เปิดเหตุผล 3 สมาคม รง.น้ำตาล ค้านร่างกฎหมายจัด “กากอ้อย” เป็น “ผลพลอยได้”

ปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย(TSMC)
ปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย(TSMC)

เปิดเหตุผลที่โรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วยกับการนำ “กากอ้อย” เป็น “ผลพลอยได้” ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังผ่านการเห็นชอบวาระ 3 อยู่ในขณะนี้ กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการอุตสาหกรรมน้ำตาล ต้องออกแถลงการณ์ ถึงจุดยืนไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

โดยมองว่า เป็นการเสนอร่างกฎหมายที่โรงงานไม่มีสิทธิเข้าร่วมพิจารณา ขัดหลักนิติธรรม สร้างความขัดแย้งในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมีมติร่วมกันในการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปฏิเสธไม่รับร่างการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังผ่านการเห็นชอบวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เพิ่มคำว่า “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้”

เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในอุตสาหกรรม ไม่ได้รับสิทธิแต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งขัดต่อหลักเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วม และจะนำมาซึ่งความแตกแยกในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมนี้

 “กากอ้อย” ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน

การคัดค้านดังกล่าว เนื่องจาก “กากอ้อย” ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานตามข้อตกลงเดิมภายใต้สัญญาซื้อขายอ้อยปี 2525 ซึ่งถือเป็นต้นทุนด้านพลังงานที่โรงงานใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตน้ำตาลทรายเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้แบ่งปันให้ชาวไร่อ้อยร้อยละ 70 และโรงงานร้อย 30 และ “กากอ้อย” ถูกจัดให้เป็นขยะอุตสาหกรรมจากการกระบวนการผลิตที่โรงงานต้องรับผิดชอบภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยฝ่ายโรงงานลงทุนฝ่ายเดียวทั้งหมด เพื่อจัดการของเสียดังกล่าวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำกากอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า

ดังนั้น การเพิ่ม “กากอ้อย” ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นการเอาประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่มีสิทธิปกป้องสิทธิของตน จึงทำให้ฝ่ายโรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้

ดังนั้น หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณา จะขอลาออกจากการบริหารงานน้ำตาล 5 ชุด ได้แก่ การบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยฯปี 2527 ทั้งหมดที่มีอยู่ 5 คณะประกอบด้วย คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.), คณะกรรมการอ้อย (กอ.), คณะกรรมการบริหารกองทุน (กท.), คณะกรรมการบริหาร (กบ.) และคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.)

“เราพยายามเรียกร้องมาตลอดว่าต้องการกฎหมายเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้รับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ประกอบการในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับแต่อย่างใด ทั้งที่การบริหารอุตสาหกรรมภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายต้องอาศัยทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายชาวไร่ และฝ่ายโรงงาน เพื่อให้การบริหารอุตสาหกรรมเกิดเสถียรภาพและเกิดความร่วมมือบริหารอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อไป แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับนี้ กลับดึงคนนอกเข้ามาร่างกติกาที่พยายามทำลายข้อตกลงและธรรมนูญของกฎหมายเดิม และจะทำให้อุตสาหกรรมเกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านจะขอลาออกจากการบริหารงานน้ำตาล 5 ชุด”

ย้ำดูเเลชาวไร่อ้อยส่งเสริมรับซื้อผลผลิตเข้าหีบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้

ระหว่างนี้ สมาคมจะเสนอข้อเรียกร้องไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และ 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องให้รับทราบถึงจุดยืน ข้อคิดเห็น ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2565 หรือให้เร็วที่สุดจนกว่าจะมีการพิจารณารับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยืนยันว่า พร้อมจะดูแลพี่น้องชาวไร่อ้อยกว่า 300,000 ครอบครัว ในการส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิตเข้าหีบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของชาวไร่ และดูแลผู้บริโภคในประเทศให้มีน้ำตาลทรายอย่างเพียงพอ

โดยพร้อมจะบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับบริบทการแข่งขันในเวทีโลก โดยไม่ขัดต่อหลักการของ WTO เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย

มองสถานการณ์ราคาน้ำตาลปัจจุบัน/การปรับขึ้นราคา ?

นายปราโมทย์ฉายภาพว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นและราคาสูงกว่าราคาน้ำตาลในประเทศ ซึ่งในกรณีของการปรับขึ้นราคา สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะเป็นผู้พิจารณาต้นทุนภาพรวม ซึ่งน้ำตาลบริโภคอยู่ที่ 2.3-2.5 ล้านตัน ยังคงเพียงพอ

แต่ต้อมยอมรับว่า ต้นทุนการเพาะปลูก สภาพอากาศ ราคาปุ๋ยขณะนี้เพิ่มถึง 30% บวกกับราคาพลังงานที่สูง ในหลาย ๆ สินค้าก็จำเป็นต้องปรับ เช่นเดียวกับน้ำตาล ก็ไม่แตกต่างจากสินค้าอื่น แต่หากราคาปรับตัวลงก็ต้องปรับลดลงด้วย ให้อยู่ที่การจูนนิ่งตามกลไกตลาด หากจำเป็นต้องปรับก็อยู่ที่การพิจารณาของคณะทำงานของภาครัฐ

ชำแหละเหตุผลไม่เห็นด้วยให้นำ “กากอ้อย” เป็น “ผลพลอยได้”

ปัจจุบันโรงงานทำสัญญาซื้อขายอ้อยจากชาวไร่อ้อย ตามความหวาน (น้ำตาลในอ้อย) และน้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักอ้อยที่ซื้อ รวมกากอ้อย (ชานอ้อย) เศษหิน ดิน ทราย และสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ ที่ติดมากับอ้อยที่ส่งเข้าหีบด้วย ดังนั้น อะไรก็ตามที่รวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยที่โรงงานซื้อ จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน

อีกทั้งการกำหนด “กากอ้อย” ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน เป็น “ผลพลอยได้” เพื่อนำมาแบ่งปัน จึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงาน และจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยก ไม่สิ้นสุด ในการบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และประชาชนผู้บริโภคโดยรวม

รวมทั้ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้ “กากอ้อย” รวมทั้งกากตะกอนกรอง เป็นสิ่งปฏิกูลหรือของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย โรงงานต้องจัดหาสถานที่จัดเก็บ ต้องขออนุญาตในการขนย้าย บำบัด และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

โรงงานที่นำของเสียดังกล่าวไปสร้างมูลค่า โรงงานต้องลงทุนเองฝ่ายเดียวทั้งหมด ทั้งในด้านการจัดการ จัดหาเทคโนโลยี และการสร้างโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ในการสร้างมูลค่านี้ โรงงานได้ลงทุนไปมากทางด้านทรัพย์สิน เครื่องจักร และการพัฒนาเทคโนโลยี การที่ต้องนำผลที่เกิดขึ้นจากการลงทุนมาแบ่งปัน เป็นการทำลายบรรยากาศของการลงทุน และความตั้งใจในการพัฒนาเทคโนโลยี

 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่…) พ.ศ. …

กฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งทุกประเทศที่ออกกฎหมายนี้ล้วนมีฐานมาจาก “ข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล” มีความเป็นธรรม ไม่ขัดหลักกฎหมายอื่นและผลประโยชน์สาธารณะ ก่อให้เกิดการส่งเสริมพัฒนา เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 บัญญัติขึ้นตามข้อตกลงระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ปี 2525 ซึ่งกำหนดการคำนวณราคาอ้อยในหลักการแบ่งรายได้สุทธิที่ได้จากการขายน้ำตาลทรายในประเทศและส่งออกในแต่ละฤดูการผลิต ในอัตราส่วนร้อยละ 70 เป็นของชาวไร่อ้อย ร้อยละ 30 เป็นของโรงงาน และกำหนดให้ผลพลอยได้ทุกชนิดจากการหีบอ้อย ตกเป็นของโรงงานน้ำตาล ไม่ต้องนำมาคำนวณราคาอ้อย

ปี 2535-2545 ชาวไร่อ้อยและโรงงานได้ปรับเปลี่ยนการคำนวณรายได้ของระบบ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย โดยนำกากน้ำตาล และรายได้จากโควตา ค. โดยนำค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 ปี ของส่วนต่างของน้ำตาลทรายขาวกับน้ำตาลทรายดิบ (ตลาดโลก) หักค่าแปรสภาพ ตามที่ กอน.กำหนด เข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ยังคงสัดส่วนแบ่งปันรายได้เดิมที่ 70/30

ปี 2559 บราซิลยื่นฟ้องต่อ WTO กล่าวหาไทยอุดหนุนการส่งออก ซึ่งเป็นที่มาร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อย ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมุ่งแก้ไขข้อประเด็นที่ขัดกับข้อตกลง WTO และได้ทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนทั้งชาวไร่ โรงงานน้ำตาลและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว

ปี 2564 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เสนอโดยชาวไร่อ้อยในนามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง อีก 7 ฉบับ รวมฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็น 8 ฉบับ โดย 6 ฉบับที่ไม่ใช่ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ต่างกำหนดให้ “กากอ้อย” เป็นผลพลอยได้

สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรจำนวน 59 คนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย กลับไม่มีผู้แทนโรงงานร่วมเป็นกรรมาธิการ ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เพียงแต่ตั้งผู้แทนโรงงาน เป็นที่ปรึกษาจำนวน 6 คน และร่วมในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างอีก 3 คน ซึ่งไม่มีสิทธิออกเสียง


คณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ตามเสียงส่วนใหญ่ โดยไม่เพิ่มคำ “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” แต่ในชั้นการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร กลับเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ให้เพิ่ม “กากอ้อย” ในคำนิยามดังกล่าว และเสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณา ปัจจุบันที่ประชุมวุฒิสภาอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย