ความคิดผู้นำ (ต่อ)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

ผู้นำ ซี.พี. มีความมุ่งมั่นอย่างมั่นคง ในความพยายามก้าวเข้าสู่เกษตรกรรมไทยพื้นฐานที่สุด

ธนินท์ เจียรวนนท์ กับตำแหน่งใหม่-ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ในช่วงเวลาใหม่ บุตรทั้งสามขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารเครือข่ายธุรกิจใหญ่อย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นปี ภาพที่ปรากฏดูเหมือนเครือ
ซี.พี.กำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ค่อย ๆ ถอยห่างจากธุรกิจเก่ามากขึ้น ๆ

ทว่าการปรากฏตัวครั้งสำคัญ 2 ครั้งของธนินท์ เจียรวนนท์ พร้อมไอเดียล่าสุด ไม่เพียงยังคงมีพลังสั่นสะเทือนสังคมไทย หากสะท้อนว่า ซี.พี.ไม่เคยทิ้งรากเหง้าธุรกิจดั้งเดิม

ครั้งแรกฐานะประธานมอบที่ดินให้ข้าราชการตำรวจที่เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี (4 มกราคม 2561) “ผมกำลังศึกษาโมเดลธุรกิจที่จะสร้างเมืองขนาดใหญ่ ประชากร 3-4 แสนคนมาอยู่รวมกัน โดยคนที่อยู่ในเมืองนี้สามารถทำธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งปลูกพืชเกษตร ทำปศุสัตว์…โมเดลใหม่จะเป็นเมืองขนาดใหญ่ สมมุติที่ดินรวมกันได้ 1,000 ไร่ เคยปลูกพืชขายผลผลิตได้ 1,000 บาทไม่ต้องมาปลูกเอง ผมรับจ้างปลูกให้โดยการันตีว่าได้เงิน 1,200 บาท ถ้าผลผลิตเสียหาย ผมรับผิดชอบ และให้รัฐบาลการันตีว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของคุณ” ธนินท์ เจียรวนนท์ กับสาระสำคัญข้างต้นมีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมแปลงใหญ่อย่างเห็นได้ชัด พร้อมกันนั้นเขาได้วิเคราะห์ปัญหาและข้อจำกัดสำคัญเกษตรกรไทยไว้ด้วย หนึ่ง-เงินทุน สอง-ความรู้และเทคโนโลยี และ สาม-ตลาด ขณะที่เน้นว่า ซี.พี.ไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว มีความพร้อมทุกอย่าง และพร้อมจะเข้ามารับผิดชอบแทน

และครั้งล่าสุด ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวกับสื่อไทย ระหว่างการเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน (ข่าวสารปรากฏในวันที่ 27 สิงหาคม 2561) มีบางตอนกล่าวถึงไว้อย่างสอดคล้องกับแนวคิดข้างต้นตามแผนการใหญ่ ซึ่งลงรายละเอียดมากขึ้น และเจาะจงเรื่องข้าวเป็นกรณีพิเศษด้วยประเด็นที่น่าสนใจ

– ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวมากเกินไปถึง 105 ล้านไร่ มีปัญหาเรื่องตลาดโลกและราคา ด้วยมีคู่แข่งมากขึ้น ประเทศอื่น ๆ เริ่มหันมาปลูกข้าวมากขึ้น เช่น จีน อินเดีย รวมไปถึงพม่า ดังนั้นไทยควรลดพื้นที่ลงแล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่

– หากชาวนามีปัญหา มีความไม่พร้อม เครือ ซี.พี.พร้อมจะเช่าที่ทำนาแทน โดยให้ผลตอบแทนมากกว่าเดิมอีก 10% ตามโมเดลใหม่เครือ ซี.พี.จะไม่ดำเนินการเอง หากจะหาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เชื่อว่าเป็นโมเดลคล้าย ๆ กับสิ่งที่เรียกว่า ฟาร์มพันธสัญญา (contract farming) และอ้างอิงบทเรียนธุรกิจปศุสัตว์ครบวงจร

– เครือ ซี.พี.ให้ความสำคัญและเน้นการทำนาไม่ใช้สารปราบศัตรูพืช เป็นไปตามแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ซี.พี.กำลังดำเนินการวิจัยและทดลองที่จังหวัดกำแพงเพชร แนวทางที่ว่าต้องมีระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ และใช้เครื่องจักรโดยเฉพาะแทรกเตอร์ ทั้งนี้ เน้นว่าต้องเป็นระบบเกษตรกรรมแปลงใหญ่ถึงจะคุ้มกับการลงทุน

ว่าไปแล้วเป็นแผนการใหญ่ที่ยังไม่บรรลุ เป็นแผนการซึ่งมีมานานแล้วราว ๆ 2 ทศวรรษเลยก็ว่าได้ ในแผนการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ถือว่าใช้เวลามากทีเดียว เมื่อเปรียบกับพัฒนาการเครือข่ายธุรกิจ ซี.พี. ไม่ว่ากรณี ซี.พี.เข้าสู่ธุรกิจปศุสัตว์ครบวงจร (นับจากกรณีร่วมทุนกับ Arbor Acres แห่งสหรัฐในปี 2513) กับธุรกิจค้าปลีก (จากจุดเริ่มต้นเครือข่ายร้าน 7-Eleven ในปี 2531) สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจโดยใช้เวลาไม่นานเพียงไม่ถึงทศวรรษ มีแต่ธุรกิจสื่อสารใช้เวลามากหน่อยกว่าจะตั้งหลักได้ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ทศวรรษ ส่วนแผนการใหม่เกี่ยวกับเกษตรกรรมแปลงใหญ่ว่าด้วยข้าว จนถึงบัดนี้ยังถือว่าไม่ได้เริ่มต้น

อันที่จริงความพยายามดังกล่าวตั้งต้นมาจากกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งของเครือ ซี.พี.ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2522 ด้วยจังหวะก้าวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเข้าสู่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจหลักของไทยอย่างหลากหลาย จากพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดตั้งแต่ปี 2522 ในยุคเดียวกับเครือข่ายธุรกิจพันธุ์ข้าวโพดระดับโลกเข้ามายึดตลาดไทย เป็นเวลาเดียวกันอาจตีความว่ามีความเกี่ยวข้องเรื่องข้าวมาบ้าง เครือ ซี.พี.ได้ก่อตั้งบริษัทเจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม ตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 พร้อมกับการร่วมทุนกับ SATAKE แห่งญี่ปุ่น ผู้นำเทคโนโลยีสีข้าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นเกี่ยวข้องกับวงจรขั้นปลายเกี่ยวกับข้าว

บทบาทกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรเกี่ยวกับเรื่องข้าวอย่างจริงจัง เปิดฉากเมื่อราว ๆ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจราว ๆ ปี 2543 ด้วยการดำเนินงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสม ถือเป็นช่วงเดียวกับการปรากฏบทสนทนาธนินท์ เจียรวนนท์ เกี่ยวกับเรื่องข้าวในวงกว้างครั้งแรก ๆ

“เรื่องข้าว ขณะนี้เพียงอยู่ในขั้นตอนของการทดลองและขายความคิด ยังจำเป็นต้องใช้เวลาและพลังงานอีกมาก ว่าไปแล้วเวลานั้นก็ใกล้จะมาถึงแล้วผมเชื่อว่าการเข้าสู่วิวัฒนาการเรื่องข้าวเป็นเรื่องใหญ่ และยาก ซี.พี.จะเข้าก็ต่อเมื่อใหญ่พอ มีแรง และทรงอิทธิพลมากพอในสังคมไทย ซึ่งว่าไปแล้วก็ใกล้จะถึงจุดนั้นแล้ว” ในฐานะผู้ติดตามอย่างกระชั้น ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้เมื่อปี 2545

ด้วยที่ผ่าน ๆ มาเครือ ซี.พี.มีความสัมพันธ์กับที่ดินและพื้นที่แปลงใหญ่ค่อนข้างน้อย อันเนื่องมาจากลักษณะธุรกิจที่แตกต่าง เมื่อเปรียบเทียบกรณีทีซีซีของเจริญ สิริวัฒนภักดี การเข้าสู่ธุรกิจพืชเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะข้าวมีความจำเป็นต้องอ้างอิงพื้นที่แปลง จึงเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของเครือ ซี.พี. ด้วยไม่มีที่ดินแปลงใหญ่ในมืออย่างเพียงพอ

เชื่อว่าแรงกระตุ้นครั้งใหม่ครั้งใหญ่อาจเชื่อมโยงกับโมเดล “เกษตรกรรมแปลงใหญ่” ในความหมายของกระทรวงเกษตรฯไทย ยุค รสช.กำลังได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นจริงเป็นจัง “เป็นระบบส่งเสริมเกษตรแบบหนึ่งที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก (area based) ในการดำเนินการลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)” นโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยรัฐที่ว่าได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2559

เป็นจังหวะเดียวกันที่ ซี.พี.ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวก้าวหน้าไปอีกขั้น อ้างอิงจากข้อมูลขอขึ้นทะเบียน “ข้าวพันธุ์ ซี.พี. 888” ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ปรากฏในเอกสารกรมวิชาการเกษตร (http://www.doa.go.th) “ข้าวพันธุ์ ซี.พี. 888 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวพันธุ์

กข 10 เป็นพันธุ์แม่ และข้าวพันธุ์สกลนคร เป็นพันธุ์พ่อ ณ หน่วยงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว

ฟาร์มกำแพงเพชร (พืชไร่) จังหวัดกำแพงเพชร ในปี พ.ศ. 2557 นำเมล็ดที่ได้จากการผสมเกสรปลูกเป็น

ต้นลูกผสมชั่วที่ 1 เพื่อผลิตเมล็ดในชั่วที่ 2 หลังจากนั้นนำเมล็ดในชั่วที่ 2 มาปลูกและคัดเลือกพันธุ์แบบ

สืบประวัติ (pedigree selection) จนถึงชั่วที่ 6 ในปี พ.ศ. 2559”

ข้อมูลเบื้องต้นนั้นมีการอ้างอิงถึงฟาร์มกำแพงเพชร เชื่อว่าเป็นที่เดียวกันกับกรณี ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวถึงสถานที่วิจัยและทดลองปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารปราบศัตรูพืช (อ้างไว้ตอนต้น ๆ) นอกจากนี้ได้สะท้อนถึงความพร้อมอีกขั้นของเครือ ซี.พี. ในความพยายามก้าวสู่ธุรกิจใหม่อย่างเป็นขั้นตอน ดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น-เกษตรกรรมแปลงใหญ่กับพืชเศรษฐกิจพื้นฐานที่สุดของสังคมไทย

บทสนทนาธนินท์ เจียรวนนท์ข้างต้นจึงมิใช่เป็นเพียงไอเดียอันบรรเจิด หากมาจากแผนการที่เป็นจริง และมีความเป็นไปได้อย่างมาก

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”