ค้าชายแดนแม่สอดทะลุ 1.1 แสนล.ปี’61โต 10%-

การค้าชายแดนด่านศุลกากรแม่สอดยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทะลุ 1.13 แสนล้าน มูลค่าสูงสุดในกลุ่มด่านที่มีพรมแดนติดเมียนมา คาดปี 2561 โตขึ้นอีก 10% เหตุสินค้าไทยยังคงเป็นที่ต้องการมาก เร่งเครื่องก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และขยายถนนตาก-แม่สอด หนุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

นายวัลลภ วุฒาพาณิชย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการค้าชายแดนด่านศุลกากรแม่สอดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2560 ร้อยละ 15-35 ขณะที่ปี 2560 มีมูลค่าการค้ารวม 8.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 7.7 หมื่นล้านบาท ได้แก่ สินค้าประเภทอุปโภคบริโภค น้ำตาลทราย รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ผ้าฝ้าย เบียร์ เป็นต้น และการนำเข้า 5.4 พันล้านบาท ได้แก่ สินค้าประเภทโค กระบือ ถั่วลิสง แร่พลวง สิ่งประดิษฐ์ทำด้วยไม้ เศษเหล็ก โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

รวมถึงมูลค่าสินค้าผ่านแดนที่มีต้นทางจากประเทศอื่น ๆ และขนส่งผ่านไทยไปยังเมียนมาอีก 3 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าค้าชายแดนในปีงบฯ 2560 ทั้งหมด 1.13 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านทางด่านศุลกากรอื่นที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา เช่น ด่านระนอง ด่านแม่ฮ่องสอน ด่านแม่สะเรียง เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันปี 2560 มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2559 เพียงร้อยละ 1.63 เนื่องจากสินค้าส่งออกลดลง จากปัจจัยค่าเงินจ๊าตของเมียนมาอ่อนตัวลง ส่งผลให้ชาวเมียนมาชะลอการใช้จ่าย รวมถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าจากไทย

ขณะที่ไตรมาส 1 ของปีงบฯ 2561 มีมูลค่าการค้าชายแดนลดลงร้อยละ 12.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกับของปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 14 จาก 2.12 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 1.82 หมื่นล้านบาท ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.41 จาก 1.23 พันล้านบาท เป็น 1.34 พันล้านบาท ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการค้าชายแดนในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เนื่องจากชาวเมียนมายังนิยมและต้องการใช้สินค้าไทยมากกว่าประเทศอื่น ประกอบกับเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย

อย่างไรก็ตามการค้าชายแดนแม่สอดยังประสบปัญหา ทั้งในส่วนของฝั่งไทยและเมียนมา โดยในไทยยังติดปัญหาเรื่องการคมนาคมขนส่ง เนื่องจากเส้นทางการขนส่งกว่า 77% ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แต่เส้นทางนี้ไม่ได้เตรียมการไว้สำหรับการขนส่งสินค้าที่มีปริมาณมาก ทำให้ขณะนี้เกิดความแออัดคับแคบของรถบรรทุกสินค้าต่อเนื่องกันเป็นระยะยาวและนาน ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 แล้วเสร็จ จะสามารถแก้ปัญหาได้

อีกทั้งถนนระหว่างจังหวัดตาก-อำเภอแม่สอด ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างขยายพื้นที่ถนนให้กว้างมากขึ้นและลดความลาดชัน ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้รถบรรทุกสินค้าใช้เวลาขนส่งสินค้านานกว่าปกติ บางส่วนเกิดอุบัติเหตุระหว่างขนส่งสินค้า ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย ต่อเนื่องไปถึงทำให้เกิดความล่าช้าในขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ทั้งนี้คาดว่าการก่อสร้างถนนจะแล้วเสร็จปี 2562 และจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ขณะที่ฝั่งเมียนมาก็ประสบปัญหาการแบ่งพื้นที่การปกครอง เนื่องจากมีการแบ่งพื้นที่การปกครองระหว่างฝ่ายรัฐบาลและชนกลุ่มน้อย ซึ่งกฎหมายระเบียบไม่ได้เป็นไปในทางเดียว ทำให้เกิดช่องโหว่ในการควบคุมสินค้านำเข้า-ส่งออกจากไทย ซึ่งผู้ประกอบการบางรายอาจจะอาศัยช่องโหว่เพื่อหลีกเลี่ยงและลักลอบหนีศุลกากรเมียนมา โดยอาศัยช่องที่อยู่ในการควบคุมของชนกลุ่มน้อย อีกทั้งเมียนมายังมีข้อจำกัดเรื่องการใช้รถยนต์บรรทุกสินค้า

นายวัลลภกล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด่านได้ขออนุมัติงบฯสนับสนุน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการทางศุลกากร โดยมีโครงการระยะสั้นที่ดำเนินการแล้ว ได้แก่ โครงการปรับปรุงด่านพรมแดนแม่สอด เพื่อแบ่งแยกช่องทาง บุคคล ยานพาหนะ สินค้า และการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกยานพาหนะผ่านพรมแดน โครงการขยายไหล่ทางเพื่อเป็นจุดจอดรถชั่วคราว โครงการติดตั้งระบบตรวจสอบสินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ได้ และโครงการตรวจผู้โดยสารระหว่างประเทศโดยเครื่องเอกซเรย์กระเป๋าและสัมภาระ ร่วมกับด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก

ส่วนโครงการระยะยาวที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 มีการกำหนดให้เป็นจุดปฏิบัติงานร่วม CIQ และจุดตรวจร่วมสินค้า ณ จุดเดียวของทั้งสองประเทศ (single stop inspection) ในพื้นที่ควบคุมร่วม คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2562 รวมถึงโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรแม่สอดแห่งที่ 2 โดยได้รับจัดสรรงบฯรายจ่ายโครงการ 393 ล้านบาท ซึ่งกรมธนารักษ์ได้อนุมัติจัดสรรที่ราชพัสดุให้กรมศุลกากรดำเนินโครงการ 120 ไร่ ปัจจุบันด่านอยู่ระหว่างขั้นตอนในการจัดทำและปรับปรุงแบบก่อสร้างโครงการ คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยประมาณสิ้นปีงบประมาณ 2563

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”