กลยุทธ์การศึกษา “นิวซีแลนด์” ชูนวัตกรรมดิจิทัลตอบโจทย์พลเมืองโลก

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับนิวซีแลนด์มีหลายด้าน แต่จุดเริ่มต้นความร่วมมือเป็นเรื่องของการศึกษาที่แน่นแฟ้นมาตั้งแต่ปี 1950 จึงทำให้นักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่นิวซีแลนด์เป็นจำนวนมาก และทุกวันนี้ยังคงเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่นักเรียน นักศึกษาไทยเลือกเดินทางไปศึกษาต่อ

โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมการศึกษามีการแข่งขันสูง เพราะเป็นยุคที่คนมีทางเลือกมากขึ้น และจำนวนเด็กที่ลดน้อยลง ดังนั้น รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงพยายามส่งเสริมการศึกษา และผลักดันด้านนี้ให้เป็น 1 ใน 4 ของอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศสูงสุด

“ทาฮา แมคเฟอร์สัน” เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยคนใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งเมื่อช่วงปลายปี 2018 พูดถึงเป้าหมาย และกลยุทธ์การขับเคลื่อนการศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์ในปี 2019 ว่านิวซีแลนด์ได้รับความสนใจในด้านการศึกษาจากนานาประเทศ โดยนักเรียนต่างชาติจากทั่วโลกลงทะเบียนเรียนที่นิวซีแลนด์กว่า 125,392 คนในปี 2017 โดยมี 7 ประเทศอันดับแรก ๆ คือ จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี, บราซิล, ฟิลิปปินส์ และไทย

“ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในนิวซีแลนด์กว่า 3,300 คน โดยปี 2018 มีอัตราการเติบโตด้วยการขอวีซ่านักเรียนใหม่ของนักเรียนไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 7% ขณะที่อัตราการเติบโตในการขอวีซ่านักเรียนไทยทั้งหมดอยู่ที่ 5% ส่วนใหญ่ต้องการมาศึกษาในสถาบันเทคโนโลยี และโพลีเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 146% และมาเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น 10%”

“ช่วงปี 2016-2018 ภาพรวมมูลค่าอุตสาหกรรมการศึกษานานาชาติในประเทศนิวซีแลนด์สูงถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ซึ่งประเทศไทยมีส่วนร่วมถึง 120 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้น 9% จากช่วง 2-3 ปีผ่านมา ดังนั้น การที่เราได้รับความนิยมจากหลายประเทศ จึงทำให้ยิ่งต้องพัฒนาด้านการศึกษาให้ดีขึ้น และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างต่อเนื่อง เราจึงสร้างแผนพัฒนาการศึกษาปี 2018-2030 ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2018”

“โดยมุ่งเน้น 3 ด้านคือ หนึ่ง การให้ประสบการณ์ และความรู้แก่นักเรียนด้วยการศึกษาคุณภาพ และสภาพแวดล้อมการเรียนที่ดีและเรียนสนุก ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้เรียนให้ดีขึ้น สอง การทำให้อุตสาหกรรมการศึกษาของนิวซีแลนด์เติบโต และยั่งยืน สาม สร้างสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาให้ส่งเสริมทักษะคนให้เป็นพลเมืองโลก และสามารถดำเนินชีวิตระดับนานาชาติได้”

นอกจากนั้น “ทาฮา แมคเฟอร์สัน” ยังบอกว่าเราทุ่มงบฯลงทุนสูงถึง 700 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และการเรียนรู้อย่างมืออาชีพ โดย 98% ของสถาบันต่างๆ ในนิวซีแลนด์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจนทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงบทเรียน และใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนที่มากขึ้น เพราะการเรียนรู้ภายในห้องเรียนหันมาใช้ระบบดิจิทัล ทั้งยังมีการประเมินออนไลน์ เพื่อทำให้นักเรียนสามารถคิดและสร้างสรรค์ผลงานจากเทคโนโลยีอย่างไม่จำกัด

“การพัฒนาหลักสูตรมาพร้อม ๆ กับการลงทุนในการฝึกอบรมครูให้มีความคล่องแคล่วทางดิจิทัล และการคิดคำนวณ เพื่อวางแผนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ โดยหลักสูตรนี้จะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งไปสู่การเรียนรู้เพื่อศตวรรษที่ 21 เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนมีความพร้อมที่จะเผชิญในโลกกว้าง ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบธุรกิจ เพราะเรามีความร่วมมือกับหน่วยงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อออกไปสร้างอาชีพในอนาคตอย่างยั่งยืน”

“ทาฮา แมคเฟอร์สัน” กล่าวเพิ่มเติมว่านิวซีแลนด์มีองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรมานาน และตอนนี้กำลังโด่งดังในด้านครีเอทีฟ ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น วิช่วลเอฟเฟ็กต์ นักแคสเกม นักกีฬาอีสปอร์ต เทคโนโลยีฮิวแมนอินเตอร์เฟซ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นเทรนด์อาชีพที่กำลังมาแรงในกลุ่มรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีอาหารด้วย จึงทำให้นิวซีแลนด์ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลักสูตร Digital Design Program และ Technology Program

“จึงส่งผลให้นิวซีแลนด์ขึ้นชื่อว่าเป็นที่ 1 ของโลกด้านการเตรียมความพร้อมของนักเรียนเพื่ออนาคตจากฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ ของนิตยสารวิเคราะห์ข่าวชื่อดังระดับโลก ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (The Economist Intelligence Unit : EIU) ในปี 2017 ซึ่งการเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคต นักเรียนจะได้รับหลักสูตรการเรียนการสอนที่สามารถยืดหยุ่นได้ เพิ่มทักษะความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ มีทักษะผู้ประกอบการ ทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะด้านดิจิทัล และเทคนิคการรับรู้ทั่วโลก เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ และมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้หลากหลาย”

“เมื่อก่อนเทรนด์การไปเรียนของนักเรียนไทยจะเป็นการเรียนภาษาอังกฤษธุรกิจ แต่ตอนนี้มีเด็กไปเรียนด้านวิทยาศาสตร์ และอาชีวะมากกว่าเมื่อก่อน เป็นเพราะประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนั้น เรายังร่วมส่งเสริมนโยบายดังกล่าวในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการอบรมภาษาอังกฤษให้ครูกว่า 700 คนจากเครือโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ภาษามหาวิทยาลัยโอทาโก้ ตั้งแต่ปี 2016-2019 หรือโครงการฝึกอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการใช้งานให้กับครูด้านไอที 30 คนจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา และจากสถาบัน Wintec ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาในปี 2017”

“ทาฮา แมคเฟอร์สัน” อธิบายอีกว่าปัจจัยที่นักเรียนต่างชาติเลือกนิวซีแลนด์หลัก ๆ คือการสัมผัสกับวัฒนธรรมใหม่ที่หลากหลาย, ทั้งยังมีหลักสูตรมากมายเพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน, มีธรรมชาติที่งดงามเหมาะสำหรับการผจญภัย, มีเพื่อนใหม่จากนานาชาติ ในการสร้างเครือข่ายสู่การทำงานอย่างมืออาชีพ, มาตรฐานด้านการศึกษาสูง, มีทุนการศึกษาเพื่อนักศึกษานานาชาติ ที่สำคัญ ยังขอวีซ่าง่ายด้วย

“ปีที่แล้วเรามีการปรับวีซ่าให้นักเรียนที่เรียนจบระดับปริญญาสามารถอยู่ทำงานต่อได้อีก 3 ปี เพราะเราอยากส่งเสริมให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการทำงานจริง เพื่อเวลาที่เขากลับประเทศจะได้พร้อมทำงานทันที นอกจากนั้น เรายังสอนให้มีทัศนคติการทำงานแบบ global เพราะเราตั้งใจเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้แบบเดิม ๆ มาเป็นการคิดใหม่ ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงลึกผ่านโครงงานที่ลงมือปฏิบัติจริง พร้อมกับเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดอย่างอิสระในทางสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักเรียนสามารถสร้างนวัตกรรมในระดับที่สูงขึ้นได้”

จึงนับว่านิวซีแลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษามาตรฐานติดอันดับโลก ทั้งยังได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมการศึกษาที่ดีที่ช่วยพัฒนานักเรียนต่อไปในอนาคต