เปิดทางนำเข้าข้าวสาลี 4 แสนตัน ต้นทุน “อาหารสัตว์” ไม่ลด

วัตถุดิบอาหารสัตว์

ผ่านมา 1 สัปดาห์หลังจากที่มีการประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และตัวแทนเกษตรกรด้านการเพาะปลูก ถึงสถานการณ์ปุ๋ยเคมี วัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในรอบสิบปีจากผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดแห่งชาติ (นบขพ.) พิจารณาออกประกาศยกเลิกการใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 หรือมาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เป็นการชั่วคราวได้ถึงวันที่ 31 ก.ค. 65 เปิดทางนำเข้าวัตถุดิบทดแทน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสียหายของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร เพราะเป็นช่วงที่ไทยยังไม่มีผลผลิตข้าวโพด

นำเข้าข้าวสาลีเดือนละ 1 แสนตัน

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามกระบวนการหลังจากประชุมกับ 2 กระทรวงแล้ว ยังต้องมาหารือกัน เพื่อกำหนดว่ากำหนดจะเริ่มวันเริ่มนำเข้าเมื่อไร และปริมาณที่เหมาะสมเท่าไร และต้องเสนอที่ประชุม นบขพ.ประกาศ ซึ่งหากประกาศกำหนดเริ่ม 1 เม.ย. 2565-31 ก.ค. 2565 คิดเป็นระยะเวลา 4 เดือน คาดว่าจะมีการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านตัน จากการนำเข้าปีก่อน มีการซื้อข้าวสาลี 1.2 ล้านตัน เท่ากับนำเข้าเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน รวมแล้วคงต้องมีการนำเข้า 4 ล้านตัน ส่วนแหล่งนำเข้าอาจต้องเปลี่ยนไปเป็นออสเตรเลียหรืออินเดียแทน เพราะขณะนี้เส้นทางขนส่งติดปัญหาเรื่องรัสเซีย-ยูเครน

ไม่ลดราคาอาหารสัตว์

ต่อคำถามว่าเมื่อยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 แล้ว จะทำให้ราคาอาหารสัตว์ลดลงหรือไม่ นายพรศิลป์กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาเรื่องปริมาณ เพราะไทยมีวัตถุดิบข้าวโพดไม่เพียงพอที่จะนำมาคำนวณโควตานำเข้า 3 ต่อ 1 ซึ่งการยกเลิกมาตรการเป็นการ “ปลดล็อกด้านปริมาณ” ให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบทดแทนเข้ามาเพิ่มได้ ปริมาณมากขึ้น เพื่อเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศการค้าลง แต่ไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนหรือราคา เพราะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำเข้ายังต้องอิงกับราคาตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ราคาปรับขึ้นไปสูงมาก ผู้ประกอบการประสบปัญหาต้นทุนสูงมาเป็นเวลานาน การยกเลิกมาตรการนี้จึงไม่อาจจะทำให้ผู้ผลิตลดราคาอาหารสัตว์ได้

“ไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นการลดราคา เปรียบเทียบว่าตอนนี้เหมือนเรากำลังตกน้ำจะตายอยู่แล้ว รัฐบาลโยนห่วงยางมาให้เรา แล้วถามว่าจะซื้อห่วงยางเท่าไรอย่างไรนั้นหรือ ซึ่งมันไม่ใช่”

ห้ามส่งออก “ข้าวโพด-กากถั่ว”

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาด้านราคาอาหารสัตว์นั้น นายพรศิลป์มองว่า รัฐบาลต้องมองทั้งระบบในภาพรวมไม่ใช่แก้ปัญหาเป็นจุด ๆ แบบนี้ การมองภาพรวมเพื่อแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบสามารถทำได้หลายวิธีคู่ขนานกัน เช่น ลดภาษีนำเข้า ต้องมีการผ่อนคลายให้นำเข้าวัตถุดิบทดแทน หรือแม้แต่ต้องมีการห้ามส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด หรือกากถั่วเหลือง เพื่อให้มีเพียงพอใช้ในประเทศก่อน ดึงราคาให้ลดลงมา เช่นเดียวกับที่ “อาร์เจนตินาห้ามส่งออกถั่วเหลือง” เพื่อจะดึงให้มีวัตถุดิบไว้ใช้ภายในก่อน และทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลง และที่สำคัญรัฐต้องมองไปถึงการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยเฉพาะมาตรการเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะนำมาใช้ใน 1-2 ปีนี้

ขณะที่แนวทางการใช้วัตถุดิบทดแทนภายในประเทศ อย่างเช่น มันสำปะหลัง ปลายข้าว ทางผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้มีการพิจารณาและซื้อใช้มาตลอด เช่น ปลายข้าวปีละ 1 ล้านตัน แต่ต้องยอมรับว่าส่วนผสมอาหารจะทดแทนได้ในอาหารบางสูตรเท่านั้น เช่น อาหารหมูอาจจะใช้ปลายข้าวได้สูงสุด แต่ไปใช้ในอาหารไก่ไม่ได้ เพราะคุณค่าอาหารที่แต่ละชนิดสัตว์ต้องการแตกต่างกัน

ส่วนมันสำปะหลังก็มีการนำมาใช้ได้ แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันปริมาณการผลิตมันสำปะหลังแทบจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะความต้องการส่งออกไปยังประเทศจีน แต่จุดสำคัญ ในการเลือกวัตถุดิบทดแทน คือ เรื่องราคา หากราคาแตกต่างกัน กก.ละ 1 บาท จึงจะจูงใจให้ปรับสูตร ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาข้าวลดลงสมาคมไปช่วยซื้อ 50,000 ตัน แต่ขณะนี้ส่งออกได้ดี ราคาข้าวสูงขึ้น ถามว่าจะยังมีคนมาขายข้าวเพื่อผลิตอาหารสัตว์หรือไม่

“วัตถุดิบทดแทนเราซื้อมาตลอด แต่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ 100% ถ้าจะกดดันอาหารสัตว์ให้ซื้อได้อย่างไร เราอยู่กันคนละธุรกิจ เขาจะมากดดันได้อย่างไร ถ้าเรามันแพงเท่ากันเราต้องเลือกแต่คุณภาพมันต่างกัน ถึงราคาถูกกว่ามันอาจจะจูงใจ แต่เราก็ต้องคิด”

ชาวไร่มันค้านสุดทาง หวั่นทุบราคาเกษตร

ขณะที่ นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วยกับมติการยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 โดยมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์หรือไม่ เพราะการประชุมไม่ได้มีความชัดเจนในเรื่องการตรวจสต๊อกวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปัจจุบันเหลือเท่าไร และปริมาณอาหารสัตว์ที่ผลิตได้มีเท่าไร สามารถใช้ได้กี่เดือน มีแต่เพียงรายงานผลกระทบจากเหตุการณ์สงคราม ทำให้ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเมื่อสอบถามไปยังในที่ประชุมกลับไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งหากไม่ได้ข้อสรุปและจะยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 ทางสมาคมจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด โดยจะขอให้คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบเรื่องนี้

อีกประเด็นที่เสนอ คือ หากขาดแคลนวัตถุดิบจริงก็สามารถนำธัญพืชชนิดตัวอื่นที่มีอยู่ในประเทศ เช่น มันสำปะหลัง ปลายข้าว เป็นต้น มาใช้ทดแทนสารอาหารได้ หรือนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านได้ ภายใต้โควตาและข้อตกลง ตามกรอบเงื่อนไของค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งอนุญาตให้นำเข้าได้ช่วงที่ยังไม่มีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคมของทุกปี ประมาณปีละ 1 ล้านตัน นอกจากนี้ ไทยยังมีผลผลิตข้าวโพดหลังนาที่กำลังจะออกสู่ตลาด

“หากมีการยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 โดยไม่คำนึงผลกระทบต่อช่าวไร่ อาจจะถูกกดราคารับซื้อในช่วงที่ผลผลิตออก ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีปริมาณผลผลิตมากถึง 34 ล้านตัน จากปกติก 30 ล้านตัน เสี่ยงล้นตลาด เพราะมีความต้องการใช้ในประเทศประมาณ 24 ล้านตัน และประมาณ 10 ล้านตัน ส่งออก ณ ส่วนราคาปัจจุบัน ราคาหัวมันสด กก.ละ 2.60 บาท จากต้นทุนการปลูก กก.ละ 2.50 บาท ส่วนราคารับซื้อมันเส้น กก.ละ 7.60 บาท ยังรับได้ แต่หากยกเลิกมาตรการ 3 : 1 จริง สมาคมจะเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างถึงที่สุด”

ส.ค้าพืชไร่ร้องนายกฯประยุทธ์ 2 รอบ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่ ได้มีหนังสือถึงต่อนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) พร้อมทั้งสำเนาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นรอบที่ 2 นับจากที่ทำไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 เพื่อคัดค้านการยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อาจถูกกดราคารับซื้อ ซึ่งจะกระทบต่อข้าวโพดหลังนาที่กำลังจะออกสู่ตลาดปลายเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ปริมาณ 6 แสนตัน

ส่วนหนังสือล่าสุดมีสาระสำคัญ คือ การขอคัดค้านการห้ามส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง พร้อมทั้งระบุว่ามีความผิดปกติกรณีที่มีการสั่งซื้อข้าวสาลีอาหารสัตว์ 2.9 แสนตัน ก่อนที่จะมีการประชุมเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ให้ยกเลิกมาตรการ 3 : 1 ชั่วคราว จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างชัดเจน เพื่อการพิจารณาอย่างยุติธรรม วัตถุดิบอาหารสัตว์ในรอบฤดูการผลิตปี 2564 และ 2565 ด้าน demand และ supply ทุกประเภท รายเดือน รวมถึงข้อมูลปริมาณการนำเข้า การส่งออกของแต่ละประเภทวัตถุดิบอาหารสัตว์รายเดือน เป็นอย่างไร รวมถึงขอให้พิจารณาเลือกใช้วัตถุดิบทดแทนภายในประเทศ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งมีปริมาณเพียงพอและราคาถูก

และมีข้อมูลจากนักวิชาการให้ความเห็นว่าสามารถปรับสูตรมาใช้ได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรคนไทยด้วย แต่กลับมีการออกมาตรการมาตรวจสอบสต๊อกข้าวโพดจากพ่อค้าคนกลางทั่วประเทศแทน ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่อเจตนาในการใช้กลไกของรัฐมาควบคุมกลไกตลาด ซึ่งอาจจะเป็นแรงกดดันให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่ำกว่าราคาส่งออกได้ในอนาคต


อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุด ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศที่เคยปรับตัวสูงสุดถึง กก.ละ 13 บาท ขณะนี้ราคาเริ่มอ่อนตัวลงมาที่ กก.ละ 12.65 บาท และมีโอกาสที่ราคาจะอ่อนตัวลงไปอีก