ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติใกล้สมบูรณ์ชงงบฯอีก 1,800 ล้าน ขึ้นเฟส 2

ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ

สมอ.เดินหน้าก่อสร้าง “ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ” 3,706 ล้านบาท เฟส 1 สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 เสร็จเรียบร้อย รองรับทั้งรถสันดาปและ EV ของบฯปี 2566 อีก 1,833 ล้านบาท ลุยเฟส 2 ทั้งอาคาร ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน คาดแล้วเสร็จ 100% พร้อมเปิดใช้ปี 2569

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center-ATTRIC) ซึ่งได้มอบหมายให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการบนพื้นที่ 1,235 ไร่ ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซููเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่

ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ

สนับสนุนให้มีการออกแบบ วิจัยพัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบ และรับรองในภูมิภาคอาเซียน มีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ที่ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ

สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการพัฒนาและเติบโตขึ้น ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญของโลก ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์ทดสอบเพื่อรองรับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ยางล้อ ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 3,705.7 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรแล้ว 1,872.7 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการของบประมาณ ปี 2566 อีก 1,833 ล้านบาท โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อ ได้ดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 (เกณฑ์มาตรฐานยางล้อที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปของสหประชาชาติ) และอาคารปฏิบัติการทดสอบยางล้อแล้วเสร็จ รวมทั้งดำเนินการติดตั้งเครื่องมือทดสอบยางล้อ ด้านมลพิษทางเสียง การยึดเกาะบนพื้นผิวเปียก และความต้านทานการหมุน แล้วเสร็จ โดยเปิดให้บริการทดสอบแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ส่วนอาคารสำนักงานคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565

ระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารและสนามทดสอบแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ สถานีควบคุมการทดสอบ สนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance Track) สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake (Test Hill) Track) สนามทดสอบพลวัต (Dynamic Platform Track) สนามทดสอบการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง (Skid Pad Track) และถนนหลักในสนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน

รวมทั้งดำเนินการติดตั้งเครื่องมือทดสอบ ได้แก่ ชุดทดสอบเข็มขัดนิรภัย ชุดทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย และชุดทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศีรษะแล้วเสร็จ คงเหลือชุดทดสอบห้ามล้อ ที่อยู่ระหว่างการติดตั้งและส่งมอบซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี 2565

“สำหรับการของบประมาณโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในปี 2566 ส่วนที่เหลืออีก 1,833 ล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการก่อสร้างสนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว อาคารสำหรับเตรียมสภาพรถ ทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อ และ LAB ทดสอบการชน รวมทั้งใช้ในการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบเพิ่มเติม ได้แก่ ชุดทดสอบอุปกรณ์เลี้ยว

ชุดทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง ชุดทดสอบมาตรความเร็ว ชุดทดสอบความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง พลังงานไฟฟ้า และระยะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ชุดทดสอบการชนด้านหน้าและการชนด้านข้าง และชุดทดสอบอุปกรณ์สัญญาณเสียงเตือน ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างครบวงจรในปี 2569”