ปิดฉาก Forever 21 “ฟาสต์แฟชั่น” ตลาดปราบเซียน-

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

แม้จะมีข่าวคราวของการเข้ามาเปิดตัวแบรนด์แฟชั่นหน้าใหม่ในบ้านเราอยู่เรื่อย ๆ แต่ตลาดนี้ก็หินไม่ใช่เล่น

ด้วยการแข่งขันที่ขับเคี่ยวกันอย่างสุดฤทธิ์ ทั้งด้านของสินค้าและราคาที่ต้องโดนใจผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็มีต้นทุนจำนวนมากที่ต้องแบกรับ ทั้งค่าเช่าพื้นที่ พนักงาน สต๊อกสินค้า การทำตลาด โปรโมชั่น ฯลฯ ทำให้มีหลายแบรนด์ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปในช่วงที่ผ่านมา

กระทั่งล่าสุด ก็ถึงคิวของแบรนด์ดังแฟชั่นจากอเมริกาอย่าง “ฟอร์เอเวอร์ 21” ที่ปิดตัวสาขาสุดท้ายในเซ็นทรัลเวิลด์ไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ฟอร์เอเวอร์ 21 เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปลายปี 2551 โดยเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ บนพื้นที่บิ๊กไซซ์กว่า 3 พันตารางเมตร ก่อนจะขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง เน้นโมเดลไซซ์ใหญ่ จนมีทั้งหมด 4 สาขา อาทิ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว สยามเซ็นเตอร์ และเมกาบางนา

โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการนำแบรนด์ดังกล่าวเข้ามาจัดจำหน่ายคือ บริษัท แฟชั่น สตูดิโอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกในกลุ่มชาราฟ กรุ๊ป เจ้าของธุรกิจโลจิสติกส์ ท่องเที่ยว ชิปปิ้ง ค้าปลีก ฯลฯ สัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีเครือข่ายครอบคลุมกว่า 40 ประเทศ ในตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา และเอเชีย

ก่อนหน้านี้ “โด วอน ชาง” เจ้าของและผู้ก่อตั้งแบรนด์ฟอร์เอเวอร์ 21 เคยระบุถึงแผนการขยาย และความเชื่อมั่นต่อตลาดประเทศไทยว่า ตลาดแฟชั่นในไทยมีความน่าสนใจ ด้วยศักยภาพและอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง ด้วยเทรนด์การแต่งตัวของคนไทยที่แฟชั่นมากขึ้น และการเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้ามา

ตลอดจนภูมิภาคเอเชียโดยรวมมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงมีแผนที่จะขยายสาขาให้ครบ 20 สาขาภายในปี 2559-2560 เพื่อทำให้เป้าหมายสาขาทั่วโลกมีทั้งหมด 1,000 สาขาภายใน 2562

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าฟอร์เอเวอร์ 21 จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ทั้งจำนวนสาขาและในแง่ของรายได้ เพราะเมื่อพิจารณาจากรายได้ย้อนหลัง 5 ปี จะพบว่า มีการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า รายได้ของบริษัท แฟชั่น สตูดิโอ จำกัด ในปี 2555 มีมูลค่า 341 ล้านบาท ขาดทุน 11 ล้านบาท ปี 2556 มีรายได้ 529 ล้านบาท ขาดทุน 9.5 แสนบาท ปี 2557 มีรายได้ 457 ล้านบาท ขาดทุน 81 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้ 484 ล้านบาท ขาดทุน 42 ล้านบาท และปี 2559 มีรายได้ 451 ล้านบาท กำไร 32 ล้านบาท ส่วนงบฯในปี 2560 ยังไม่มีการแจ้ง

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการค้าปลีกรายหนึ่ง ระบุว่า ตลาดแฟชั่นมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งด้านของจำนวนแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาด และการทำโปรโมชั่น หรือแคมเปญต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจ ภาพรวมตลาดมองว่ามีทั้งแบรนด์ที่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีแบรนด์ที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย อาจประสบกับภาวะขาดทุน และเมื่อไม่สามารถแบกรับการขาดทุนไหวก็ต้องปิดกิจการไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่แฟชั่นอินเตอร์แบรนด์รายอื่น อาทิ ยูนิโคล่ มีรายได้ 3 ปีย้อนหลัง (2558-2560) อยู่ที่ 5,396 ล้านบาท, 6,889 ล้านบาท และ 8,828 ล้านบาทตามลำดับ และมีกำไร 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2558-2560) อยู่ที่ 338 ล้านบาท, 760 ล้านบาท และ 1,500 ล้านบาท ตามลำดับ ปัจจุบันมี 40 สาขา

บริษัท เอช ไทย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ H&M มีรายได้ 3 ปีย้อนหลัง (2558-2560) อยู่ที่ 2,758 ล้านบาท 3,544 ล้านบาท และ 4,224 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไร 3 ปีย้อนหลัง (2558-2560) อยู่ที่ 235 ล้านบาท 224 ล้านบาท และ 336 ล้านบาท ตามลำดับ ปัจจุบันมี 18 สาขา

บริษัท กากันท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ ZARA มีรายได้ 3 ปีย้อนหลัง (2558-2560) อยู่ที่ 3,464 ล้านบาท 4,350 ล้านบาท และ 4,771 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไร 3 ปีย้อนหลัง (2558-2560) อยู่ที่ 215 ล้านบาท 246 ล้านบาท และ 259 ล้านบาท ตามลำดับ ปัจจุบันมี 11 สาขา

ส่วนบริษัท คอตตอน ออน (ประเทศไทย) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ Cotton On มีรายได้ 3 ปีย้อนหลัง (2558-2560) อยู่ที่ 175 ล้านบาท 294 ล้านบาท และ 484 ล้านบาท มีกำไรในปี 2558 จำนวน 15 ล้านบาท และขาดทุนในปี 2559-2560 อยู่ที่ 11 ล้านบาท และ 27 ล้านบาท ตามลำดับ ปัจจุบันมี 14 สาขา

สำหรับยูนิโคล่ ซาร่า และเอชแอนด์เอ็ม เป็นแบรนด์ที่มีการลงทุนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง และแอ็กทีฟในการทำตลาดรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางเข้าถึงสินค้าในออนไลน์ สินค้าใหม่ ความหลากหลายของแคทิกอรี่สินค้า ที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ซาร่า มีการเพิ่มไลน์สินค้าที่ราคาเข้าถึงง่าย เริ่มต้นไม่กี่ร้อยบาท

ส่วนยูนิโคล่ มีการเติมแคทิกอรี่ใหม่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นชุดว่ายน้ำ รองเท้าแตะ รองเท้าหุ้มส้น ฯลฯ และยังมีโมเดลใหม่ ๆ รองรับการขยายสาขาทั้งนอกห้างและในห้าง ขณะที่เอชแอนด์เอ็ม มีการนำกลุยทธ์คอลลาบอเรชั่นกับเซเลบริตี้ หรือแบรนด์ดัง มาสร้างสีสันอยู่ตลอด

จริง ๆ แล้วหากวัดจากจำนวนปีที่เข้ามา เทียบกับจำนวนสาขา ก็น่าจะสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อแบรนด์ดังกล่าวเน้นเจาะตลาดแมสมากขึ้น

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”