น้ำตาลไทยไม่ขาดแคลน ไม่ต้องห้ามส่งออก สอน. มั่นใจตรึงราคาได้

ภาพจาก Pixabay

สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้สต๊อกน้ำตาลทั้ง 57 โรงยังมีสำรองกินในประเทศกว่า 5 ล้านตัน ไม่ขาดแคลนไม่ต้องห้ามส่งออก 

วันที่ 5 มิถุนายน 2565 นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าตามระบบการบริหารจัดการน้ำตาลทรายของประเทศไทย จะมีกลไกที่เรียกว่าบัฟเฟอร์สต๊อก (Buffer Stock หรือการกันน้ำตาลสำรองเอาไว้ของโรงงานทุกแห่ง ทั้ง 57 โรง ปริมาณ 180,000 ตัน/เดือน

เพื่อเป็นการป้องกันหากปริมาณน้ำตาลในประเทศขาดแคลน ก็จะให้ดึงน้ำตาลส่วนนี้ออกมาใช้ ดังนั้นแล้วจึงทำให้น้ำตาลในประเทศจะไม่มีวันขาดแคลน จนถึงขั้นต้องห้ามส่งออกหรือต้องกันสต๊อกเพิ่มเหมือนในหลายประเทศ อย่าง อินเดีย

ปัจจุบันประเทศไทยบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 2.4 ถึง 2.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่ต้องกันน้ำตาลไว้ขายในประเทศ ในขณะเดียวกันที่เหลือจะเป็นการส่งออกทั้งหมด โดยฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 ปิดหีบอยู่ที่ 92 ล้านตัน มีปริมาณน้ำตาล 10.15 ล้านตัน

“ระบบน้ำตาลบ้านเรามีความเสถียรมาก ไม่มีทางที่จะน้ำตาลขาดแคลนไม่พอกินในประเทศ ส่วนเรื่องของการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย เรายอมรับว่าต้นทุนการผลิตมันขึ้นมาก ทั้งปุ๋ย ราคาน้ำมัน ขณะที่น้ำตาลเองไม่ได้ขึ้นราคามาหลายปีแล้ว แต่เราต้องประคองราคาตรงนี้ไว้ให้ได้ จะยังตรึงราคาน้ำตาลไว้ให้นานเท่าสุด”

สำหรับทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลก ช่วงนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดย ณ วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ราคาซื้อขายน้ำตาลตลาดล่วงหน้า นิวยอร์ก (no.11) ราคาอยู่ที่ 19.44 เซนด์/ปอนด์ ลอนดอน (no.5) อยู่ที่ 578.10 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือโดยเฉลี่ยแล้วราคาจะอยู่ที่ 19-20 เซนด์/ปอนด์ นับว่าสูงทำให้ราคาขายน้ำตาลของไทยจะได้ราคาที่ดี เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตที่สูงแล้ว

จึงยังทำให้ราคาน้ำตาลทรายในประเทศไม่ได้รับผลกระทบ และยังสามารถตรึงราคาไว้ได้ นอกจากนี้ยังต้องเข้มงวดและเฝ้าระวังการลักลอบน้ำตาลไปขาย เพราะเป็นช่วงราคาตลาดโลกที่สูง