับผลกระทบราว 146,800 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ลดลง 0.9% หรือลงมาอยู่ที่ 3.3% ในปี 2565 ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5-4.5%

3.กรณีแย่ที่สุด (ความขัดแย้งยืดเยื้อตลอดปี 2565) มูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย จะได้รับผลกระทบราว 244,700 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ลดลง 1.5% หรือลงมาอยู่ที่ 2.7% ในปี 2565 ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4.5-5.5%

“ถ้าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อไปตลอดทั้งปีนี้ เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะเติบโตอยู่ในระดับ 2% ขณะที่เงินเฟ้อจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5% และหากปัญหาราคาน้ำมันพึ่งสูงขึ้นแตะที่ 200-300 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โอกาสที่เศรษฐกิจจะติดลบได้ แต่ทั้งนี้ ยังเป็นการประเมินที่เร็วไปยืนยันไม่ได้ โดยหอการค้าไทยจะประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นและปรับประมาณการใหม่ได้หลังกลางเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป”

อย่างไรก็ดี การประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่หอการค้าไทย คาดการณ์ไว้เป็นเพียงกรณีปัญหารัสเซีย-ยูเครนเท่านั้น ยังไม่รวมผลกระทบจากปัจจัยอื่นที่สำคัญในปีนี้ เช่น การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ดังนั้น ยังเร็วที่จะสรุปเนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่นิ่ง และ ม.หอการค้าไทย จะยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ ไปจากเดิมที่เคยคาดไว้เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% และอัตราเงินเฟ้อที่ 3.5% แต่ทั้งนี้ จะรอดูแนวโน้มและสถานการณ์อีกครั้ง ก่อนที่จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ในช่วงเดือนเมษายน 2565 นี้

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ต่างประเทศยังประเมินถึงปัญหาที่เกิดขึ้น น่าจะลากยาวไปถึง 3 ปี และโอกาสที่เศรษฐกิจโลกก็จะหดตัวต่ำลง ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น หอการค้าไทยมองโอกาสเฉลี่ยทั้งปี น้ำมันจะอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และหากอยู่ในระดับนี้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยขึ้นมาอีก 5 บาทต่อลิตรโดยเฉลี่ย ทั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโตต่ำลง 1.5-2% หรือน้ำมันขึ้น 1 บาทต่อลิตร เศรษฐกิจไทยหดตัวลง 0.3-0.4%