สามแพร่ง ย่านเก่าแก่….รวยเสน่ห์ แห่งรัตนโกสินทร์

เหตุเพลิงไหม้อาคารพาณิชย์สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ใน ซอยแพร่งนรา เมื่อช่วงกลางดึกรอยต่อคืนวันที่ 10 ธันวาคม และเช้าวันที่ 11 ธันวาคม ใกล้กับศาลเจ้าพ่อเสือวอดไป 13 คูหา

อาจนับได้ว่าเป็นความสูญเสียอีกครั้งของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่อยู่คู่เกาะรัตนโกสินทร์อายุนับร้อยปี

บริเวณนั้นเรียกกันว่า “ชุมชนสามแพร่ง” ซึ่งประกอบด้วย แพร่งสรรพสาตร แพร่งนรา และแพร่งภูธร

ย้อนอดีตชื่อของ สามแพร่ง มาจากพระนามของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทั้ง 3 พระองค์  

โดยแพร่งนรา (ซึ่งถูกเพลิงไหม้) ได้มาจากพระนามของ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ “ ซึ่งวังของพระองค์ที่สมเด็จพระบรมราชชนกโปรดให้สร้างขึ้นริมถนนตะนาว มีอาณาเขตต่อจากวังพระเจ้าบรมวงศ์กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์

ขณะประทับ ณ วังนี้ โปรดให้สร้างโรงละครขึ้นชื่อโรงละครปรีดาลัย แสดงละครร้องนับเป็นโรงมหรสพแห่งแรกของไทย ในครั้งนั้นสันนิษฐานว่า โปรดให้ตัดถนนผ่านกลางวังพร้อมกับสร้างตึกแถว สองข้าง คนทั่วไปจึงเรียกถนนตามพระนามเจ้าของวังว่า “ถนนแพร่งนรา“

แพร่งภูธร มาจากพระนาม “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์“  ซึ่งวังอยู่บริเวณริมถนนหัวมุมสี่กั๊กเสาชิงช้าริมถนนบ้านตะนาว ครั้นกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2440 หม่อมเจ้าในกรมได้ขายวังให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถวและตัดถนนผ่านบริเวณวังเรียก ชื่อตามพระนามเจ้าของวังว่า “ถนนแพร่งภูธร”

แพร่งสรรพศาสตร์ มาจากพระนาม “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ“ วังริมถนนบ้านตะนาว ในอาณาเขตต่อจากวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจสิ้นพระชนม์ ทายาทได้ขายพื้นที่ตั้งวังให้กับรัชกาลที่  5 ตัววังถูกรื้อสร้างอาคารพานิชย์และตัดถนนผ่าน ถนนผ่านบริเวณวังเรียกชื่อตามพระนามเจ้าของวังว่า “ถนนแพร่งสรรพศาสตร์”

โดยแพร่งนรา กับ แพร่งภูธร ตึกรามบ้านช่องยังคงความเป็นสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่ 5 สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป สถาปัตยกรรม เป็นอาคารมีลักษณะเป็นตึกแถว 2 ชั้น หลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว ผนังตึกเรียบ บานประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยม 6 บานพับได้ ซุ้มประตูรูปโค้งแบบตะวันตก  มีปูนปั้นเป็นซุ้มประตูโค้งอยู่ด้านบนประตู

ตกแต่งผนังด้วยเสาอิงทรงเหลี่ยมคั่นแต่ละคูหา และมีแนวกันสาดคลุมทางเท้าเป็นแนวยาวด้านหน้าอาคาร ชั้นบนเจาะเป็นช่องหน้าต่าง บานไม้แบบลูกฟักกระดานดุน บานเปิดคู่ ด้านบนหน้าต่างเป็นปูนปั้นซุ้มโค้ง รูปแบบสถาปัตยกรรมจะมีลักษณะอาคารเรียบง่าย

ในแพร่งนรา นอกจากตึกแถวสถาปัตยกรรมเก่าแก่แล้ว ยังมีอาคารของโรงเรียนตะละภัฏศึกษา อันเป็นส่วนหนึ่งวังเก่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในชุมชนแพร่งนรา แม้ปัจจุบันโรงเรียนไม่ได้เปิดสอนอีกต่อไปแต่ชุมชนในละแวกนั้นได้รวบรวมเงินบริจาคจากคนในชุมชนมาบูรณะอยู่เสมอ   

ส่วนแพร่งภูธรก็มีสถานที่สำคัญที่คนทั่วไปมักไม่เอ่ยถึงก็คือ “สุขุมาลอนามัย” สถานีอนามัยแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งยังเปิดบริการคนในชุมชนอยู่จนถึงทุกวันนี้ และมีการบูรณะปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้นตามกาลเวลา

 

ขณะที่แพร่งแพร่งสรรพศาสตร์ ถูกเพลิงไหม้ใหญ่มาแล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้ตึกแถวโบราณมอดไหม้ในเปลวเพลิง ไม่มีหลงเหลืออยู่ ยังคงเหลือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นที่ยังหลงเหลืออยู่คือ “ซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์”

เป็นการก่ออิฐฉาบปูนไม่ใช้เหล็กเสริม มีไม้ซุงขนาดใหญ่เป็นคานขนาดใหญ่ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรปผสมกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ช่องประตูกว้างใหญ่สูงขนาดตึก 2 ชั้น ซุ้มกรอบประตูรูปโค้งกลม หรือ Arch (ลักษณะของสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศส)

ประดับปูนปั้นที่กึ่งกลางมีเสานูนเหนือเสา 2 ข้าง อีกชั้นหนึ่งแต่งเป็นรูปอิฐก้อนใหญ่ เหนือวงโค้งนั้นมีหน้าบันเจาะไว้เป็นวงกลม ในวงกลมนั้นมีประติมากรรมรูปหล่อเทพธิดากรีกขนาดเกือบเท่าคนจริงอยู่ในท่ายืนถือคบไฟ สองข้างประติมากรรมชิ้นนี้แบ่งเป็นช่อง

กรุด้วยกระจกหลากสีเป็นแฉกครึ่งวงกลม ด้านข้างและด้านหลังเสาซุ้มก่ออิฐเป็นปีกสอบเข้าตอนบน ประตูแห่งนี้ได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยเฉพาะส่วนเสาค้ำยันด้านล่าง อีกทั้งมีการก่อสร้างอิฐเรียงค้ำยันเพื่อพยุงน้ำหนักของด้านบนกันล้มเพิ่มเติมไว้ทั้งสองข้าง โดยภายในด้านข้างจะมีคำจารึกเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของประตูวังแห่งนี้อย่างคร่าวๆ

บุคคลสำคัญที่เคยอยู่ในแพร่งสรรพศาสตร์ก็คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อครั้งยังเป็น “หลวงพิบูลสงคราม” นายทหารหนุ่มที่กลับมาจากเรียนวิชาการทหารจากฝรั่งเศส ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม บันทึกว่า หลวงพิบูลฯ ให้ คุณลมัย ภรรยาหลวงอำนวยสงครามมาสอนปักจักรและเย็บจักรที่บ้านเช่าย่านแพร่งสรรพศาสตร์เพื่อเตรียมอาชีพสำรอง และยังสังเกตเห็นเพื่อนบางคนมาเยี่ยมบ่อยจนผิดสังเกต อาทิ ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี หลวงอดุลเดชจรัส

ปัจจุบันทั้งสามแพร่ง เป็นแหล่งรวมของกินอร่อยหลากหลายประเภท เช่น ข้าวมันไก่เจ๊เย็น , ราดหน้ายอดผัก, ลูกชิ้นแพร่งนราที่ก่อนหน้านี้ขึ้นชื่อว่าลูกสาวสวย ไม่ไกลกันนักมีร้านเย็นตาโฟ อ้วนเสาชิงช้า ปาท่องโก๋เสวย  เปิดมา 80 กว่าปี  ขนมเบื้องโบราณสูตรชาววัง ร้าน ก. พานิช  ถนนตะนาว ตรงข้ามทางเข้าแพร่งมีชื่อระดับเชลล์ชวนชิม ไอศกรีมกะทิ แพร่งภูธร บัวลอยไข่หวาน ฯลฯ

และในทุกๆ ปี คนในชุมชนทั้ง สามแพร่งจะร่วมกันจัดเทศกาลศิลปะ “สามแพร่ง facestreet” เนรมิตย่านเก่า 3 ย่านให้เป็นถนนคนเดิน แวดล้อมไปด้วยงานศิลปะ และสตรีทฟู๊ด ซึ่งครั้งล่าสุดเพิ่งจบลงไปเมื่อ 25 – 26 พ.ย.ที่ผ่านมา แถมยังเป็นห้องเรียนนอกสถานที่ของนักศึกษา สถาปัตยกรรม ม.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มาวาดรูปอาคารเก่าแก่ในย่านนี้ทุกปี 

การเกิดไฟไหม้ตึกแถวโบราณถึง 13 คูหา ในย่านเก่าแก่แห่งเกาะรัตนโกสินทร์ จึงไม่ใช่แค่เพลิงไหม้ธรรมดา เพราะทำให้สถาปัตยกรรมอันมีค่าที่ตกทอดมานับร้อยปีมลายไปในกองเพลิง…

เรียบเรียงข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร

ที่มาภาพ Facebook สามแพร่งfacestreet  – MyPhoto และ www.resource.lib.su.ac.th