รพ.เอกชนแห่เปิดเซอร์วิสใหม่ ทุ่มลงทุนเพิ่ม “ศูนย์เฉพาะทาง” ชิงตลาด-

ดุเดือด - โรงพยาบาลเอกชนรับการแข่งขันเดือด ปรับตัวในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเพิ่มบริการทางการแพทย์ ขยายฐานลูกค้าเงินสด เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแข่งเดือด เปิดเกมรุกรอบทิศ เร่งสร้างรายได้ บีดีเอ็มเอสนำทัพ รับเทรนด์สูงวัย ผุด “Wellness Clinic” ด้านแพทย์รังสิต-ซีจีเอช เติมบริการครบวงจร ขณะที่ “รพ.ลาดพร้าว-มหาชัย-วัฒนาอุดรธานี” ทุ่มลงทุนตึกใหม่ เพิ่มรายได้จากลูกค้าเงินสด ส่วน รพ.เอกชัย เปิดศูนย์มีบุตรยากรับดีมานด์ตลาดจีน

ขยับตัวพอสมควรสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่องในหลาย ๆ มิติ ทั้งด้านบริการ ความครบวงจร ทางแพทย์ รวมถึงการขยายตัวของโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่

แหล่งข่าวจากธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแข่งขันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนปีนี้ยังเพิ่มดีกรีขึ้นต่อเนื่อง โดยแข่งกันด้านบริการและความเชี่ยวชาญทางการรักษา ดังนั้นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจึงต้องปรับตัวต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ ที่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ

เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอการเติบโตลง ทำให้กลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศซึ่งถือเป็นฐานลูกค้าหลักลดลงด้วย ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลขนาดกลางและเล็กที่เจาะกลุ่มผู้ป่วยในประเทศ ก็พยายามเพิ่มบริการและเติมจุดแข็ง

“ตอนนี้ไม่ใช่ขาขึ้นของธุรกิจโรงพยาบาล ขณะที่การแข่งขันก็แรงขึ้น ทุกรายพยายามสร้างการเติบโตด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งหลัก ๆ คือ ต่อยอดธุรกิจ เพิ่มรายได้จากลูกค้าเงินสด”

BDMS รองรับเทรนด์สูงวัยโต

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ, สมิติเวช, บีเอ็นเอช, พญาไท, เปาโล ฯลฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแข่งขันธุรกิจโรงพยาบาลปีนี้จะดีกว่าปีก่อน โดยเฉพาะในแง่ของการรักษา เพราะจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยในไทยจะเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของโรงพยาบาลรัฐ (โรงเรียนแพทย์) โรงพยาบาลเอกชน ตลอดจนคลินิกต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีทางเลือกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มบีดีเอ็มเอสต้องสร้างจุดต่าง เพิ่มความเข้มแข็งให้กับโรงพยาบาลในเครือ จะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยให้การตรวจหาโรคต่าง ๆ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับการขยายโรงพยาบาลภายใต้แบรนด์บีเอ็นเอช-สมิติเวช ขณะนี้ยังไม่มีแผน แต่กำลังจะเปิดโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย เดินหน้าสู่เป้าหมายมีโรงพยาบาลครบ 50 แห่งภายในปลายนี้ จากปัจจุบันมี 45 โรง 8,031 เตียงรวม 7 แบรนด์ทั้งในประเทศกัมพูชา ลาว

ขณะเดียวกันจากผลประกอบการปี 2560 ของบีดีเอ็มเอส ระบุถึงแนวโน้มการเติบโตธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนว่า ยังสามารถเติบโตได้จากโครงสร้างประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ตามด้วยรายได้ต่อหัวของประชากรที่สูงขึ้น ประกอบกับไทยเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก ทำให้ความต้องการด้านรักษาของผู้ป่วยต่างชาติโตขึ้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้ บีดีเอ็มเอสมีการลงทุนสำหรับโครงการ BDMS Wellness Clinic และสร้างศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการรักษาพยาบาล (Centers of Excellence)

รพ.กลางเมืองเพิ่มลูกค้าเงินสด

ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลลาดพร้าวและโรงพยาบาลลาดพร้าว ลำลูกกา กล่าวว่า โรงพยาบาลย่านลาดพร้าวมีการแข่งขันสูงเพราะมีคู่แข่งหลายราย เช่น โชคชัย 4 รามคำแหง สินแพทย์ ขณะที่บริษัทก็มีจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และมีฐานลูกค้าเก่าแข็งแรง ล่าสุดเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการรักษา ได้เปิดอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ขึ้น รองรับกลุ่มโรคผู้สูงอายุ และจะมีฐานลูกค้าเงินสดเพิ่มขึ้น

“แพทย์รังสิต-CGH” ยึดพื้นที่มั่น

นายชัยนันท์ แย้มสอาด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปทุมรักษ์ จำกัด ผู้บริหารโรงพยาบาลแพทย์รังสิต กล่าวว่า การแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชนย่านปทุมธานีก็ค่อนข้างดุเดือด ทั้งจากการเข้ามาของรายใหม่และการปรับตัวของรายเก่าที่รวม ๆ กันแล้วมีไม่ต่ำกว่า 10 โรง เช่น บางปะกอก รังสิต การุญเวช ปทุมธานี โรงพยาบาลภัทร-ธนบุรี เป็นต้น ขณะที่แพทย์รังสิต ซึ่งอยู่ในตลาดมา 32 ปี ก็ต้องปรับตัว โดยเริ่มจากรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่เมื่อปี 2558

ทิศทางธุรกิจหลักปีนี้ เน้นการต่อยอดธุรกิจ สร้างมูลค่า เริ่มตั้งแต่รีโนเวตโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต “Mother & Child Hospital” จะเปิดให้บริการสิ้นปีนี้ เพื่อตอกย้ำจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแม่และเด็ก และสร้างอาคารผู้ป่วยหลังใหม่ จำนวน 7 ชั้น ด้วยงบฯลงทุน 500 ล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการต้นปี’62 โดยอาคารใหม่นี้จะเจาะตลาดลูกค้าเงินสด เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่โรงพยาบาล

สอดรับกับนางสาวพลอย ว่องกุศลกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและผู้อำนวยการด้านปฏิบัติการ กลุ่มโรงพยาบาลซีจีเอช (CGH) กล่าวว่า ธุรกิจโรงพยาบาลยังโตดี ส่วนหนึ่งมาจากคนรักสุขภาพมากขึ้น และแนวโน้มของผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น กลายเป็นโอกาสสำคัญทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ ทั้งที่อยู่ในธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจอื่น ๆ ก็กระโดดเข้ามาเรื่อย ๆ จนจำนวนโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งกลุ่ม รพ.ซีจีเอชเองก็ปรับตัว โดยปีนี้จะรีแบรนดิ้งโรงพยาบาลในเครือทั้ง 3 โรง ให้เป็นชื่อเดียวกัน พร้อมทั้งขยายบริการใน รพ.ซีจีเอช คลอง 8 จาก 24 เตียงเป็น 100 เตียง และมีแผนจะเพิ่มรายได้ใหม่จากการขยายฐานลูกค้าใหม่ไปยังประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวีด้วย

กลุ่ม รพ.ต่างจังหวัดเร่งขยับตัว

ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็แข่งขันแรงไม่แพ้กัน

นางสาวณัฐธิรา ตั้งสืบสกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหาร บริษัท วัฒนาการแพทย์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลวัฒนา อุดรธานี กล่าวว่า รพ.เอกชนในกลุ่มอีสานเหนือก็มีการแข่งขันแรงไม่แพ้กับภูมิภาคอื่น ๆ เฉพาะจังหวัดอุดรธานีที่มีโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ กรุงเทพอุดร เอกอุดร และขอนแก่นราม ทำให้ต้องลุกขึ้นมารีโนเวตพื้นที่ใหม่ในปีก่อน

รวมถึงปรับโครงสร้างธุรกิจโดยยกเลิกประกันสังคม พร้อมเพิ่มหอผู้ป่วยใหม่อีก 1 หอ ทำให้ศักยภาพในการให้บริการผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยปีนี้จะเพิ่มเป็น 100 เตียงจากปัจจุบันมี 60 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยในจังหวัดใกล้เคียงและ สปป.ลาว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่โรงพยาบาลเอกชัย ก็ตอกย้ำจุดแข็งด้านศูนย์แม่และเด็ก เปิดตัวศูนย์ผู้มีบุตรยาก เจาะกลุ่มคนจีน เช่นเดียวกับคู่แข่งสำคัญอย่างโรงพยาบาลมหาชัยที่เพิ่งเปิดตัวอาคารพรีเมี่ยม และศูนย์บริการทางการแพทย์ 5 ศูนย์ เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”