OECD แนะไทยใช้บล็อกเชนในการศึกษาและลดเวลาเรียน

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แนะนำนานาประเทศควรมีการศึกษาที่มุ่งไปสู่ช่องทางดิจิทัล รวมทั้งใช้บล็อกเชนมาช่วยวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาแนวทางการสอน

ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก แนวคิดด้านการศึกษาของประเทศนี้กลายเป็นแบบอย่างให้กับหลายประเทศที่ต้องการพัฒนาการศึกษา โดยภายในงานอีเว้นท์ออนไลน์ Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ที่จัดขึ้นเมื่อ 1-4 กันยายนที่ผ่านมา ในช่วง Inclusive Society ได้มี “แอนเดรียส ชไลเคอร์” ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development – OECD) และ “มาร์จานา ซัล” ทูตการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาตามแนวทางของฟินแลนด์

แอนเดรียส ชไลเคอร์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

“แอนเดรียส” กล่าวว่า ได้เห็นถึงปัญหาของระบบการศึกษาบางประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่มุ่งแต่จะเพิ่มเวลาเรียน แต่ไม่ได้พัฒนาเด็กในด้านอื่น ๆ เหมือนประเทศฟินแลนด์

“จากนี้ไประบบการศึกษาโลกต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับเด็ก เพื่อเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ในสาขาที่ตัวเองสนใจมากขึ้น และการสอนมีแนวโน้มที่จะมุ่งไปสู่ช่องทางดิจิทัลเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการประเมินผลการเรียนรู้ ผ่านการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินผล รวมถึงใช้วิเคราะห์แนวทางการสอน

“ต่อไปครูในยุคดิจิทัลจะเป็นเพียงผู้ช่วยประเมินผลการศึกษาเท่านั้น ซึ่งต่างจากในอดีต ดังนั้น ครูผู้สอนที่ไม่อยากตกขบวนรถก็ต้องพัฒนาตัวเองในหลาย ๆ เรื่องเช่น การเข้ามาของเทคโนโลยีกับระบบการศึกษา ระบบการศึกษาจากนี้ไปควรมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มพูนทักษะทางเทคโนโลยี ความรู้แบบสหวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะทางปัญญา เพราะนักเรียนที่มีทักษะเหล่านี้จะมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ด้วยตนเอง”

สำหรับประเทศไทย ยังอาจก้าวไม่ทันระบบการศึกษาแบบฟินแลนด์ แต่การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้กับการศึกษาน่าจะพอมีให้ได้เห็นบ้าง เพื่อให้เด็กและครูไทยก้าวทันกับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอันสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐ

“มาร์จานา” กล่าวว่า การจะมีหลักสูตรที่ทำให้คนมีความสามารถในการแข่งขันได้นั้นครูต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ เพื่อให้การเรียนการสอนมีความยืดหยุ่น

“การเพิ่มจำนวนปีการศึกษาของสถาบันการศึกษาไม่ได้ช่วยปรับปรุงทักษะการเรียนรู้ของเด็ก สิ่งที่เด็กควรมี คือ แนวคิดที่พร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างหาก เด็กที่กล้าเรียนรู้จากความผิดพลาดและฉลาดในการใช้เทคโนโลยีจะมีการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ดี”

ทั้งนี้เพราะการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยนำทางให้ประเทศเลือกการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนได้