มองโลกาภิวัตน์ยุคใหม่ผ่านแนวคิด digital globalization และ platform business-

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย ดร.ธนพล ศรีธัญพงศ์ Economic Intelligence Center

 

ในปัจจุบัน โลกาภิวัตน์ (globalization) ถูกนิยามด้วยการไหลเวียนของปริมาณข้อมูลข่าวสาร ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่เน้นการไหลเวียนของปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โลกเผชิญกับโลกาภิวัตน์ในอีกรูปแบบที่เปลี่ยนไป ผู้คนต่างถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันผ่านตัวกลางอย่างอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ หรือ digital platform ต่าง ๆ

digital globalization จึงกลายเป็นคำนิยามของโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา หลังวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 การค้าโลกและการไหลเวียนเงินลงทุนระหว่างประเทศลดลงและยังไม่สามารถฟื้นกลับ

แต่ปริมาณการไหลเวียนของข้อมูลและธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 เท่า ผู้คนกว่า 2.5 พันล้านคน อีเมล์กว่า 2 แสนล้านฉบับถูกแลกเปลี่ยนสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์ในแต่ละวัน digital globalization มีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากขึ้นทุกวัน

กระแส digital globalization สร้างโอกาสให้แก่ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน digital platform ช่วยลดต้นทุนในการติดต่อและทำธุรกรรมข้ามประเทศและทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจใหม่ ๆ อย่างคาดไม่ถึง

การไหลเวียนของข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือแม้แต่ข้อมูลที่มีอยู่แล้วบนอินเทอร์เน็ตธุรกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งการวิเคราะห์ลักษณะกลุ่มลูกค้า การออกแบบสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการ หรือเสาะแสวงหาตลาดใหม่ ๆ

พร้อมกันนี้ ในโลกยุค digital globalization อินเทอร์เน็ตกลายเป็นศูนย์รวมของผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ย่อมก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่สามารถจับแนวโน้ม digital globalization ได้ดีมักจะมีรูปแบบของโมเดลทางธุรกิจที่เรียกว่า platform ซึ่งจะเห็นได้จากการเติบโตของบริษัทที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

เช่น Facebook Google Apple และ Alibaba ที่มีการเติบโตของรายได้ทุกปีระดับ 10-30% ล้วนมีที่มาจากการสร้าง platform เพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าหาและติดต่อสื่อสารคนอีกกลุ่มหนึ่งได้ดีขึ้น ตัวอย่าง คือ eBay ที่หากผู้ขายชาวไทยต้องการจะขายสินค้า ก็สามารถนำไปเสนอขายบนเว็บไซต์ได้อย่างง่ายดาย โดยที่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าอาจเป็นคนในประเทศสิงคโปร์ หรือสหรัฐ และชำระผ่าน PayPal ได้ และนักอ่านชาวไทยที่ต้องการซื้อนิยายเล่มล่าสุดที่เพิ่งวางแผงจากผู้เขียนชาวญี่ปุ่น ก็สามารถซื้อหนังสือเล่มนั้นในรูปแบบ e-book ผ่านบริการของ Amazon ได้ เป็นต้น

กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นโดยผ่านตัวกลาง คือ online platform ทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตมีพลังในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงสื่อออนไลน์ทั้ง Youtube และ Facebook ที่สร้างอาชีพใหม่และสร้างรายได้รูปแบบใหม่ เช่น นักพากย์เกมและผู้ที่ทำรายการผ่าน Youtube channel ของตัวเอง กำลังเป็นช่องทางการสร้างมูลค่าและรายได้ผ่าน platform ใหม่นี้

ดังนั้น เศรษฐกิจและธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จและมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุค digital globalization ล้วนต้องเกิดจากการสร้าง platform เพื่อดึงผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเข้ามาไว้ในระบบนิเวศเดียวกันแล้วร่วมกันสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ

ในระดับประเทศ เกาหลีใต้ได้สร้าง platform การส่งออกวัฒนธรรม(Korean Wave) ทั้งเพลง ละคร อาหารออกสู่สังคมโลกได้อย่างงดงามและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมากมาย เดิมรูปแบบธุรกิจส่วนใหญ่จะมีแนวคิดแบบเป็นท่อ (pipeline) คือ ผลิต จำหน่าย แล้วบริโภคส่งเป็นเส้นตรง

แต่ในโลกปัจจุบัน บริษัทที่เป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมที่แท้จริงจะต้องเป็นผู้สร้าง platform และมองความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นในระบบที่ไม่ใช่เส้นตรงทางเดียวเสมอไป

ประเด็นสำคัญ 3 ประการที่ทำให้แนวคิด platform business ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็วกว่าในยุคดิจิทัล คือ 1) ความสัมพันธ์ (direct interaction) ระหว่างผู้ผลิต บริษัท ผู้บริโภคที่มีการติดต่อกันซับซ้อนมากขึ้นผ่าน platform 2) กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะถูกเปลี่ยนรูปแบบจากบริษัทเป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มเพียงผู้เดียวมาเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกัน 3) เป้าประสงค์การสร้างมูลค่าสูงสุดเปลี่ยนจากการสร้างความพอใจสูงสุดแก่ผู้บริโภค มาเป็นความพอใจสูงสุดของทุกคนในระบบ จึงไม่น่าแปลกใจว่า startup ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในปัจจุบัน ทุกบริษัทล้วนคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากแนวคิด digital globalization และมีรูปแบบ platform ของตัวเองที่เด่นชัด

บริษัทหนึ่งที่โดดเด่นในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงประเทศไทย คือ บริษัท Grab ที่พลิกโฉมการให้บริการและได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว โมเดลทางธุรกิจของ Grab อยู่บน platform ของการแบ่งปันสินทรัพย์ (asset sharing) โดยผู้ให้บริการใช้รถของตัวเองในการให้บริการ บริษัทมีการใช้เทคโนโลยีในการทำให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการพบกันได้สะดวกยิ่งขึ้น (collaborative ecosystem) และมีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกบริการที่ตรงกับความต้องการของตนมากขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการก็อิงอยู่กับราคาช่วยให้ผู้บริโภคเลือกบริการที่ตรงกับความต้องการของตนมากขึ้น

นอกเหนือจากบริษัท Grab แล้วก็มีวงใน (wongnai) ที่ช่วยให้ผู้บริโภครีวิวร้านอาหารและทราบถึงคะแนนรีวิวโดยสมาชิกอื่น เป็นต้น

ในโลกดิจิทัลที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจและธุรกิจที่อยู่กับที่ คือเศรษฐกิจและธุรกิจที่พร้อมถอยหลังตลอดเวลา รูปแบบการมองเศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบันอาจไม่ใช่ยุค “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” อีกต่อไป แต่จะเป็นยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า” ปลาตัวเล็กนั้นสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดและอยู่รอดได้หากเปลี่ยนแปลงได้เร็วตามทันโลกยุคใหม่ ดังนั้น เมื่อตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดโลกาภิวัตน์และรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไปแล้ว ก็คงหาคำตอบได้ไม่ยากว่าเศรษฐกิจและธุรกิจของเราอยากจะเป็นปลาประเภทไหนในคลื่นมหาสมุทรโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง