ดวงใจ-คณิศ ส่งไม้ต่อ บีโอไอ-EEC ฝ่ามรสุมลงทุน

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน (2561) ยุคทองของประเทศไทยที่ทำสถิติยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนทะยานขึ้นไปถึง 901,770 ล้านบาท ทะลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 720,000 ล้านบาท ภายใต้การขับเคลื่อนของ “นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คนปัจจุบัน ผลมาจากการออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อกระตุ้นการลงทุนโดยเฉพาะโครงการไซซ์บิ๊กระดับ 1,000 ล้านบาท

บวกกับการระดมทีมเศรษฐกิจโรดโชว์ต่างประเทศในขณะนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวเรือใหญ่ผู้นำทัพ อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของสงครามเทรดวอร์จีน-สหรัฐ หนุนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไปเร็วกว่าที่คิด มีบิ๊กดีลระหว่าง “ไทย-อาลีบาบา” และยังสามารถดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) มาได้มากถึง 80% ของยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด

“นฤตม์” เลขาฯบีโอไอป้ายแดง

แต่แล้วความไม่เสถียรของการเมืองได้เขย่าทีมเศรษฐกิจทั้งหมด การเปลี่ยนตัวผู้นำทัพ มือซ้ายมือขวา ทำให้เกิดช่องโหว่เป็นจังหวะที่เวียดนามขึ้นแซงโดยชูสิทธิประโยชน์เหนือกว่า ยิ่งไปกว่า คือ ค่าจ้างแรงงานถูกกว่าไทยครึ่งต่อครึ่ง หลายบริษัทหันไปซบเวียดนามแทน ไม่รวมนักลงทุนรายใหม่ที่กำลังตัดสินใจก็เริ่มเบนเข็มไปเช่นกัน

ซ้ำเติมด้วยวิกฤตซ้อนวิกฤตจากที่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้ทุกกิจกรรมหยุดชะงักในทันที การโรดโชว์ต้องชะลอ หลายประเทศปิดการเข้า-ออก 2 ปี (ปี 2563-2564) โควิดยังไม่ทันคลี่คลาย วิกฤตใหม่ก็ตามมาจาก “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ทำให้เกิดวิกฤตพลังงาน วัตถุดิบขาด อาหารไม่เพียงพอ เงินเฟ้อ ค่าเงินผัวผวน มรสุมนี้ฉุดเศรษฐกิจทุกด้านลงอย่างรวดเร็ว

รายได้ภาคการลงทุนถือเป็น 1 ใน 4 เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไทยต้องเดินหน้าต่อ และต้องมีงัดไม้เด็ด เพื่อดึงการลงทุนใหม่ และกระตุ้นการลงทุนที่ถูกแช่แข็งไว้ให้เดินหน้าต่อ แต่ก็เป็นจังหวะที่แม่ทัพใหญ่บีโอไอ “ดวงใจ” เกษียณ จึงต้องส่งไม้ต่อให้ “นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการบีโอไอ” คนใหม่ นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป

“นฤตม์” นับว่าเป็นลูกหม้อคนสำคัญของบีโอไอ และยังคงเป็นผู้จัดทำ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ปี 2558-2565” ถือเป็นการปรับใหญ่ของบีโอไอ ที่จะต้องล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของโลก ชูมาตรการดึงการลงทุน อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เพื่อสร้างแต้มต่อให้ประเทศ

ลุ้นเลขาฯ EEC อีกเก้าอี้

อีกด้านหนึ่ง “EEC” เป็นหนึ่งในเดสติเนชั่นการลงทุนที่ไทยใช้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยชูจุดเด่นจากการมีกฎหมาย “พ.ร.บ.เฉพาะ” ที่ให้อำนาจแทบจะเบ็ดเสร็จในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) จนในแต่ละปีสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

โดยมี “นายคณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กุมบังเหียนมาตั้งแต่ต้น ผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่รองรับ แต่ก็เหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้น ที่นายคณิศจะดำรงในตำแหน่งดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนสรรหาผู้ที่เหมาะสมที่จะมารับไม้ต่อ

สำหรับแคนดิเดตเลขาฯอีอีซีมีทั้งคนในอย่าง “นายธัชพล กาญจนกูล” รองเลขาธิการ สายงานพื้นที่และชุมชน หรืออดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และมี “คนนอก” ที่แว่วว่ามาจาก “บุคคลคร่ำหวอดในสายพลังงาน” ซึ่งต้องรอความชัดเจนจาก “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (บอร์ด EEC) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเร็ว ๆ นี้


แต่ “โจทย์” ของอีอีซีไม่ต่างจากบีโอไอที่ต้องงัดวิทยายุทธ์ ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ให้สิทธิลดหย่อนภาษี 50% เพิ่ม 5 ปี ออนท็อปจากสิทธิประโยชน์ที่ได้จากบีโอไอ และยังได้สิทธิพิเศษเจรจาความต้องการแบบเฉพาะรายอีกสำหรับการลงทุนใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ทั้งอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ พลังงานหมุนเวียน ชีวภาพ เพื่อขับเคลื่อนเม็ดเงินลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 500,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า